xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ศีล 5 อุบายสร้างความรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำไมพระพุทธเจ้าย้ำนักย้ำหนาให้เราปฏิบัติศีล 5 โดยวิสัยของพระพุทธเจ้าทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาคุณ ทรงเมตตาสงสารสัตว์โลก ที่พระพุทธเจ้าชักจูงให้เราปฏิบัติศีล 5 ก็เพราะปรารถนาความรัก คนเราทุกคนต้องการความรัก ถ้าไปมองดูหน้าใครเขาทำหน้าบึ้งๆ ทำทีแสดงท่าทางโกรธ เราชักจะไม่พอใจ เพราะรู้สึกแล้วว่าเขาไม่มีความรัก เขามีแต่ความโกรธ

พระพุทธเจ้าปรารถนาให้มนุษย์มีความรักกัน จึงชักชวนให้ปฏิบัติศีล 5 เพราะการไม่ฆ่าก็เป็นเหตุให้รักกัน การไม่ลักขโมยจี้ปล้นฉ้อโกงก็เป็นเหตุให้รักกัน การงดเว้นมุสาวาท สุรา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรักกัน

เมื่อมนุษย์ต่างมีความรักกัน ก็มีแต่ความสงบสุข
ดังนั้น ศีล 5 จึงเป็นคุณธรรมป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน

และศีล 5 ประการนี้เป็นคุณธรรมสำหรับตัดกรรมตัวเวร ตัดผลเพิ่มของกิเลส

เมื่อพูดถึงเรื่องการตัดกรรมตัดเวร บางท่านอาจมีความสงสัย กรรมนี้มันตัดได้หรือเปล่า

กรรมที่ทำลงไปแล้ว ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ไม่มีทางที่จะทำพิธีตัดกรรมตัดเวรนั้นได้ ถ้าใครต้องการจะตัดกรรมตัดเวรให้เป็นสิ่งที่แน่นอนกันจริงๆ ก็ไม่มีศีล 5 ศีล 5 แต่ละข้อลงท้ายว่า “เวรมณี”

“เวระ”
แปลว่า “เวร” เวรก็คือสิ่งที่เป็น เหตุเป็นปัจจัยให้ผูกพยาบาท เมื่อมีการผูกพยาบาทอาฆาตก็ต้องมีการฆ่ากัน ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ถ้าใครอยากหมดกรรมหมดเวรต้องมีศีล 5 เพราะศีล 5 เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร

กฎความจริงของสังคมโลก ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มนุษย์เรามีความต้องการอยู่เพียง 4 อย่าง คือ

1. ความมีลาภ
2. ความมียศ
3. ความมีสรรเสริญ
4. ความมีสุข


ในทางตรงกันข้าม เราไม่ปรารถนาความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ความทุกข์ จริงหรือเปล่า เราลองพิจารณาดูซิว่าเป็นความจริงหรือเปล่า

คนเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยกันทั้งนั้น ใครมีความคิดสติปัญญาเพียงใด แค่ไหน ย่อมมีความทะเยอทะยานกันไป แต่ว่าการแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ควรมีขอบเขต ขอบเขตของการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ก็คือ ศีล 5 อีกนั่นแหละ โดยเอาขันติ ความอดทน ขึ้นมาเป็นประธานไว้ก่อน

พระพุทธเจ้าทรงเทศนามาตลอดเวลา 45 ปี เมื่อสรุปหลักคำสอนที่เป็นแนวทางปฏิบัติ ก็มารวมอยู่ที่ขันติคือความอดทน “ขันติ ปะระมัง ตะโป ตีติกขา” ความอดกลั้น ความทนทาน เป็นตบะธรรม คือ ความเพียรเผาบาปอย่างยิ่ง ปฏิบัติได้โดย อาศัย ศีล 5 เป็นหลัก เช่น เวลาโกรธก็ให้นึกถึงปาณาติบาตเอาไว้ ทีนี้ถ้าโกรธมาแล้ว ใจคิดอยากจะด่า อยากจะฆ่า อยากจะตี อดทนเอาไว้ โดยนึกว่าพระพุทธเจ้าฆ่าด่าตีไม่เป็น เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แล้วเราต้องปฏิบัติตาม

เมื่อเกิดความโลภขึ้นแล้ว ถ้านึกออกไปว่าอยากจะแสวงหาผลประโยชน์ในทาง ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและธรรม ก็ให้นึกถึงศีลข้ออทินนาทานเอาไว้ พระพุทธเจ้าขโมยไม่เป็น ฉ้อโกงไม่เป็น ลักจี้ปล้นไม่เป็น เราก็หยุดทันที

หากจิตใจออกนอกลู่นอกทาง ไม่อยู่ในขอบเขต เช่น สามีนอกใจภรรยา ก็ให้นึกถึงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารเอาไว้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ปฏิบัติเช่นนั้น เราก็ไม่ควรปฏิบัติ

ถ้าช่วงใดนึกสนุกขึ้นมา อยากจะโกหก หลอกลวงคนโน้นคนนี้ นึกถึงศีลข้อมุสาเอาไว้ พระพุทธเจ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้น เราก็ต้องปฏิบัติตาม

หากสิ่งใดที่มันมัวเมาเกินไป จนทำให้เราเสียผู้เสียคน มัวเมาในการพนัน มัวเมาในการเที่ยว มัวเมาในการใช้จ่ายโดยไม่มีขอบเขต นึกถึงศีลข้อสุราเอาไว้ สุราตัวนี้ไม่เฉพาะแค่ดื่มเหล้าอย่างเดียวนะ ความเมานี้โดยปกติคนเรามีความเมาอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ทุกคน เมื่อเรามีความเมาเป็นพื้นฐานอยู่ แล้วเอาสิ่งที่ไปทำลายประสาท เพิ่มความเมาแล้วจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ถ้าจะเอาดีกับพระพุทธเจ้า ก็ต้องนึกถึงศีลข้อนี้ โดยอาศัยความอดทน

ศีล 5 นี้ ถ้าใครปฏิบัติได้

1. ได้บำเพ็ญอภัยทาน
2. ทำให้จิตเกิดความเมตตาปรานี
3. ได้ความรัก
4. ป้องกันไม่ให้เกิดมีการฆ่ากัน
5. ปรับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์


เมื่อเรามีศีล 5 บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี ความเป็นมนุษย์ของเราก็สมบูรณ์ กายเป็นปกติ วาจาก็ปกติ ในเมื่อกาย วาจาปกติ ใจก็พลอยปกติไปด้วย เมื่อเราไม่ฆ่าใคร ใครหนอจะมาฆ่าเรา เมื่อเราไม่ประทุษร้ายใคร ใครหนอจะมาประทุษร้ายเรา เราเคารพในสิทธิเสรีภาพของมวล มนุษย์ด้วยกัน คนอื่นเขาก็ต้องเคารพต่อเรา “วันทะโก ปฏิวันทะนัง” ผู้ไหว้ย่อมได้ รับการไหว้ตอบ “โปชะโก ชะพะเตโปชัง” ผู้บูชาย่อมได้บูชาตอบ” นี่คือแผนการปฏิบัติเพื่อละชั่วและเป็นอุบายตัดผล เพิ่มของกิเลส เป็นอุบายตัดผลเพิ่มของบาปกรรม

กิเลสมันจะถูกบั่นทอนกำลังลงได้เพราะเรายึดมั่นในการปฏิบัติศีล 5 ถ้าใครเคร่งในการปฏิบัติศีล 5 โลภ โกรธ หลง มีในใจก็ช่างมัน อย่าไปสนใจ แต่เราเอาอย่างเดียวคือไม่ลุอำนาจ เมื่อโกรธแล้วอดทน เมื่อโลภแล้วอดทน ไม่ละเมิด ศีล 5 ข้อ ก็จะเป็นการบั่นทอนพลังของความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้น้อยลง

เมื่อเราหัดอดทน จิตของเราคล่องตัวต่อการอด อดเสียจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน ทีแรกเราตั้งใจอดทน บางทีก็นึกจะละเมิดเหมือนกัน แต่ก็อดทนไป อดไปจนใจมันทนต่อความอด มันชำนาญ ต่อความอด คล่องตัวต่อความอด มันก็กลายเป็นความเป็นไปเองโดยธรรมชาติ

ต่อไปเจตนาก็ตาม ไม่เจตนาก็ตาม ตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม เราจะมีศีล 5 เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของสังคมอยู่ตลอดเวลา นี่คือแผนการปฏิบัติ เพื่อละความชั่ว ทีนี้เมื่อเราตั้งใจละชั่วได้โดยเด็ดขาด มันก็กลายเป็นความดี

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม พ.ศ.2532)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา)
กำลังโหลดความคิดเห็น