คนเราถ้าคิดแต่เรื่องโลกๆ จิตใจมันก็กวัดแกว่ง มันอยากจะไปอยู่กับชาวโลก แต่ถ้าคิดถึงเรื่องธรรมะ จิตใจก็ห่างโลก ห่างออกไปๆ ก็ไปอยู่กับพระธรรม อยู่กับฝ่ายแห่งความสะอาด แห่งความสว่าง แห่งความสงบ เรียกว่า อยู่กับพระ
แต่ถ้าไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นเรื่องโลกียวิสัย จิตใจก็ไปอยู่กับสิ่งเหล่านั้น หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่ออกจากทุกข์ไปได้
การอยู่ในความทุกข์นั่นมันดีหรือไม่?
ญาติโยมคิดดูก็จะมองเห็นว่า อยู่กับความทุกข์นี่..มันไม่ดี
ความทุกข์ร้อยแปดอย่างที่มีปรากฏอยู่ในชีวิตของคนเราทั่วๆไป ทุกข์ส่วนตัว ทุกข์เรื่องครอบครัว ทุกข์การงานทุกข์ของประเทศชาติของสังคม ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นถ้าคิดไม่เป็น
ถ้าคิดเป็นมันก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าคิดไม่เป็นก็คิดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ด้วยความหลงใหลเข้าใจผิด ก็นั่งกลุ้มด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้
การที่นั่งกลุ้มนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทเราควรจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส
เมื่อเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส จะไปนั่งทุกข์อยู่ทำไม ควรจะได้สติขึ้นในขณะนั้น ฉุกคิดขึ้นมาได้ทันท่วงทีว่า
“เออ! นี่มันอะไรกัน อะไรมันอยู่ในใจของฉัน ฉันคิดเรื่องอะไร ทำไมฉันจึงกลุ้มใจ ทำไมฉันนั่งเป็นทุกข์ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง”
แล้วควรจะคิดอย่างไร?
แม้จะคิดในเรื่องนั้นก็ได้ แต่ว่าต้องคิดด้วยปัญญา ไม่ได้คิดด้วยความโง่ความเขลา ถ้าคิดด้วยความโง่ นั่งกลุ้มใจ ถ้าคิดด้วยปัญญามันก็หมดความกลุ้มใจ
เพราะถ้าคิดด้วยปัญญานั้น มันเกิดเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง รู้ว่าความทุกข์คืออะไร?
ทุกข์นี้มาจากอะไร?
ทุกข์เป็นเรื่องแก้ได้ แก้ได้โดยวิธีใด?
ก็ด้วยวิธีสอบสวนทวนถามถึงปัญหาคือความทุกข์ จนเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราก็ไม่ต้องคิดให้เป็นทุกข์ต่อไป
ทุกข์เรื่องนี้คิดแทงตลอดได้ เรื่องอื่นมาก็แทงตลอดต่อไป คิดให้มันรู้แจ้งแทงตลอดไปเรื่อยๆ ผลที่สุดอารมณ์ภายนอก มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เราก็ปลงได้ วางได้ด้วยปัญญา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับปลงวางสิ่งนั้น
การใช้ปัญญาก็หมายถึงว่า เราคิดค้นในเรื่องนั้น ไม่ใช่นั่งเพ่งมองในเรื่องความทุกข์อย่างเดียว แต่มองว่า มันมาอย่างไร มันไปอย่างไร จึงได้เกิดยุ่งขึ้นมาในใจของเรา พิจารณาให้มันลึก แทงให้มันตลอดในเรื่องนั้น เราก็จะเข้าใจเรื่องนั้นได้ ความทุกข์ค่อยลดน้อยลงไป
เรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวันนี่แหละ เป็นเครื่องวัดการปฏิบัติธรรมของพวกเรา วัดที่ตัวเราเองว่า
เราเบาบางจากทุกข์ขนาดไหน จิตใจสงบขนาดไหน สะอาดขนาดไหน มีอะไรมากระทบตีโต้กลับไปด้วยปัญญาได้ขนาดไหน นี่เป็นเครื่องวัดความรู้สึกนึก คิดของเราเอง ด้วยปัญญาของเราเอง
ถ้าหากว่าเรายังเหมือนเดิม เคยโกรธเหมือนเดิม เคยโลภอยู่เหมือนเดิม เคยเกลียดอยู่เหมือนเดิม ใครทำอะไรให้ ก็เอามาฝังไว้ในใจ คิดอยู่ด้วยความพยาบาท อาฆาตจองเวร ก็แสดงว่าไม่ดีขึ้น
การเข้าหาธรรมะยังไม่ถึงธรรมะ ไปเที่ยวลูบๆคลำๆ อยู่เท่านั้นเอง เหมือนกับไปลูบๆคลำๆไหที่ใส่อะไรอยู่ข้างใน ไม่เปิดออกสักที แล้วไม่กินสักที แต่ไปลูบผิวของไหอยู่นั่นแหละ แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา
เราก็ต้องวัดเราบ้าง วัดตัวเราว่า เมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร?
เมื่อก่อนสภาพจิตเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้สภาพจิตของเราเป็นอย่างไร?
เมื่อก่อนเวลาอะไรมากระทบเราเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เมื่อมีอะไรมากระทบเราเป็นอย่างไร?
ความสงบของใจเป็นอย่างไร?
รู้แจ้งในปัญหาต่างๆ เป็นอย่างไร?
สติรู้ทันรู้เท่าต่อสิ่งทั้งหลายตามสภาพ ที่เป็นจริงอย่างไรหรือไม่?
อันนี้เป็นเรื่องทดสอบตัวเราเอง แล้วเราก็ต้องสอบจริงๆ อย่าอยู่อย่างไม่ได้สอบ ถามตัวเอง ต้องสอบตัวเองว่า
เรามีสภาพจิตใจดีขึ้นไหม?
มีความคิดถูกต้องไหม?
ทำอะไรตามอารมณ์หรือไม่?
หรือทำด้วยเหตุด้วยผล ไม่ไหลตามอารมณ์ที่มากระทบ ไม่วู่วาม ไม่เหมือนกับไฟไหม้ฟาง พอจุดพรึบก็ลุกวาบขึ้นไปเผาไหม้ฟางจนหมดเป็นขี้เถ้า เราไม่มีอาการเช่นนั้น สภาพจิตใจหนักแน่น อด ทน บังคับตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้
อย่างนี้ก็แสดงว่า เราได้รับผลของการศึกษาธรรมะ
(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)