ภาพยนตร์เรื่อง Dr. Seuss’ The Lorax นำมาจากนิทานก่อนนอนของ ดร.ซุส นักแต่งการ์ตูนชื่อดังชาวอเมริกัน เล่าถึงโลกในจินตนาการของเมืองที่มีชื่อว่า “ทนีด” (Thneedville) ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส
หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ชาวเมืองมีชีวิตที่มีความสุขสบาย เพราะมีวัตถุต่างๆอำนวยความสะดวก ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งที่ดูแปลกประหลาดไปหน่อย คือ ชาวเมืองแห่งนี้อาศัยอยู่ภายใต้บรรยากาศของ “พลาสติก”
ที่นี่ไม่มีต้นไม้จริงๆเลยสักต้น แต่มีต้นไม้พลาสติกสูบลมที่มีสีสันแสบตา แถมเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบ ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น คือ “อากาศบริสุทธิ์” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ซื้อขายกันไม่ต่างจากอาหาร
แม้ว่าเมืองแห่งนี้จะปราศจากต้นไม้ แต่ชาวเมืองก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะทุกคนต่างเติบโตมาในสภาพเมืองพลาสติกแบบนี้นานแล้ว เรื่องต้นไม้จริงที่ต้องอาศัยดินและน้ำ เป็นเพียงแค่ตำนานเรื่องเล่าของคนยุคก่อนเท่านั้น
หนังเจาะจงมาที่ตัวเอกอย่าง “เท็ด” เด็กหนุ่มแก่แดดที่แอบปิ๊ง “ออเดรย์” สาวรุ่นพี่วัยมัธยม
เด็กหนุ่มพยายามหาทางแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนสาวที่ตนเองปลื้มอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งได้เห็นผลงานจิตรกรรมของเธอ คือ “ภาพต้นไม้” ที่วาดอยู่บนผนังหลังบ้าน
ออเดรย์บอกว่า เธอเคยได้ยินเรื่องราวความมหัศจรรย์ของต้นไม้จริงๆ เธอจึงหลงใหลและวาดมันขึ้นมา และฝันว่าหากมีใครสักคนหาต้นไม้จริงๆมาให้เธอเป็นของขวัญ เธอคงปลื้มน่าดู
เท็ดได้ยินดังนั้น ก็ไม่รีรอที่จะกลับไปสืบเสาะหาข้อมูลเรื่องต้นไม้ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งโชคดีที่คุณยายสุดที่รักของเขา เล่าให้ฟังว่า “ต้นไม้น่ะ มันมีอยู่จริง”
แต่การจะหาคำตอบว่า มันหายไปไหน แล้วจะไปหาต้นไม้จากไหนในยุคพลาสติกครองเมือง คุณยายก็บอกหลานรักว่า จะต้องออกไปนอกเมืองเพื่อตามหา “เดอะวันซ์เลอร์” ซึ่งจะไขปริศนาเรื่องต้นไม้ได้
เด็กหนุ่มไม่รอช้ารีบบึ่งมอเตอร์ไซค์ออกไปนอกเมืองทนีด ซึ่งทำให้เขารู้ว่า ภายนอกกำแพงเมืองที่มีสีสันนั้น คือความหม่นหมอง อากาศเป็นพิษ ทุกสิ่งทุกอย่างดูไร้ชีวิตชีวา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มลดละความตั้งใจที่จะมุ่งสู่บ้านของเดอะวันซ์เลอร์
เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง และได้พบกับเดอะวันซ์เลอร์ ผู้สันโดษ ซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมสูงที่ดูลึกลับ เท็ดออดอ้อนจนเดอะวันซ์เลอร์ยอมเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นกับเมืองทนีด
เดอะวันซ์เลอร์เล่าว่า สมัยที่เขายังเป็นหนุ่ม ได้ออกเดินทางไกลเพื่อหวังจะสร้างธุรกิจสิ่งทอจากพืชชนิดหนึ่ง คือ “ต้นทนีด” เมื่อเขาเจอป่าทนีดที่เต็มไปด้วยต้นทนีดและสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย เขาได้หลอกล่อสัตว์เจ้าถิ่นด้วยขนมสุดอร่อย จากนั้นก็ตัดต้นทนีดหนึ่งต้น เพื่อเอาเส้นใยมาถักทอเป็นผ้าพันคอ โดยหวังว่ามันจะสร้างธุรกิจเล็กๆให้แก่เขาได้
เมื่อต้นทนีดถูกตัดลง “เดอะโลแร็กซ์” ซึ่งเป็นเสมือนเทพเจ้าป่า ก็มาตักเตือนวันซ์เลอร์ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม สุดท้าย วันซ์เลอร์ก็เดินทางกลับบ้าน พร้อมผ้าพันคอหนึ่งผืนที่เขาได้จากต้นทนีด และทุกอย่างก็เหมือนจะคืนความสงบสู่ผืนป่าอีกครั้ง
วันซ์เลอร์กลับมาที่เมือง เขาเอาผ้าพันคอผืนนั้นไปเร่ขาย โดยบอกว่ามันคือนวัตกรรมสิ่งทอที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่นไปตลอดกาล แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนเขาถูกค่อนแคะจากญาติๆว่าคงเป็นคนที่ไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อเกิดเหตุบังเอิญให้ผ้าพันคอสีชมพูสดใส ไปตกอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ผ่านไปแถวนั้น แล้วความลับของสิ่งทอมหัศจรรย์ก็ถูกเปิดเผยว่า มันสามารถจะดัดแปลงเป็นผ้าพันคอ หมวกเก๋ๆ หรืออาภรณ์ได้หลายรูปแบบ ปรากฏการณ์แฟชั่นจาก “ทนีด” จึงเกิดขึ้น และนั่นหมายถึงการผลิตที่ต้องใช้ทรัพยากรจากต้นทนีดนั่นเอง
วันซ์เลอร์เดินทางกลับไปยังผืนป่าทนีดอีกครั้ง เขาต่อรองกับเทพพิทักษ์ป่าว่า จะขอแค่ใบของต้นไม้ เพื่อนำไปผลิตสิ่งทอ แต่เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันซ์เลอร์ก็รู้สึกว่า การผลิตสินค้าของเขาไม่ทันใจ จึงได้ละเมิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับโลแร็กซ์ ด้วยการโค่นต้นทนีด จากนั้นเขาก็ตัดต้นทนีดไปเรื่อยๆโดยไม่สนใจฟังคำทักท้วง พร้อมกับความร่ำรวยที่เพิ่มพูนมากขึ้นๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็รู้ว่า “ทนีดต้นสุดท้าย” เพิ่งถูกโค่นลง
เมื่อต้นทนีดไม่หลงเหลือให้ผลิตเป็นสินค้าอีกต่อไป หุ้นบริษัทเขาก็ตก พร้อมกับกิจการที่พบกับความย่อยยับ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมืองทนีดกลายเป็นเมืองที่สภาพอากาศย่ำแย่ เพราะไม่มีต้นไม้หลงเหลืออีกเลย
ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวความผิดพลาด ครั้งสำคัญที่เดอะวันซ์เลอร์ เคยทำไว้ในอดีต และก็ทำให้เมืองทนีดกลายสภาพเป็นเมืองพลาสติกอย่างที่เห็น ขณะเดียวกัน มันก็เป็นจังหวะเดียวกับ “โอฮาเร่” จอมละโมบ ที่ต้องการยกสถานะตัวเอง ซึ่งเป็นเพียงแค่พนักงานธรรมดาๆ ให้กลายเป็นนักธุรกิจครองเมือง เขาจึงฉวยโอกาสที่ต้นไม้หมดไป สร้างธุรกิจ “ขายอากาศ” ให้แก่ชาวเมือง จนตนเองร่ำรวยเป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน
เมื่อเท็ดได้ฟังเรื่องของวันซ์เลอร์จบลง เขาก็ได้รับสิ่งมีค่าที่สุด คือ “เมล็ดทนีด” ซึ่งเหลืออยู่เป็นเมล็ดสุดท้าย ภารกิจกู้สภาพแวดล้อมของเท็ดจึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีอุปสรรคอยู่ที่โอฮาเร่ ที่คอยขัดขวางเด็กหนุ่มทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้มีต้นไม้จริงเกิดขึ้นได้อีกในเมือง เพราะจะทำให้ธุรกิจขายอากาศของเขาได้รับผลกระทบ
Dr. Seuss’ The Lorax เป็นภาพยนตร์ที่ให้ข้อคิดที่ดีมากแก่ทุกเพศทุกวัย โดยแบ่งเป็นประเด็นสำคัญได้แก่การอนุรักษ์ธรรมชาติกับความโลภของมนุษย์
ในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ การปลูกฝังเรื่องสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนเข้าใจกันดีอยู่แล้ว เพราะสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งโลกร้อน อุทกภัย ความแห้งแล้ง และการขาดแคลนทรัพยากร ล้วนเกิดมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นหลัก
พุทธศาสนากับต้นไม้มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ใต้ต้นไม้ รวมทั้งการสั่งสอนหลักธรรม ก็กระทำภายใต้ต้นไม้เช่นกัน พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า
“ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตอันน่ามหัศจรรย์ มันให้ร่มเงาให้อาหารให้ความอบอุ่น และปกป้องสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ให้แม้กระทั่งร่มเงาแก่คนที่ถือด้ามขวานเพื่อจะตัดมัน”
ต้นไม้จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อทุกชีวิต การตัดไม้ด้วยความโลภ จึงเป็นการกระทำที่ร้ายกาจที่สุด
มีประโยคหนึ่งที่โลแร็กซ์พูดกับเดอะวันซ์เลอร์ว่า “ความโลภนั้น ถมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม” ซึ่งตรงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา เนื่องจากความโลภนั้น คือ ความอยากได้ไม่มีสิ้นสุด มีเท่าไหร่ ได้เท่าไหร่ ก็ไม่มีวันพอ จะต้องได้มากขึ้นอีกไปเรื่อยๆ
มนุษย์ที่ตกอยู่ในความโลภ จึงเสมือนคนตาบอด มัวเมา และเสี่ยงที่จะประพฤติ ผิดทำนองคลองธรรมได้โดยง่าย ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักตัดความโลภด้วยสติและเข้าใจถึง “ความพอเพียง” ซึ่งเป็นวิธีดับความละโมบโลภมากในใจได้ดีที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)