พระไกซูเกะ มัตสุโมโตะ จบเกียรตินิยมสาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัย โตเกียว ในช่วงแรกๆ ท่านก็เหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปที่เริ่มมองหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ท้ายสุดท่านก็เลือกอุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา
หลังจากบวชได้ 7 ปี ก็ได้เข้าเรียน MBA ที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจ (ISB) เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจระดับโลก โดยให้เหตุผลว่า
“วัดทั่วไปจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเช่นกัน ในยุคปัจจุบัน แค่ดึงคนเข้าวัดยังไม่พอ อาตมาต้องการวิเคราะห์ว่า บทบาทแท้จริงของวัดที่มีต่อฆราวาสคืออะไร อาตมาอยากรู้ว่า วัดควรนำเสนอสิ่งใดแก่พวกเขา อาตมาจำต้องมีทักษะการบริหารจัดการที่ดีเพื่อนำพาวัดก้าวไปข้างหน้า
บริษัทและวัดมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เหมือนๆกัน ยกเว้นเพียงสิ่งเดียว นั่นคือ จุดมุ่งหมาย เพราะเป้าหมายของบริษัท คือการทำกำไร ส่วนเป้าหมายของวัดคือ การทำให้ผู้มีศรัทธาเกิดความสุข”
ก่อนที่จะไปเรียนต่อ MBA ท่านเคยใช้พื้นที่ภายในวัดทำเหมือนร้านกาแฟ ซึ่งสามารถนั่งทานเครื่องดื่มและขนมได้ โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานที่เพื่อการผ่อนคลายและใช้สอนธรรมะแก่ผู้มาเยือน
แต่หลังจากสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 32 ปี พระมัตสุโมโตะได้ลงมือเปลี่ยนโฉมของวัดให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อประเพณีโบราณทางศาสนา โดยมุ่งดึง สมาชิกที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2523-2533 หรือที่เรียกว่า Gen-Y ให้หันหน้าเข้าวัดเพิ่มมากขึ้น
เพราะรอบๆบริเวณวัดโคเมียวจิ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น เป็นที่ตั้งของบริษัทหลายแห่ง พระมัตสุโมโตะ จึงคิดจะดึงดูดคนวัยทำงานในย่านนั้น
“การจะส่งเสริมพุทธศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่ เราต้องหาวิธีที่เหมาะสมมาใช้” พระมัตสุโมโตะกล่าว
เริ่มแรก พระมัตสุโมโตะได้ก่อตั้งสมาคมยุวพุทธขึ้น ด้วยความร่วมมือของเพื่อนนักศึกษา และจัดกิจกรรมแรกที่เป็นคอนเสิร์ตดนตรีขึ้นภายในวัด จากนั้น ท่านก็เริ่มสังเกตกิจกรรมที่วัยรุ่นนิยมทำกัน จนรู้ว่าพวกเขาชอบจับกลุ่มคุยกันในร้านกาแฟ
“พวกอาตมาจึงเปิดร้านกาแฟขึ้นภาย ในวัดอีกครั้งหนึ่ง และชักชวนคนหนุ่มสาวให้เข้ามาใช้บริการฟรีภายในร้าน ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มและขนม ใครอยากบริจาคเงินช่วยเหลือก็แล้วแต่ศรัทธา เพราะจุดประสงค์ของร้านนี้ มิใช่เพื่อหาเงินเข้าวัด แต่ให้เป็นศูนย์กลางการสื่อสารระหว่างวัดและผู้มาเยือน”
ปรากฎว่า ร้านกาแฟวัดได้รับความนิยมอย่างสูง และที่นี่เองที่ทำให้พระมัตสุโมโตะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่ผู้เข้ามาใช้บริการมีต่อพุทธศาสนา กิจกรรมแบบใดที่อยากให้ทางวัดจัด และวัดจะปรับปรุงการให้บริการได้อย่างไร
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย พิสุทธิ์)