xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : สุญญตา (ตอนที่ ๔)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว จะมีความรู้สึกต่อ (๑) บัญญัติ (๒) สภาวะของธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ (๓) สภาวะของจิต (๔) สภาวะของธรรม ซึ่งในฉบับก่อนๆได้กล่าวไป ๓ หัวข้อแล้ว มาถึงหัวข้อต่อไป

๔. สภาวะของธรรม บุคคลทั่วไป จะเห็นธรรมที่เหนือกว่าธรรมชาติ คือเหนือความเกิดดับไม่ได้เลย กระทั่งรูปนามก็ไม่เห็น หรือเห็นก็ไม่เข้าใจ เพราะจิตใจถูกสมมุติบัญญัติปิดกั้นไว้ทั้งหมด

ผู้ปฏิบัติ พระเสขบุคคลคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี จะรู้สึกได้ถึงธรรมนี้เป็นครั้งคราว เพียงแต่ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งถึงธรรมนี้ และไม่ทราบว่าจะใช้ประโยชน์ใดๆได้ เพราะจิตยังไม่เลิกแสวงหาความหลุดพ้นสภาวธรรมนี้จึงถูกมองข้ามไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนปุถุชนที่อยากจะทราบร่องรอยความรู้สึกของสภาวะนี้ ก็มีสภาวะอยู่อย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสภาวะนี้ คือความรู้สึกแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเมื่ออ่านหนังสือเซน เช่นหนังสือของท่านเว่ยหล่างและท่านฮวงโป เป็นต้น เป็นความรู้สึกที่เห็นโลกว่างจากความเป็นตัวตน เพราะหยุดความคิดนึกดิ้นรนทางใจ แต่แม้จะพอรู้สึกได้บ้าง ก็ไม่สามารถกำหนด แตะต้อง หรือทำความเข้าใจได้ เพราะมันเป็นสภาวะแห่งการหยุดและรู้ หากพยายามทำความเข้าใจ สภาวะนี้จะดับไปทันที ผู้ที่สัมผัสสภาวะนี้จึงไม่ทราบประโยชน์ใดๆ ของความรู้สึกนี้เลย นอกจากทราบว่ามีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้นเท่านั้น

แต่ผู้ที่ปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว ย่อมเห็นธรรมที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ปรากฏแจ่มจ้าบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ต่อหน้า ต่อตา และเข้าใจถ่องแท้ถึงความถึงที่สุดแห่งทุกข์ และการเดินทาง โดยเมื่อเห็นรูปนามเป็นสิ่งที่ราบเรียบเสมอกัน และปล่อยวางจิต คือไม่หมายและไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีกแล้ว ก็จะเห็นแจ้งสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่ง

สภาวะนี้ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เหมือนสภาวะของธรรมชาติคือ รูปนาม ที่มีความเกิดดับ

สภาวะนี้ทนอยู่ได้ ไม่มีความเสื่อม ความเก่าคร่ำคร่า และความดับสลาย เพราะไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ช่องว่าง หรือวิญญาณ และไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ อยู่ได้เองโดยไม่ต้องอิงอาศัยจิตกรรม อุตุ หรืออาหาร

สภาวะนี้ว่างจากความเป็นตัวตน ไม่ใช่อัตตา เพราะเป็นอนัตตาคือไม่เป็นไปในอำนาจของใครและไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองได้ แต่ผู้ที่เห็นสภาวะนี้ก็ไม่กำหนดหมายว่าสภาวะนี้เป็นอัตตาหรืออนัตตา เพราะปราศจากตัณหาที่จะกำหนดหมาย สภาวะนี้ก็เป็นสภาวะนี้อยู่อย่างนี้เอง

สภาวะนี้ครอบงำรูปนามทั้งปวงอยู่นั่นเอง แต่รูปนามทั้งปวงไม่อาจปนเปื้อนเข้าถึงสภาวะนี้ได้เลย เหมือนดอกบัวอยู่กับน้ำแต่ไม่เปียกน้ำ

สภาวะนี้ไม่ใช่ภพอีกชนิดหนึ่งที่เที่ยงแท้ถาวร เพราะพ้นจากรูปนามจึงไม่ใช่ภพ และภพที่เที่ยงแท้ถาวรก็ไม่เคยมีอยู่จริง

สภาวะนี้ว่างอย่างยิ่ง เป็นมหาสุญญตา คือตัวมันเองก็ว่าง และยังว่างจากรูปนามและบัญญัติอีกด้วย จึงไม่มีสิ่งปรุงแต่งใดๆ ที่จะปนเปื้อนเข้ามาถึงได้

สภาวะนี้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยความสงบสันติ ว่าง สว่าง และบริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ

สภาวะนี้คือสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง (สัจฉิกิริยากิจ) เมื่อแจ้งแล้วจะพบว่านี้เป็นที่สิ้นทุกข์เพราะพ้นความเสียดแทงของขันธ์จริงๆ เหมือนคำโบราณที่ว่า “ต้นมะพร้าว นาฬิเก ต้นเดียวโนเน นอกทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง นอกทะเลขี้ผึ้ง ถึงแต่ผู้พ้นกรรม” (หมายเหตุ : ผู้เขียนเคยได้ยินคำท้ายของถ้อยคำเหล่านี้แตกต่างกัน ในที่บางแห่ง เช่นบางแห่งใช้คำว่า “ถึงแต่ผู้พ้นบุญ” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังไม่รัดกุม เพราะธรรมนี้ต้องพ้นทั้งบุญและบาป บางแห่งก็ว่า “ถึงแต่ผู้พ้นธรรม” ซึ่งก็ผิดสภาวะอีก เพราะธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีทางพ้นไปได้ ผู้เขียนจึงนิยมคำว่า “ถึงแต่ผู้พ้นกรรม” คือ เมื่อจิตหมดการกระทำกรรมอย่างเด็ดขาดแล้ว เหลือเพียงกิริยาจิต จึงจะเห็นธรรมนี้เต็มบริบูรณ์ได้)

สภาวะนี้เองคือธรรม คือที่พึ่งอันเกษม ที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงมีธรรมนี้เป็นสรณะ ผู้ใดเห็นธรรมนี้จะรู้ทันทีว่า ไม่มีที่พึ่งอื่นใดยิ่งกว่านี้อีกแล้ว เพราะมีแต่ธรรมนี้เท่านั้นที่พ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง

จิตที่ได้ประจักษ์รู้สภาวธรรมนี้จะรู้สึกเต็มอิ่ม และรู้ว่าที่สุดแห่งทุกข์อยู่ที่ตรงนี้เอง คืออยู่ตรงที่สิ้นตัณหา(วิราคะ) สิ้นความปรุงแต่ง(วิสังขาร) และหลุดพ้นจากอาสวกิเลสเพราะไม่ถือมั่นในขันธ์(วิมุตติ) กิจเพื่อการแสวงหาที่สุดแห่งทุกข์ที่ยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

สภาวะนี้ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาแท้ๆ ไม่เคยหายไปไหน แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็น หรือเคยเห็นก็ไม่รู้จักและไม่เข้าใจ จึงต้องเที่ยวแสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ต่อเมื่อปล่อยวางความยึดถือจิตได้แล้ว จึงหมดการแสวงหาและเข้าใจถึงสภาวะนี้ได้ แต่ก็ไม่มีการหยิบฉวยสภาวะนี้ไว้

เหมือนคนที่เที่ยวแสวงหาเหมืองเพชร แม้เคยเดินผ่านแต่ไม่รู้ ต่อมาจึงรู้ว่าที่นี่คือเหมืองเพชร แต่เมื่อพบเข้าแล้วจริงๆ กลับยืนดูเฉยๆ อย่างมีความอิ่มเต็ม ไม่คิดจะครอบครองเหมืองเพชรไว้อีกแล้ว เพราะไม่มีตัวเราที่ไหนจะให้ไปเป็นเจ้าของเหมืองเพชรนั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น