xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : สามเณรปลูกปัญญาธรรม กาลครั้งหนึ่งของ 9 เด็กชายในรั้ววัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงได้สัมผัสถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของเหล่าสามเณรน้อย ทั้ง 9 รูป ผ่านรายการ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่ออกอากาศทาง ทรูวิชั่นส์ ช่อง 60 และ ทรูวิชั่นส์ HD ช่อง 120 กันไปแล้ว

รายการซึ่งคัดเลือกเยาวชนชาย อายุระหว่าง 9-12 ปี จำนวน 9 คน จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาเข้าร่วมโครงการอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทั่วประเทศได้เห็นถึงการใช้ชีวิตในค่าย ตลอดระยะเวลา 1 เดือน (วันที่ 20 เมษายน - 20 พฤษภาคม พ.ศ.2555) ของเหล่าสามเณรน้อย

เนตรชนก วิภาตะศิลปิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรูปลูกปัญญาดอทคอม กล่าวถึงที่มาของรายการว่า

เป็นความตั้งใจของ ศุภชัย เจียรวนนท์ CEO บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ผ่านเรื่องราวของการบวชเณร

หลังจากที่เมื่อ 3-4 ปีก่อน เคยพาลูกชายไปบวชเณร แล้วพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างในตัวลูกชายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

“ท่านจึงมีความเชื่อว่า การที่เด็กได้บวชเณรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงมีดำริให้มีรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ขึ้นมา แต่การที่จะคัดเลือกเด็กจากทั่วประเทศมาร่วมรายการ ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากว่า ตอนที่เราเริ่มต้นวางแผนที่จะทำรายการ เมื่อประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นช่วงของวิกฤตการณ์น้ำท่วม

ดังนั้น เราก็เลยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน โดยมอบหน้าที่ให้พระอาจารย์ที่สอนวิชาพระพุทธศาสนา สอบถามถึงความสมัครใจของนักเรียนเกือบ 30 โรงเรียน ว่าเด็กคนไหนอยากจะบวชเณรภาคฤดูร้อนบ้าง ซึ่งมีเด็กสนใจ เยอะมาก ทั้งที่บางคนก็ไม่รู้ว่าการบวชคืออะไร

เริ่มต้นเราคัดเลือกเด็กประมาณ 30 คน และคัดเหลือ 9 คน เพื่อที่รายการจะได้จับภาพในทุกอิริยาบถของสามเณร มาถ่ายทอดให้ผู้ชมทางบ้านได้ชมกันอย่างใกล้ชิด และเลือกวัดพระราม 9 เป็นสถาน ที่บวช เนื่องจากเห็นว่าเป็นวัดตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เดินทางสะดวก จำนวนของสามเณรทั้ง 9 รูป จึงมีความสอดคล้องกับรัชกาลที่ 9 วัดพระราม 9 ที่ตั้งอยู่เลขที่ 999 ถ.พระราม 9 ซ.19 ด้วย”

ระยะเวลาตลอด 31 วัน เนตรชนกกล่าวว่า มีสิ่งที่เหล่าสามเณรน้อยทั้ง 9 รูป ต้องเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้

สัปดาห์แรก เป็นสัปดาห์ของการเรียนรู้ว่า สามเณรทั้งหมดจะได้พบเจอกับสิ่งไหนบ้าง เรียนรู้ว่าการบวชสามเณรคือ อะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ฯลฯ

สัปดาห์ที่ 2 เป็นสัปดาห์แห่งการปฏิบัติ ซึ่งสามเณรจะได้ฝึกการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิ รวมทั้งการถือศีลให้ครบ 10 ข้อ

สัปดาห์ที่ 3 เป็นสัปดาห์แห่งการทดสอบ ซึ่งเป็นสัปดาห์มีความยากลำบากมากขึ้น เพราะสามเณรทั้งหมดจะต้องออกไปธุดงค์ เรียนรู้ว่าชีวิตของการธุดงค์ เป็นอย่างไร

และสัปดาห์ที่ 4 เป็นสัปดาห์แห่งการถ่ายทอดสิ่งต่างๆที่สามเณรทั้งหมดได้เรียนรู้มา ประพฤติได้และทดสอบได้ จะต้องนำมาถ่ายทอดให้โยมพ่อโยมแม่และพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศได้รับรู้

“ในทั้ง 4 สัปดาห์เราจะมีวิทยากรรับเชิญมาให้ความรู้ตลอด และก่อนที่จะมีการวางโปรแกรมว่าจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราต้องปรึกษาทั้งที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสก่อน ดังนั้น การที่รายการนี้สามารถเดินหน้ามาได้และสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ก็เพราะความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทีมงานของทรูวิชั่นส์, ทรูคอร์ปอเรชั่น, ทรูปลูกปัญญา, บริษัท เจเอสแอล จำกัด ที่มาร่วมทำไฮไลท์ให้ รวมถึงต้องขอขอบพระคุณพระอาจารย์ วิทยากรและบุคคล อีกเยอะแยะมากมาย ที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้หมด”

เนตรชนกยอมรับว่า ในช่วงแรกเริ่ม ทีมงานทุกคนค่อนข้างหนักใจ เพราะการทำรายการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว แต่เมื่อทุกอย่างเดินมาสู่จุดหมายปลายทาง ทุกคนต่างพอใจกับผลตอบรับที่ได้เป็นอย่างมาก

“ความพอใจต้องบอกว่าเกินร้อย วัดจากทั้งสื่อและคนที่มีจิตมาร่วมอนุโมทนาด้วยข้อความทาง SMS ก็มีเข้ามามาก ทุกข้อความที่ส่งมา ทุกคนต่างบอกว่า รู้สึกดีใจที่มีรายการนี้ เพราะประชาชนทั้งประเทศสามารถร่วมทำบุญ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทำสมาธิไปพร้อมกับสามเณร

ทุกคนบอกว่าไม่อยากให้รายการจบลง อยากให้มีต่อไป ทางคุณศุภชัยก็ดีใจมาก เพราะรายการนี้ช่วยให้คนที่ไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยนั่งสมาธิ ได้เข้าถึงวัดง่ายขึ้น วันแรกๆ แม้เราจะรับรู้ได้ถึงความยากลำบากของเด็กๆหรือสามเณรทุกรูป แต่ท้ายที่สุด ทุกคนก็ต่างมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทั้งที่มาจากครอบครัวที่มีบริบทแตกต่างกัน

ทำให้เรามีกำลังใจ และทางคุณศุภชัยก็อยากให้ทำต่อๆไปทุกปี แต่ว่ารูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป คงต้องมีการประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้ง เพื่อปีหน้ารายการจะได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”

ด้านพระมหาวชิรวิชญ์ วชิรเมธี จากวัดนิมมานรดี ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นพระอาจารย์ฝ่ายปกครอง ที่ต้องคอยควบคุมดูแลพฤติกรรมของสามเณรทั้งหมด รวมถึงร่วมเป็นหัวหน้าวิทยากร และดูแลกิจกรรมที่ควรจะมีเกิดขึ้นในแต่ละวัน พระอาจารย์ได้ประเมินให้คะแนนสามเณรทุกรูปว่า

“พระอาจารย์ให้ 90% จากสิ่งที่ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่สามเณรทั้ง 9 รูป ได้เรียนรู้ตลอด 1 เดือน ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวจะนำไปสานต่อได้มากน้อยขนาดไหน”

หลังจากที่ได้สัมผัสพฤติกรรมของสามเณรทั้ง 9 รูปมาเป็นอย่างดี พระมหาวชิรวิชญ์กล่าวว่าได้พบเห็นพฤติกรรมหลายอย่างๆที่แสดงให้เห็นว่า สามเณรแต่ละคนถูกเลี้ยงดูมาอย่างตามใจ และอยากแนะให้ผู้ปกครองนำไปแก้ไข

“ในหลวงทรงเน้นย้ำมาก ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ตอนนี้พ่อแม่ของเด็กทั้ง 9 คน รวมถึงพ่อแม่ของเด็กทั้งหมดในประเทศของเรา แทบจะไม่ได้สอนหลักเกณฑ์นี้เลย มีเท่าไหร่ก็หยิบยื่นให้ลูกตลอด

เพราะอะไรถึงยื่นให้ หนึ่ง เพราะไม่มีเวลาเลี้ยงดู ก็เลยพยายามหาสิ่งที่ทดแทน ให้ลูกให้มากที่สุด แต่สิ่งที่ทดแทนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่นปล่อยให้คอมพิวเตอร์ หนัง เกม เลี้ยงดูลูก ให้ลูกอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระเป็นเวลานาน

การเลี้ยงดูแบบนี้พระอาจารย์เห็นว่าเป็นการเลี้ยงดูแบบพ่อแม่รังแกฉัน แต่พ่อแม่ไม่รู้เลยว่า กำลังรังแกลูกอยู่ กำลังทำร้ายจิตใจลูกอยู่ พ่อแม่เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

ในอดีตพ่อแม่อาจเคยผ่านความทุกข์ยากลำบากมาโดยตลอด เมื่อตัวเองมีลูก ก็อยากลบภาพความลำบากที่ตัวเองเคยมีมา โดยการหยิบยื่นเอาสิ่งที่ไร้สาระให้ลูก โดยไม่คิดเลยว่า นั่นคือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

พระอาจารย์เป็นห่วงสังคมไทยทุกวันนี้มากๆ ที่เลี้ยงลูกแบบนี้ทั้งหมด และส่งผลให้คุณภาพของเด็กด้อยลง ต่อเนื่องถึงเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมที่ไม่มีเกิดขึ้นในจิตใจ เพราะพ่อแม่มัวห่วงแต่เรื่องของการหาเงินมาเลี้ยงดูลูก ห่วงว่าทำอย่างไรจะทำให้ลูกสบายมีเงินใช้เท่านั้นเอง แต่ลืมเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรม”

กอบแก้ว สุขะวัฒนกุล ผู้ปกครองของ น้องแพลน “กมลภพ รุจิวงศ์” วัย 11 ปี นักเรียนจากโรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมภ์ 1 ในสามเณร 9 รูป ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ คือ เป็นโรคสมาธิสั้น กล่าวว่า

ค่ายนี้ได้ทำให้ความคิดของเธอเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยคิดว่าลูกชายไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ แต่ความจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่

“ทั้งคุณย่าและญาติพี่น้องของน้องแพลน ต่างเคยไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว แต่เราคิดไปเองว่าเด็กสมาธิสั้นอย่างน้องแพลนคงไม่เหมาะที่จะไป เราก็เลยไม่เคยพาเค้าไปด้วย เพราะคิดว่าไปแล้วเดี๋ยวจะซุกซน แต่ที่ไหนได้เค้ากลับทำได้”

คุณแม่บอกด้วยว่าน้องแพลนสมัครใจบวชด้วยตัวเอง และคุณแม่เองก็เพิ่งทราบว่าลูกชายได้รับคัดเลือกตอนที่ทีมงานโทรมาแจ้ง น้องแพลนอยากบวชเพราะเห็นผลจากการบวชครั้งก่อนว่า การทำสมาธิทำให้กินยาแก้โรคที่เป็นอยู่น้อยลง จึงเชื่อว่าการบวชครั้งนี้น่าจะทำให้น้องแพลนไม่ต้องพึ่งยาอีกเลย และผลก็เป็นดังที่หวังไว้จริงๆ

“เพราะเวลาที่น้องกินยา ตัวยาจะไปกดประสาทน้องให้นิ่ง แล้วบางครั้งน้องจะปวดหัวมากๆ น้องคิดว่าการทำสมาธิจะช่วยน้องได้ ก็เลยขอบวชเอง เค้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น จะได้เป็นเด็กปกติเหมือนคนอื่นๆ

น้องเคยบวชมาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงปิดเทอมตอนอายุ 10 ขวบ เค้าคิดว่าการบวชครั้งที่แล้ว ยังทำให้กินยาลดลง จากเม็ดครึ่ง เหลือหนึ่งเม็ด ก็เลยคิดว่าการบวชครั้งนี้น่าจะช่วยให้ไม่ต้องกินยาอีกเลย ปัจจุบันแทนที่น้องจะให้ยาบังคับตัวเองเหมือนแต่ก่อน น้องสามารถใช้สมาธิบังคับตัวเอง และทำให้น้องมีชีวิตที่ดีขึ้น น้องนิ่งมากขึ้น ทำอะไรสุขุมมากขึ้น ปกติจะอารมณ์ร้อน ขี้โมโห ตอนนี้น้องเปลี่ยนไปเยอะมาก

สิ่งที่คุณแม่ไม่คิดว่าน้องจะทำได้ดี คือการสวดมนต์ เพราะว่าน้องสามารถสวดมนต์ได้เก่งมาก มีสมาธิที่จะจำบทสวดได้ ทั้งที่คุณแม่เคยคิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่ก่อนจะพูดไม่ชัดด้วย เพราะว่าน้องไม่นิ่ง แต่ตอนนี้เวลาน้องสวดมนต์ จะออกเสียงอักขระชัดเจน ออกตัว ‘ร’ ตัว ‘ล’ ชัดมาก”

น้องแพลน หรืออดีตสามเณรแพลน บอกว่า สมาธิก็คล้ายๆกับยาคอยควบคุม แต่ต่างกันตรงที่เวลาใช้สมาธิควบคุม ไม่ทำให้ปวดหัวเหมือนใช้ยา

“อยากให้เพื่อนลองมาบวช และฝึกนั่งสมาธิวันละ 5 นาที ทุกๆวันครับ เพราะว่าสมาธิ เป็นคล้ายๆยาที่ควบคุมคนสมาธิสั้น แพลนตั้งใจว่า ต่อไปนี้จะนั่งสมาธิทุกวัน และทุกวันนี้แพลนก็นั่งสมาธิวันละ 15 นาทีก่อนนอน”

มากไปกว่าความดีใจที่ชีวิตไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไปแล้ว การได้ใช้ชีวิต ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 8 คน ยังทำให้น้องแพลนมีความประทับใจในอีกหลายเรื่องราว

นอกจากพบว่าตัวเองมีทักษะโดดเด่น ด้านศิลปะ ยังได้ใช้เวลา
ไปกับการเรียนรู้ประวัติของพระพุทธเจ้า วันสำคัญทางศาสนา น้องแพลนประทับใจบางคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับเรื่องของความอดทน และได้รับรู้ถึงความปรารถนาดีของเพื่อนๆอีกด้วย

ประวัติของเหล่าสามเณรน้อยทั้ง 9

1. ด.ช.กมลภพ รุจิวงศ์
(อดีตสามเณรแพลน) อายุ 10 ปี
น้องแพลนมีโรคประจำตัวคือโรคสมาธิสั้น ต้องทานยาควบคุมอาการเป็นประจำ ความตั้งใจสูงสุดของการบวชในครั้งนี้ คือการที่น้องแพลนไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาอีกต่อไป

2. ด.ช.อภิภู เตชะอาภรณ์ชัย (อดีตสามเณรเพชร) อายุ 11 ปี
ด้วยบุคลิกที่เหมือนผู้ใหญ่ พูดน้อย ครุ่นคิด น้องเพชรเชื่อว่าการบวชครั้งนี้เป็นบททดสอบความกล้าหาญและความอดทน

3. ด.ช. เมธาวัช ปิยะภิรมย์วุฒิ (อดีตสามเณรโซดา) อายุ 10 ปี
น้องโซดามีความตั้งใจจะบวชเรียนภาคฤดูร้อนมาตั้งแต่ ๒ ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นเขายังเด็กเกินไป ตอนนี้น้องโซดาคิดว่า ตัวเองพร้อมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่

4. ด.ช. ธีรภัทร์ สุทธิภัทรพันธ์ (อดีตสามเณรปังปอนด์) อายุ 9 ปี
น้องปังปอนด์เป็นเด็กซน ทานเก่งถึงวันละ 4 มื้อ และเคยผ่านการบวชมาแล้ว แม้จะเป็นการบวชหน้าไฟในเวลาสั้นๆ

5. ด.ช. วงศธร โพธิ์เงิน (อดีตสามเณรยู) อายุ 11 ปี
ความร่าเริง กล้าแสดงออก และบุคลิกผู้นำในกลุ่มเพื่อน ทำให้น้องยูเป็นเหมือนหัวโจกของห้อง อีกมุมหนึ่งเขามีความสุภาพ พูดเพราะ มีน้ำใจ

6. ด.ช. ตฤณ อัศวพรไชย (อดีตสามเณรเจอร์) อายุ 10 ปี
ภายนอกของน้องเจอร์เป็นเด็กขี้อาย พูดน้อย ไม่มั่นใจในตัวเอง ด้วยคำแนะนำและกำลังใจของคุณแม่ ทำให้น้องเจอร์กลับมีความกล้าและความมุ่งมั่นในการบวชเป็นสามเณร

7. ด.ช. อัษฎาวุธ เกิดหนุนวงศ์ (อดีตสามเณรเอิร์ธ) อายุ 10 ปี
น้องเอิร์ธอาศัยอยู่กับคุณตาคุณยายในวัดอมรินทราราม มี หน้าที่ดูแลสัตว์เลี้ยงและช่วยเหลืองานในวัด เขาเป็นเด็กขยันและรู้จักความกตัญญูเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน

8. ด.ช. ชัยพล ประกอบทรัพย์ (อดีตสามเณรบุ๊ค) อายุ 11 ปี
ความสุภาพเรียบร้อยและรอยยิ้มซื่อๆ คือเสน่ห์และความน่ารักของน้องบุ๊ค ความที่ครอบครัวปลูกฝังให้เขารู้จักความรับผิดชอบและหน้าที่ของตนเองมาตั้งแต่เด็ก

9. ด.ช. ปิติ ศานติวรพงษ์ (อดีตสามเณรมิกกี้) อายุ 9 ปี
มิกกี้เป็นลูกครึ่งไทย-อุซเบกิสถาน ก่อนหน้านี้เขามีนิสัยเอาแต่ใจ ผลจากการปลูกฝังเรื่องพุทธศาสนาและการทำบุญของ ครอบครัว ทำให้เด็กชายกลายเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย ฮักก้า)





ด.ช. กมลภพ รุจิวงศ์ (อดีตสามเณรแพลน) อายุ 10 ปี
ด.ช. อภิภู เตชะอาภรณ์ชัย (อดีตสามเณรเพชร) อายุ 11 ปี
ด.ช. เมธาวัช ปิยะภิรมย์วุฒิ (อดีตสามเณรโซดา) อายุ 10 ปี
ด.ช. ธีรภัทร์ สุทธิภัทรพันธ์ (อดีตสามเณรปังปอนด์) อายุ 9 ปี
ด.ช. วงศธร โพธิ์เงิน (อดีตสามเณรยู) อายุ 11 ปี
ด.ช. ตฤณ อัศวพรไชย (อดีตสามเณรเจอร์) อายุ 10 ปี
ด.ช. อัษฎาวุธ เกิดหนุนวงศ์ (อดีตสามเณรเอิร์ธ) อายุ 10 ปี
ด.ช. ชัยพล ประกอบทรัพย์ (อดีตสามเณรบุ๊ค) อายุ 11 ปี
ด.ช. ปิติ ศานติวรพงษ์ (อดีตสามเณรมิกกี้) อายุ 9 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น