xs
xsm
sm
md
lg

พลิกชีวิต : ธรรมะพลิกชีวิตอดีตเด็กเกเร 'ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา' สู่การเป็นยอดนักวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนอาจจะรู้จัก ‘ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา’ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวไทยผู้คิดค้นและออกแบบชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานอวกาศไวกิ้งบนดาวอังคาร ขององค์การนาซา ซึ่งผันตัวเองมาเป็นผู้บริหาร ‘โรงเรียนสัตยาไส’ โรงเรียนที่นำหลักธรรมะมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อมุ่งปลูกฝังเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดี

คนส่วนใหญ่อาจสงสัยว่าอะไรที่ทำให้วิศวกรผู้นี้หันมาสนใจธรรมะ ถึงขั้นที่อุทิศตนเผยแพร่ธรรมะตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า แท้จริงแล้ว ดร.อาจองสนใจศึกษาธรรมะ ชอบนั่งสมาธิ อีกทั้งตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์มาตั้งแต่อายุ ได้เพียง 16 ปีเท่านั้น !!

อะไรทำให้เด็กชายวัย 16 ที่ไปศึกษาต่อในต่างแดนมีความคิดเช่นนี้......

• อดีตเด็กเกเร สอบได้ที่โหล่

ย้อนไปเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เด็กชายอาจองซึ่งย้ายตามคุณพ่อคุณแม่ที่ไปรับราชการที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่อายุแค่ 9 ขวบ เป็นเพียงเด็กเกเร ชอบชกต่อย มีเรื่องมีราวกับเพื่อนๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่กลับเมืองไทยและตัดสินใจ ให้ลูกๆเรียนต่อในต่างประเทศ จึงส่งเขาไปอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ เขาก็ยิ่งหลงระเริงมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าตัวเองสามารถใช้แม่ไม้มวยไทยโค่นเด็กฝรั่งจนราบคาบ ทำให้เขายิ่งฮึกเหิมและเกเรหนักกว่าเก่า เอาแต่เที่ยวเตร่และชกต่อยกับเพื่อนๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็คิดขึ้นได้ว่า หากใช้ชีวิตเช่นนี้ต่อไป ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น และคงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน

“ผมกับพี่ชาย ย้ายตามคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ที่อังกฤษตั้งแต่เด็ก ผมก็เกเรมาเรื่อย พอพ่อแม่กลับเมืองไทย ก็ส่งผมไปอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ ซึ่งอยู่คนละเมืองกับพี่ชาย เขามีลูกชายโตกว่าผมหน่อย ก็พากันเล่นซน ทำระเบิดทำอะไรกัน (หัวเราะ) พออายุ 15 ก็ไปอยู่โรงเรียนประจำ

วันหนึ่งมันรู้สึกตัวขึ้นมาเองว่า ถ้าเผื่อเราทำอย่างนี้ ชีวิตเราก็คงไม่มีความหมายอะไร ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ เรียนหนังสือก็ได้ที่โหล่ มีปัญหาเกือบจะทุกด้านเลย ก็เลยคิดว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เราจะปรับปรุงตัวเองเพื่อให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น

แล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่า เอ...น่าจะมีอะไรดีๆในพุทธศาสนา เพราะเราเองเป็นชาวพุทธ แต่อยู่ประเทศอังกฤษยังไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ เลยลองอ่านดู ก็ไปเจอบทความเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ก็เริ่มลองฝึกสมาธิดู ปรากฏว่าจิตใจเริ่มสงบ จากที่ไปต่อยคนอื่นก็เลิก

ผมฝึกสมาธิวันละครึ่งชั่วโมงทุกวัน ฝึกแค่เดือนเดียว กลายเป็นคนใจเย็น ฝึกไปได้ 1 ปี สอบอีกทีหนึ่งปรากฏว่าได้ที่ 1 ทุกวิชา ตลอดเวลาที่ฝึกสมาธิรู้สึกว่าเรามีความสุขสงบมาก ก็เลยคิดว่าเราน่าจะไปอยู่ในป่าตามลำพัง ตอนนั้นอายุ 15-16 แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้” ดร.อาจองเท้าความถึงช่วงชีวิตในวัยเยาว์

• กลายเป็นดอกเตอร์
เพราะการปฏิบัติธรรม


น่าแปลกที่ ดร.อาจองได้ค้นพบว่า สมาธินี่เองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากสอบได้ที่ 1 ทุกวิชาในระดับไฮสคูลแล้ว ยังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของอังกฤษ และใช้เวลาเรียนในระดับปริญญาตรีแค่ 3 ปี แถมปริญญาโทที่ทางมหาวิทยาลัยมอบให้อีก 1 ใบ

นอกจากนั้นในขณะที่คิดโปรเจกต์ ทำวิทยานิพนธ์ในช่วงเรียนปริญญาเอก เขาก็ได้เห็นภาพร่างของเครื่องมือขยายคลื่นไมโครเวฟเพื่อการสื่อสาร ปรากฏขึ้นในสมาธิ และนี่คือผลงานชิ้นเอกที่ทำให้เขาคว้าปริญญาเอก มีตำแหน่งนำหน้าว่าดอกเตอร์

“ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมเกิดสอบได้วิศวะที่เคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอังกฤษ คือจริงๆผมสนใจด้านธรรมะมากกว่า แต่ที่เลือกสาขา วิศวกรรมศาสตร์ เพราะผมคิดว่าเราฝึกสมาธิศึกษาธรรมะแล้ว ก็อยากจะสอนคนอื่นให้รู้เหมือนเรา เราก็ต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์เพราะคนจะฟังเรามากขึ้น จะสอนใครก็ง่าย

จริงๆหลักสูตร 3 ปี แต่ผมเรียน 2 ปีจบ แล้วอาจารย์ก็แถมปริญญาโทอีกใบให้โดยที่ผมไม่ต้องเรียน ซึ่งถือว่าเราประสบความสำเร็จจากการนั่งสมาธิ ทำให้ความจำดีขึ้น การเรียนดีขึ้น
แต่ผมก็ตัดสินใจเรียนปริญญาเอกต่อ เพราะการที่จะไปสอนคนสมัยใหม่ เราก็ต้องเป็นดอกเตอร์ ก็เลยเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวะ ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ซายน์ แอนด์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดในกรุงลอนดอน

แต่ช่วง 2 ปีแรกผมทำกิจกรรมเยอะ เลยไม่ได้เข้าเรียน มาปีที่ 3 ก็อยากรีบจบ จึงเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านก็ให้ไปคิดมาว่าจะทำโปรเจกต์อะไร ผมก็นั่งสมาธิ อยู่ๆก็แว้บขึ้นมา เห็นภาพเครื่องมือที่ใช้ขยายคลื่นไมโครเวฟด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ยังไม่มีใครเคยสร้าง ผมเลยลองสร้างและทำเป็นวิทยานิพนธ์ส่งให้อาจารย์ ท่านก็บอกว่า โอ้..วิทยานิพนธ์นี้ยอดเยี่ยม เลยยอมให้จบปริญญาเอก ผมก็จบดอกเตอร์ ตอนอายุ 24 แล้วก็กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ดร.อาจองเล่ายิ้มๆ

• พบระบบจอดยานอวกาศบนดาวอังคาร
จากการนั่งสมาธิ


ขณะที่เป็นอาจารย์สอนวิชาวิศวะที่จุฬาฯนั้น ดร.อาจองก็ได้ใช้ความเป็นอาจารย์ในการเผยแพร่การนั่งสมาธิแก่บรรดานักศึกษาและผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่องค์การนาซา และได้ประดิษฐ์คิดค้นและออกแบบชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานอวกาศบนดาวอังคารได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย

“ตอนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯผมก็สอนเรื่องสมาธิแก่นิสิตทั้งที่อยู่ในคณะวิศวะและนอกคณะ ซึ่งก็เห็นผลว่าเขาก็เป็นนิสิตที่ดี ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนร่วม ซึ่งช่วงนั้นก็ได้มีโอกาสไปดูงานที่สหรัฐอเมริกาบ่อย

มีครั้งหนึ่งผมไปร่วมโครงการกับองค์การนาซาในการคิดค้นระบบต่างๆ ตอนนั้นพยายามคิดหาวิธีให้ยานอวกาศไวกิ้งลงจอดบนดาวอังคารอย่างปลอดภัย แต่นักวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเขาก็ยังทำไม่ได้ เพราะดาวอังคารอยู่ไกลจากโลกมาก ไม่สามารถหาวิธีส่งสัญญาณไปควบคุมการทำงานบนนั้นได้ ผมเลยอาสาทำโครงการนี้ ก็คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาอยู่เป็นปีก็ยังคิดไม่ออก ผมเลยไปหันมาใช้วิธีแบบไทยๆ ขึ้นไปบนยอดเขา นั่งสมาธิ นั่งได้ 4 คืน 5 วัน พอวันที่ 5 อยู่ๆก็แว้บขึ้นมา ผมก็มาสร้างแบบให้เขา เขาก็ดีใจฉลองกันใหญ่ว่าใช้ได้แล้ว..ใช้ได้แล้ว..

ตอนผมจะกลับ เขาก็ไม่อยากให้กลับ เสนอจะเพิ่มเงินเดือนให้ ออกสัญชาติอเมริกันให้ แล้วก็มอบโครงการใหญ่ให้ผมทำ ผมก็ปฏิเสธเพราะผมแค่อยากไปหาประสบการณ์เพื่อกลับมาสอนนักศึกษา ไม่ได้คิดจะไปทำงานกินเดือนสูงๆ ผมจึงกลับเมืองไทย จากนั้นทางนาซาก็ส่งยานอวกาศขึ้นไป ก็สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้เรียบร้อยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงบนดาวเคราะห์อื่นนอกจากดวงจันทร์” ดร.อาจองเล่าถึงความสำเร็จในการคิดค้นระบบลงจอดของยานอวกาศ บนดาวอังคารให้แก่องค์การนาซา ในช่วงที่อายุแค่ 20 ปลายๆเท่านั้น

• ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส
บ่มเพาะธรรมะให้เยาวชน


แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใด แต่ความคิดของ ดร.อาจองซึ่งมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่ธรรมะและการนั่งสมาธิก็ยังคงอยู่ และเมื่อเห็นว่าสถานภาพความเป็นอาจารย์ไม่สามารถทำให้เผยแพร่ธรรมะในวงกว้างได้ เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อเดินทางตามความฝัน โดยลองไปทำงานในสาชาวิชาชีพต่างๆ เพื่อหาช่องทางในการเผยแผ่ธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ หรือแม้แต่นักการเมือง แต่เขาก็พบว่าสถานะทางสังคมเหล่านี้หาใช่ประตูที่จะก้าวผ่านไปสู่การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ได้ เขาจึงหันมาเปิดโรงเรียนสัตยาไสที่ลพบุรี เพื่อบ่มเพาะธรรมะไปพร้อมๆกับการให้ การศึกษาแก่เด็กๆ ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาวที่รอการแต่งแต้ม

“ที่ผ่านมาผมเป็นทั้งนักการเมือง เป็นประธานบริษัท เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลายต่อหลายบริษัท แต่สุดท้ายก็พบว่าเราทำอะไรไม่ได้ ในที่สุดก็คิดได้ว่า เราสอนผู้ใหญ่นี่มันยากมาก น่าจะมาสอนเด็กๆดีกว่า ก็เลยตัดสินใจคุยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงว่า เรามาตั้งโรงเรียนเพื่อสอนเด็กให้เป็นคนดี ก็เลยเกิดเป็นโรงเรียนสัตยาไสขึ้นมา ซึ่งโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำที่สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมโดยไม่คิดค่าจ่ายใดๆ คือค่อยๆเพิ่มทีละชั้น จนปัจจุบันมีถึง ม.6 แล้ว งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานก็มาจากการบริจาคทั้งหมด ในขณะเดียวกันเราก็ได้นำประสบการณ์ตรงนี้ไปทำโครงการอบรมครูทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาการศึกษาแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยหนึ่ง ครั้งนั้นก็สามารถอบรมครูได้ 26,000 กว่าคน”

• ทำตามความฝันในการเผยแผ่ธรรม
ขยายโรงเรียนเครือข่ายใน 35 ประเทศ


ถึงวันนี้เป็นเวลา 21 ปีแล้ว ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้บ่มเพาะคนดีให้แก่สังคม และได้ขยายเครือข่ายออกไป 50 แห่ง ใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยได้ร่วมมือกับนักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศเหล่านั้นในการก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งมีแนวทางการเรียนการสอนเดียวกันกับโรงเรียนสัตยาไสในประเทศไทย

“ผมได้ไปอบรมครูในต่างประเทศ ไม่ว่าจะสิงคโปร์ มาเลเซีย อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แล้วก็มี ครูจากประเทศเหล่านี้มาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไสในประเทศไทย เพื่อนำหลักการเรียนการสอนที่เน้นการสอดแทรกคุณธรรมในทุกรายวิชา ไปใช้กับการเรียนการสอนที่บ้านเขา จนกระทั่งเกิดเป็นโรงเรียนเครือข่าย 50 โรงเรียน ใน 35 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเดินในทางเดียวกับโรงเรียนสัตยาไสของประเทศไทย ซึ่งบางโรงเรียนก็ใช้ชื่อ สัตยาไสแล้วต่อท้ายด้วยชื่อประเทศของ เขา ตรงนี้ถือเป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิต ของผมที่ได้ผลิตคนดีออกสู่สังคม และแผ่ขยายแนวทางไปทั่วโลก” ดร.อาจอง กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ดร.อาจองยังเสริมอีกว่า ความสำเร็จในการเผยแผ่ธรรมะและการปฏิบัติธรรมที่ผ่านมานั้น เกิดจากการที่นำหลักการทาง วิทยาศาสตร์ซึ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติและการพิสูจน์มาใช้ในการเผยแผ่ธรรมะ ทำให้ธรรมะของพระพุทธองค์สามารถเข้าถึงผู้คนทุกศาสนาทั่วโลก เพราะทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า การนั่งสมาธินั้นเป็น ของสากลที่ทุกคนสามาถเข้าถึงได้ โดยไม่มีเส้นแบ่งของศาสนามาขวางกั้น และทุกวันนี้เขาได้สร้างคนดีจำนวนมหาศาลให้แก่โลกใบนี้สมกับที่ตั้งใจไว้

“วันนี้ผมได้ทำตามความฝันของผมแล้ว ผมอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นพระ แต่เกิดมาเพื่อใช้วิชาความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้ทางโลกในการเผยแพร่ธรรม และสร้างคนดีให้สังคม” ดร.อาจองกล่าวยิ้มๆ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย กฤตสอร)



กำลังโหลดความคิดเห็น