xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : มารู้จัก 'มะเร็งต่อมน้ำเหลือง' กันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งระบบน้ำเหลืองในร่างกาย เช่น ม้าม ไขกระดูก ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกาย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มี 2 ประเภท คือ

1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอนจ์กิน สามารถแบ่งตามอัตราการเจริญของเซลล์มะเร็ง ออกเป็น 2 ชนิด

1.1 ชนิดรุนแรง มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี แต่มีโอกาสหายได้ ถ้าได้รับการรักษา

1.2 ชนิดค่อยเป็นค่อยไป จะมีอัตราการแบ่งตัวค่อนข้างช้า ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคอยู่นานก่อนมาพบแพทย์ การรักษาโรคได้ผลดี แต่โรคมักเป็นซ้ำ

2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอนจ์กิน ส่วนใหญ่จะพบมากในประเทศไทย

• สาเหตุ

ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่บางรายพบว่า เกี่ยวข้องกับการได้รับสารเคมีบางชนิด เชื้อไวรัสบางชนิด และการมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

• อาการ

อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ การพบก้อนที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ
มีก้อนมักจะไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อจะมีอาการเจ็บที่ก้อน มีไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน เบื่ออาหารและน้ำหนักลด อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก ต่อมทอนซิลโต อาการคันทั่วร่างกาย ปวดศีรษะ (มักพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)

• การวินิจฉัย

แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยคลำหรือสัมผัสบริเวณต่อมน้ำเหลือง ถ้าสงสัยก็จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ หรือทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจไขกระดูก เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจ PET scan

• แนวทางการรักษา

ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค โดยแพทย์อาจให้การรักษาเดี่ยว หรือการรักษาแบบผสมผสาน

1. การเฝ้าติดตามโรค ชนิดค่อยเป็นค่อยไป หรือในรายที่ผู้ป่วยมีอาการจากตัวโรคไม่มาก โดยการตรวจเลือด หรือการตรวจทางรังสีเป็นระยะ

2. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปมักให้ยาเคมีบำบัดหลายขนานร่วมกัน และอาจให้ร่วมกับการรักษาด้วยแอนติบอดี้

3. รักษาด้วยแอนติบอดี้ แอนติบอดี้จะไปจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อมากำจัดเซลล์มะเร็งนั้น ปัจจุบันนิยมใช้แบบเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

4. การรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นการใช้รังสีปริมาณสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง

5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

• แนวทางการปฏิบัติตน

1. ควรงดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และสะอาด ไม่ควรรับประทานอาหารหมักดอง

3. ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ส้ม กล้วย โดยต้องล้างทำความสะอาดเปลือกทุกครั้ง

4. ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

5. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

• เมื่อใดที่ควรมาพบแพทย์

เมื่อสงสัยว่ามีก้อน หรือต่อมน้ำเหลืองโต มีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลียผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมและทันเวลา

อาหารสำหรับผู้ป่วย
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง


• กินผัก ผลไม้ ที่ผ่านความร้อน หรืออัดกระป๋อง

• กินผลไม้ที่มีเปลือกปอกได้/ และบรรจุกระป๋อง

• ขนมปังและเบเกอรี่ต่างๆ มีวันผลิตและวันหมดอายุ จะต้องไม่มีไส้สังขยา ไส้คัสตาร์ด และมายองเนส

• ถั่วและธัญพืชจะต้องสุกและผ่านความร้อน

• เนื้อสัตว์ควรเป็นจำพวกปลาทะเล และต้องผ่านความร้อน แน่ใจว่าสุก

• อาหารที่สุกแล้วจะต้องอุ่นให้ร้อน ก่อนรับประทานเสมอ

• น้ำดื่มต้องสะอาด มั่นใจว่าปราศจากเชื้อ

• เครื่องปรุงต่างๆ จะต้องผ่านความร้อน

• อาหารที่เก็บในตู้เย็นไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์

• ตู้เย็น ตู้เก็บอาหารควรทำความสะอาดทุกสัปดาห์

(หน่วยโภชนาการ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย รศ.พญ.นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ)

กำลังโหลดความคิดเห็น