ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของพม่า เป็นสตรีเหล็กแห่งพม่า ที่แม้จะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานัปการตลอดเส้นทางการเมือง แต่เธอยังคงยืนหยัด ไม่ล้มเลิกหรือละทิ้งเป้าหมายหลัก
• จุดเริ่มต้นชีวิตนักการเมือง
ออง ซาน ซูจี เกิดวันที่ 19 มิถุนายน 1945 ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า บิดาคือ นายพลอองซาน ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่ายุคใหม่ เขาถูกลอบสังหารในปี 1947 ซึ่งในปี นั้นเขาได้เจรจาต่อรองกับอังกฤษเพื่อปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราช ขณะนั้นซูจีมี อายุเพียง 2 ปี
ในปี 1960 ขิ่นจี มารดาของซูจี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต พม่าประจำประเทศอินเดียและเนปาล ซูจี ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีรามที่กรุงนิวเดลี จากนั้น ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและปรัชญา ที่เซนต์ฮิวส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 1964-1967
เมื่อสำเร็จการศึกษา ซูจีได้ย้ายไปทำงานที่องค์การสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาในปี 1972 เธอได้แต่งงานกับดร. ไมเคิล อริส อาจารย์สอนวิชาทิเบตศึกษาที่สถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มีบุตรชาย 2 คน คือ อเล็กซานเดอร์ และคิม
ในปี 1988 ซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับพม่า เพื่อเยี่ยมมารดาที่ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งซึ่งเป็นเพียงแม่บ้าน ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศ
“ตอนที่ฉันเดินทางกลับพม่าเมื่อปี 1988 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่มทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อด้วย เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของฉันกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ ฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ฉันต้องเข้าร่วมด้วย”
เวลานั้น พม่าอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองไปทั่วประเทศ กดดันให้นายพลเนวิน ผู้นำ เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศมายาวนานกว่า 20 ปี ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง นำไปสู่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนหลายแสนคน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า แต่ในที่สุด ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้อาวุธสลายการชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายพันคน
ซูจีได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1988 โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม เธอได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ต่อหน้าฝูงชนราว 500,000 คน ซึ่งมาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้ง โดยเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้งสภาฟื้นฟู กฎระเบียบแห่งรัฐขึ้นแทน และใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามสังหารและจับกุมผู้ต่อต้านหลายร้อยคน
ในวันที่ 24 กันยายน 1988 ซูจีได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค ชีวิตทางการเมืองของเธอที่ต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยของพม่า จึงได้เริ่มต้นนับแต่นั้นมา
• ความศรัทธาในพุทธศาสนา
ช่วยหล่อหลอมทัศนคติและความเข้มแข็ง
การมีศรัทธาในพุทธศาสนาของซูจีมีส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมทัศนคติและความเข้มแข็งในตัวเธอ
แนวคิดทางการเมืองของหญิงแกร่งคนนี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญา อหิงสาของมหาตมะ คานธี วีรบุรุษแห่งอินเดียและแนวคิดทางพุทธศาสนา ตลอด 21 ปี ในวงการเมือง ซูจีต้องสูญเสียสามี พลัดพรากจากบุตรชายอันเป็นที่รัก และสูญเสียอิสรภาพ นั่นเป็นเพราะเธอวางเรื่องส่วนตัวไว้ข้างๆ และเดินหน้า ทำงานเพื่อประโยชน์ของชาวพม่า และไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆมาขวางกั้นก็มิอาจหยุดยั้งเธอได้
การเสียสละของเธอถือเป็นแรงบันดาลใจ ให้แก่คนที่ยอมแพ้เมื่อต้องเผชิญอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ มีกำลังใจเดินหน้าไม่ท้อถอย
ทว่าการเข้าร่วมทางการเมือง ก็ทำให้เธอถูกกักบริเวณภายในบ้านพักในเมืองย่างกุ้งเป็นเวลานานถึง 15 ปี โดยทางการไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเยี่ยม
ซูจีเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด เธอยกความดีให้กับพระพุทธศาสนา ที่ช่วยให้เธอมีชีวิตอยู่ได้ในระหว่างถูกกักบริเวณ ซึ่งเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน หมดไปกับการอ่านหนังสือปรัชญา การเมือง และอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ รวมทั้งการท่องจำพระสูตรและนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา
ซูจียังบอกด้วยว่า เธอเชื่อว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย ที่ขัดแย้งกับคำแถลงการณ์ของ รัฐบาลทหารพม่าที่อ้างว่า ระบอบประชาธิปไตยคือสิ่งประดิษฐ์ของชาติตะวันตก
งานเขียนชิ้นหนึ่งของเธอมีชื่อว่า “อิสรภาพจากความกลัว” (Freedom from Fear) เธอยืนยันว่า “พุทธศาสนาและระบบเผด็จการนั้นขัดแย้งกัน เพราะศาสนาพุทธให้ความสำคัญเรื่องความสามารถที่จะบรรลุนิพพานของแต่ละบุคคลเป็นลำดับแรก ในขณะที่ระบบเผด็จการลดคุณค่าปัจเจกชน เปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นมวลชนที่ไร้ตัวตน ไร้เหตุผล และไร้กำลัง ซึ่งจะถูกหลอกให้ทำตามความต้องการได้ง่าย”
ซูจียังย้ำด้วยว่า ชาวพุทธเน้นเรื่องความถูกต้องและคุณธรรมความดี ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเรื่องการประท้วงทางการเมือง ยามที่ระบบการปกครองขาดความยุติธรรม เธอเชื่อว่า ตราบใดที่การประท้วงเป็นไปโดยสงบ และไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย นั่นคือพวกเขากำลังแสดงออกถึงคุณธรรมและวิธีปฏิบัติตามวิถีพุทธ ซูจีพูดถึงอุปสรรคของความกลัวในความหมายทางการเมือง ว่า
“อำนาจไม่ได้ทำให้คนเสื่อม แต่เป็นความกลัวที่ทำให้คนเสื่อม ความกลัวสูญเสียอำนาจทำให้ผู้กุมอำนาจเสื่อม และความกลัวโทษทัณฑ์จากอำนาจ ก็ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจเสื่อมเช่นเดียวกัน”
ความสามารถของซูจีในการผสมผสาน หลักธรรมคำสอนให้เข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตยทางตะวันตก เป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ที่มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวพม่า
ซูจีได้กลายเป็นผู้นำยุคใหม่ที่นำวิถีพุทธมาประยุกต์ใช้ในการเมือง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาย ในวัดทั่วพม่า ซึ่งพระสงฆ์ตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่เหล่าพระสงฆ์และแม่ชีเป็นผู้นำในการประท้วงรัฐบาลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจใน ปี 2007 แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลทหารพม่าใช้กำลังเข้าปราบปราม จนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย และถูกจับจำคุกเป็นจำนวนมาก
• พุทธศาสนา
ช่วยเปิดโลกทัศน์
แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2010 ซูจีก็ได้รับอิสรภาพ เพราะแรงกด ดันจากนานาชาติทั่วโลก ที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด ถึงกระนั้น เธอก็ยังคงทำงานหนักเพื่อนำพาประเทศชาติอันเป็นที่รักไปสู่จุดหมายที่ดีกว่า เพื่อประโยชน์ของประชาชนพม่าอย่างแท้จริง
แม้จะผ่านพ้นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาเป็นเวลานาน แต่หญิงเหล็กคนนี้ไม่เคยขมขื่น หรือเวทนาตัวเอง ตรงกันข้าม กลับรู้สึกภาคภูมิใจในความมุ่งมั่นบากบั่นของตัวเอง โดยยกความดีให้แก่พุทธศาสนา ที่เธอถือปฏิบัติอยู่
แซลลี่ ควินน์ ผู้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับศาสนา ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้สัมภาษณ์ซูจีหลังการได้รับอิสรภาพ ว่า
“ฉันไม่รู้ว่า สิ่งที่ฉันจะได้เห็นจากตัวคุณในวันนี้จะเป็นอย่างไร ฉันอาจได้เห็นคนที่ดูเหนื่อยหน่าย อ่อนล้าอย่างที่สุด หรือแฝงด้วยความขมขื่น แต่กลายเป็นว่า ฉันได้เห็นบุคคลที่ดูร่าเริงและมองโลกในแง่ดียิ่งเมื่อได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆที่คุณต้องประสบในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเรานึกภาพไม่ออก อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณผ่านมันมาได้?
คุณได้พูดถึงสิ่งที่เราต้องไม่ทำ เราต้องฟื้นฟู ไม่ใช่ลงโทษ แล้วคุณพูดว่า ควรลืมเรื่องในอดีตเสีย มันเป็นเพราะแรงศรัทธา หรือไม่ ที่ทำให้คุณผ่านเวลาอันเลวร้ายมาได้ และนำพาคุณไปยังจุดที่ทำให้คุณมองโลกในแง่ดี สดใส ร่าเริง และเต็มไปด้วยความหวังเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้?”
ซูจีตอบว่า “ฉันไม่ได้พูดว่า ให้ลืมเรื่องอดีตเสีย เราไม่อาจลืมมันได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องจำอดีตอย่างขมขื่น เราไม่จำเป็น ต้องจำอดีตด้วยความแค้น เราจำเป็นต้องนึกถึงเรื่องราวในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะทำผิดซ้ำอีกครั้งในอนาคต ดังนั้น เรื่องราวในอดีตช่วยให้เราใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
และที่คุณถามว่า มันเกี่ยวกับความศรัทธาหรือไม่ ฉันคิดว่าคุณหมายถึงแรงศรัทธาในศาสนาของฉัน ฉันว่าส่วนหนึ่ง ก็มาจากศาสนา ฉันเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธา ดังนั้น ฉันเชื่อว่าคำสอนของ พระพุทธองค์มีผลต่อวิธีคิดของฉันอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่มากกว่านั้นก็คือ เมื่อฉันเริ่มต้น เดินเข้าสู่การเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ฉันคิดเสมอว่า นี่คือกระบวนการ ที่จะนำความสุขความสามัคคีและสันติภาพ มาสู่ประเทศชาติของเรามากยิ่งขึ้น และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคุณยังผูกติดอยู่กับความโกรธและความต้องการแก้แค้น
ดั้งนั้น ฉันไม่เคยคิดเลยว่า จะทำมันให้สำเร็จได้ด้วยความโกรธ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ ความพยายามที่จะเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง และด้วยการเจรจาต่อรองกับคนที่คิดต่างจากคุณ และท้ายที่สุด ทำให้เกิดความปรองดองขึ้น ด้วยหลากหลายวิธีคิดที่แตกต่างกันไป”
• เดินสายไหว้พระ
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หลังได้รับอิสรภาพ ซูจีกับบุตรชายคนเล็ก “คิม อริส” ได้เดินทางไปสักการะพระเจดีย์ชเวดากอง พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่า ในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2010
เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่อธิษฐาน เธอหัวเราะ และตอบว่า “ฉันบอกไม่ได้ มิฉะนั้น สิ่งที่ขอจะไม่สมปรารถนา”
การกลับมาเยือนเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง มีนัยสำคัญ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ คือที่ซึ่งซูจีขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1988 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
ในเดือนกรกฎาคม 2011 ซูจีได้เดินทางออกนอกเมืองย่างกุ้งเป็นครั้งแรก เพื่อเยือนเมืองพุกาม เมืองแห่งทะเลเจดีย์ เธอวิจารณ์การบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ซึ่งมีอายุหลายร้อยปีหลายแห่งในเมืองพุกาม ว่าไม่ได้มาตรฐานสากล
เธอกล่าวว่า “มันน่าเศร้าที่เห็นเจดีย์หลายองค์ได้รับการบูรณะอย่างไม่ถูกต้องตามหลักสากล ควรมีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะเริ่มต้นบูรณะ มิใช่ซ่อมแซมด้วยวัสดุสมัยใหม่ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม”
ซูจียังกล่าวต่อไปว่า หนึ่งในสาเหตุที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนการคว่ำบาตรโครงการส่งเสริมปี 1996 ให้เป็นปีท่องเที่ยวพม่า ก็เนื่องจากการ รีบเร่งบูรณะเจดีย์อย่างลวกๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวนั่นเอง
ตลอดเส้นทางการเมือง ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากกว่า 27 รางวัล หนึ่งในนั้นคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 ซึ่งบุตรชายทั้งสองของเธอถือภาพถ่ายมารดาขึ้นรับรางวัลแทน ท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับอย่างกึกก้อง
ความรักที่ไม่เคยมีใครรู้ ของ "ออง ซาน ซูจี"
เรื่องราวความรักของออง ซาน ซูจี และ ไมเคิล อริส เป็นหนึ่งในนิยายรักที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นอย่างสุดแสนโรแมนติก แต่จบลงด้วยความเศร้าสะเทือนใจ
ซูจี คือรักแรกพบของไมเคิล เขาได้ขอเธอแต่งงานท่ามกลางขุนเขาที่เต็มไปด้วยหิมะของภูฏาน ที่ซึ่งอริสทำงานเป็นครูสอนพิเศษให้แก่สมาชิกแห่งราชวงค์ภูฏาน
เป็นเวลา 16 ปีที่ซูจีอุทิศตนทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีของลูกชายสองคน คือ อเล็กซานเดอร์และคิม เธอทำความสะอาดบ้าน เข้าครัวทำอาหาร ไปจนถึงจัดงานปาร์ตี้ให้ลูกๆ และรีดถุงเท้าให้สามี
กระทั่งเย็นวันหนึ่งในปี 1988 สิ่งที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธออย่างสิ้นเชิง ขณะนั้นบุตรชายทั้งสองมีอายุ 14 ปี และ 12 ปี ซูจีและไมเคิลกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ในบ้าน เธอได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า มารดาป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก
หญิงสาวรีบบินไปยังเมืองย่างกุ้งทันที โดยคิดว่าจะอยู่ไม่นาน แต่ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายไปทั่วประเทศ และข่าวการกลับมาของบุตรสาวนายพลวีรบุรุษพม่าก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
ตัวแทนนักวิชาการได้ขอร้องให้ซูจีเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตย เธอตอบตกลงอย่างไม่ค่อยมั่นใจ คิดเพียงว่าทันทีที่มีการเลือกตั้ง เธอจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง โดยหารู้ไม่ว่า เธอจะไม่ได้กลับไปอีกเลย
ที่อังกฤษ ไมเคิลทำได้เพียงติดตามข่าวซูจีทางโทรทัศน์ ด้วยความร้อนใจ ความนิยมในตัวเธอพุ่งสูงขึ้น จนรัฐบาลทหารคอยตามรังควานทุกฝีก้าว พร้อมจับกุมตัวสมาชิกพรรค NLD จำนวนมาก ไมเคิลเกรงว่า ภรรยาอาจถูกลอบสังหารเหมือนบิดาของเธอ จนกระทั่งปี 1989 ซูจีถูกกักบริเวณภายในบ้านพัก จึงทำให้ไมเคิลโล่งอก เพราะอย่างน้อยเธอได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย
ไมเคิลได้ตอบแทนความเสียสละที่ซูจีอุทิศให้เขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการเริ่มรณรงค์ให้ซูจีเป็นที่รู้จักบนเวทีโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่กล้าทำอันตรายเธอ แต่เขาต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะเมื่อซูจีก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า รัฐบาลทหารก็ฉวยโอกาสที่เธอแต่งงานกับชาวต่างชาติ นำมาเป็นประเด็นโจมตี
ตลอด 5 ปีนับจากวันที่ซูจีถูกกักบริเวณ ในช่วงนั้นไมเคิลได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเธอเพียง 2 ครั้ง ขณะที่รัฐบาลทหารได้อนุญาตให้เธอบินกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่อังกฤษได้ทุกเวลา แต่เธอก็ไม่คิดจะไป
ไมเคิลไม่เคยเสียใจในสิ่งที่ซูจีได้ทำ แม้เขาจะรู้สึกทุกข์ใจที่ภรรยาตกอยู่ในอันตราย ขณะเดียวกันเขายังคงเดินหน้าช่วย ภรรยาต่อไป เพราะในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ เขารู้ดีว่า ซูจีคือส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์
ชายหนุ่มได้จัดบ้านด้วยการตั้งแสดงหนังสือเล่มที่สาวคนรักกำลังอ่านขณะที่เธอได้รับโทรศัพท์เรียกตัวให้กลับไปพม่า เขาตกแต่งผนังห้องด้วยใบประกาศเกียรติคุณต่างๆที่ซูจีได้รับ รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 ด้วย และที่สำคัญ เขาแขวนรูปถ่ายซูจีขนาดใหญ่ไว้เหนือหัวเตียง
ในช่วงเวลาอันยาวนานที่ไมเคิลติดต่อซูจีไม่ได้ เขาเกรงว่าเธออาจเสียชีวิตแล้ว มีเพียงรายงานจากผู้คนที่เดินผ่านบ้าน พักของเธอระบุว่า ได้ยินเสียงเปียโนดังมาจากภายในบ้าน ซึ่งทำให้ไมเคิลสบายใจขึ้น แต่เมื่อเปียโนเสีย ไมเคิลก็ไม่ทราบข่าวคราวของภรรยาอีกเลย
แต่แล้วในปี 1995 ไมเคิลได้รับโทรศัพท์จากซูจีโดยไม่คาดฝัน เธอโทรมาจากสถานทูตอังกฤษและบอกว่า ได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งหนึ่ง ไมเคิลและบุตรชายทั้งสองรีบเดินทางเข้าพม่า และเมื่อซูจีเห็นคิม บุตรชายคนเล็กที่โตเป็นหนุ่ม เธอบอกว่า ถ้าเดินสวนกันบนถนน เธอคงจำเขาไม่ได้
และนี่คือครั้งสุดท้ายที่ไมเคิลและซูจีได้รับอนุญาตให้พบกัน
หลายปีที่ซูจีถูกกักบริเวณ มันหล่อหลอมให้เธอกลายเป็นหญิงแกร่งแห่งการเมืองอย่างเต็มตัว เธอตั้งใจที่จะอยู่ในพม่าต่อไป แม้ว่ามันจะหมายถึงการต้องพลัดพรากจากครอบครัวอันเป็นที่รักก็ตาม
2 ปีหลังจากนั้น ไมเคิลรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะสุดท้าย เขาโทรบอกข่าวร้ายกับภรรยา และรีบขอวีซ่าเข้าพม่า เพื่อกล่าวคำอำลาด้วยตนเอง แต่วีซ่าของเขาไม่ผ่าน
ชายหนุ่มไม่ย่อท้อ ได้ยื่นขอวีซ่าอีกกว่า 30 ครั้ง ขณะที่ร่างกายของเขาเริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว บรรดาผู้นำระดับสูง อาทิ พระสันตะปาปา, ประธานาธิบดีคลินตัน (ในขณะนั้น) ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลทหารพม่า แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดรัฐบาลพม่าจึงหาทางออกด้วยการเปิดโอกาสให้ซูจีได้ร่ำลาสามี โดยมีข้อตกลงว่า เธอต้องบินกลับไปเยี่ยมเขาที่อังกฤษ
วินาทีนั้นทำให้ซูจีรู้สึกว้าวุ่นใจ เพราะเธอต้องตัดสินใจเลือกระหว่างประเทศชาติกับครอบครัว แม้จะรักสามีมากเพียงใด แต่ทั้งไมเคิลและซูจีรู้ดีว่า หากเธอเดินทางออกจากพม่านั่นหมายถึง เธอถูกเนรเทศ ห้ามกลับเข้าประเทศอีกต่อไป และทุกสิ่งทุกอย่างที่ทั้งสองร่วมต่อสู้มา ก็จะสูญเสียไปเปล่าๆ
แอนโทนี่ อริส ซึ่งเป็นคู่แฝดของไมเคิล ได้พูดถึงสิ่งที่เขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อนว่า ทันทีที่ซูจีคิดว่าจะไม่มีทางได้พบหน้าไมเคิลอีกแล้ว เธอได้สวมเสื้อผ้าชุดที่ไมเคิลชอบ พร้อมเสียบดอกกุหลาบแซมผม เดินทางไปยังสถานทูตอังกฤษ เพื่อบันทึกภาพการกล่าวอำลาสามีสุดที่รักเป็นครั้งสุดท้าย ซูจี บอกสามีว่า ความรักที่เขามีให้เธอ เป็นหลักและกำลังใจสำคัญ ที่ทำให้เธอยืนหยัดอยู่ได้ ภาพที่ได้บันทึกไว้ถูกส่งไปให้ไมเคิลที่อังกฤษ แต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตลงก่อนที่มันจะมาถึงเพียง 2 วันเท่านั้นเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย บุญสิตา)