วันหนึ่ง อาจารย์เซนนำต้นเบญจมาศจากป่า มาปลูกไว้ในลานกว้าง ณ อารามเซน ซึ่งตั้งอยู่บนเขา สามปีผ่านไป ดอกเบญจมาศบานสะพรั่งเต็มบริเวณ ทำให้ลานโล่งในอารามเซน กลายเป็นสวนดอกเบญจมาศที่ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
กลิ่นหอมของดอกไม้ตลบอบอวลไปจนถึงหมู่บ้านเชิงเขา ส่งผลให้ชาวบ้านในหมู่บ้านพากันเดินทางขึ้นเขา เพื่อมาชื่นชมความงามของสวนเบญจมาศอย่างไม่ขาดสาย และเมื่อมาเห็นด้วยตา ชาวบ้านต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดอกไม้เหล่านี้ช่างงดงามยิ่ง”
ทั้งยังเอ่ยปากขอแบ่งต้นเบญจมาศกลับไปปลูกยังบริเวณบ้าน ของตนอีกด้วย ซึ่งอาจารย์เซนก็อนุญาตโดยไม่ขัดข้อง
จากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านที่ตามกลิ่นหอมขึ้นเขามาชมสวนเบญจมาศ แทบทุกคนล้วนนำต้นเบญจมาศติดไม้ติดมือกลับลงไปปลูกยังที่อยู่ของตน ณ หมู่บ้านเชิงเขา
เวลาผ่านไปไม่นานนัก ต้นเบญจมาศในอารามเซนก็ถูกถอนไปจนเหี้ยนเตียน บริเวณรอบอารามกลับเป็นลานโล่งดังเดิม
อารามเซนที่ไม่มีสวนเบญจมาศอีกต่อไป ให้ความรู้สึกเงียบเหงาวังเวง จนศิษย์เซนอดไม่ได้ที่จะปรารภกับอาจารย์เซน ว่า “น่าเสียดายนัก แต่เดิมที่นี้ควรจะเป็นอารามที่มีสวนเบญจมาศหอมฟุ้ง”
เมื่ออาจารย์เซนได้ฟัง เพียงแต่ยิ้มเล็กน้อยพลางกล่าวสั้นๆ ว่า “เช่นนี้กลับดียิ่งกว่า ท่านรอดู อีก 3 ปีถัดไป ณ เบื้องล่าง จะกลายเป็นหมู่บ้านเบญจมาศหอม”
ได้ฟังดังนั้น เหล่าศิษย์ต่างกระจ่างในใจพลันเห็นรอยยิ้มของอาจารย์เซนแจ่มจ้าอยู่กลางลานโล่ง
ปัญญาเซน : ความสุขเพียงลำพัง มิอาจเทียบความสุขของคนหมู่มาก
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย มุมจีน : manager online)