xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ว้า! มีเสมหะในคอตลอดเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าท่านมีเสลดหรือเสมหะในคอตลอด เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี จะทำอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบ

เสลด หรือเสมหะ คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ การที่มีเสมหะหรือเสลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรค หรือภาวะบางอย่าง ดังนี้

1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้


เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นเสลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง

2. โรคไซนัสอักเสบ

เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส จะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกให้มีเสมหะไหลลงคอได้เหมือนข้อ 1

นอกจากนี้สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้

3. โรคกรดไหลย้อน

เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ นอกจากนั้นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ ทำให้กลไกการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป ทำให้มีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอได้

4. การใช้เสียงผิดวิธี

การที่ใช้เสียงในการพูดมาก มักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก คล้ายกับการออกกำลังกายให้เหนื่อย ซึ่งจะมีการหายใจ ทั้งทางจมูกและปาก

จมูกซึ่งมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้ชื้นและอุ่นขึ้น และกรองสารระคายเคืองต่างๆในอากาศก่อนเข้าสู่ลำคอ จึงไม่ได้ทำหน้าที่ ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอแห้งและเย็น ร่างกายอาจปรับตัวโดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้น

นอกจากนั้น สารระคายเคืองต่างๆในอากาศ อาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้

5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหืด

โรคทั้งสองดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะ ที่เยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในคอตลอดได้

นอกจากนั้น การที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารระคายเคืองมาก หรืออยู่ในห้อง หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก อาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอ ให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้

จะเห็นว่า มีสาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะในคอมากมาย การรับประทานยาละลายเสมหะ จึงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดคือน้ำ

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเสมหะในคอ ควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่องกล้องตรวจหู คอ จมูกและไซนัส เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของเสมหะในคอที่ถูกต้อง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)


กำลังโหลดความคิดเห็น