xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ออแกไนเซอร์คึกคัก รับจัดงานบุญเบ่งบาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกครั้งที่ได้รับเชิญไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แขกที่มาร่วมงานมักจะคุ้นกับภาพของ “เจ้าภาพ” ที่เดินหน้ามันเยิ้มออกจากครัวเพื่อเตรียมอาหาร แล้วยังต้องวิ่งออกมาหน้าบ้านเพื่อรับแขก ครั้นพอถึงช่วงพิธีสงฆ์นั้นเจ้าภาพทุกรายแทบจะไม่มีความรู้เลยว่า จะต้องทำพิธีกันอย่างไรบ้าง แม้ว่าจะเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม

แต่ยุคนี้ถ้าใครไปงานทำบุญบ้าน แล้วเห็น “เจ้าภาพ” ยืนยิ้มหน้าสวย-หน้าหล่อรับแขกอยู่หน้างาน พอถึงช่วงพิธีสงฆ์ก็มีเจ้าหน้าที่แต่งตัวสะอาดเรียบร้อยมาจัดการงานพิธีต่างๆให้เรียบร้อย แถมเครื่องใช้ไม้สอยที่ใช้ ประกอบพิธีก็สวยงามสมฐานะของเจ้าภาพ ไม่ต้องไปยืมจากวัดอีกแล้ว

ผู้อยู่เบื้องหลังความสมบูรณ์แบบและสะดวกสบายของงานทั้งหมดเหล่านี้คือ “ออแกไนเซอร์” มืออาชีพที่รับจัดงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีทุกรูปแบบโดยเฉพาะ !!!!

ธุรกิจงานบุญ โตแบบเงียบแต่มาแรง

ธุรกิจออแกไนเซอร์เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนในสังคมเมืองไทยเมื่อไม่เกิน 8 ปี แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจนี้เข้ามาถูกจังหวะกับไลฟสไตล์ของคนไทยที่ชอบความสะดวกสบาย จึงเติบโตขึ้นทุกปีด้วยมูลค่าตลาดรวมในปัจจุบันมหาศาลถึง 8,000 ล้านบาท กลายเป็นเค้กก้อนโตที่มีบริษัททั้งเล็กและใหญ่กระโจนเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งเป็นจำนวนมาก

เมื่อก่อนเรามักจะได้ยินธุรกิจออแกไนเซอร์ซึ่งรับจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการตลาด โดยเฉพาะงานอีเว้นท์เปิดตัวสินค้า ซึ่งปัจจุบันทุกงานหันมาพึ่งพาบริการของออแกไนซ์ ให้ช่วยคิดตั้งแต่รูปแบบของงาน รวมถึงการเชิญแขก อาหารจัดเลี้ยง เครื่องเสียง ฯลฯ

ต่อมาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จัดงานแต่งงานก็เริ่มหันมาพึ่งพาบริการของออแกไนซ์ให้ช่วยคิดคอนเซ็ปต์งาน เพื่อเนรมิตพิธีสำคัญครั้งเดียวในชีวิตให้กลายเป็นงานแต่งงาน เหมือนที่วาดฝันไว้ ธุรกิจออแกไนเซอร์จึงแตกไลน์ออกมาให้บริการจัดงานแต่งงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชนิดที่เรียกว่าครบวงจรกว่าเดิมที่มีเพียงให้บริการถ่ายรูปคู่บ่าวสาว รวมถึงให้เช่าเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ในวันแต่งงานเท่านั้น ซึ่งประเมินว่า เม็ดงานจากการจัดงานแต่งงานในแต่ละปีมีไม่น้อยกว่าพันล้านบาท โดยมีออแกไนเซอร์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ช่วงชิงเค้กก้อนนี้กันอย่างดุเดือด

แต่ตอนนี้เริ่มมีออแกไนเซอร์หลายแห่ง ที่มองเห็นช่องทางที่จะต่อยอดการทำบุญของชาวพุทธ ให้กลายเป็นเรื่องของธุรกิจ โดยเสนอความสะดวกสบายและศาสนพิธี ที่ถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติ

โพลล์จากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยทำการสำรวจ “พฤติกรรมการทำบุญของคนไทย” เมื่อปี 2548 ผลปรากฏว่า ตลอดปีมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญสูงถึงปีละ 3,300 ล้านบาท ขณะที่ “งานทำบุญ” อีกงานที่กำลังมาแรงเช่นกันคือ การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โดยในปี 2553 มีการซื้อขายบ้านถึง 25,533 ยูนิต ลองนึกว่าถ้าบ้านแต่ละหลังจะต้องมีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่จะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหน ตอนนี้เริ่มมีออแกไนเซอร์หลาย รายกระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขันนี้แล้วเช่นกัน

“บุญนำพาให้ผมมาทำธุรกิจนี้”

สกล แสงมณี ประธานห้างสรรพสินค้าสังฆภัณฑ์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าของชาวพุทธแห่งแรกของไทย จากการที่เขาคลุกคลีอยู่กับวงการศาสนามาหลายปี ทำให้เขาเริ่มมองเห็นช่องทางในการขยายบริการเข้าไปสู่การรับจัดศาสนพิธี

“บุญนำพาให้ผมมาทำธุรกิจนี้” สกลกล่าวนำก่อนจะเล่าถึงที่มาของการเป็นออแกไนเซอร์เพื่อให้บริการจัดศาสนพิธีว่า เขาเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ควบคู่ไปกับการเปิดห้างสังฆภัณฑ์แห่งนี้

“เป็นธุรกิจที่คนมองข้าม แต่เราอยู่บนเส้นทางนี้จึงมองเห็นโอกาส และที่ตัดสินใจเข้ามาทำเพราะต้องการให้ทำบุญกันแบบถูกต้องด้วย การทำบุญต้องทำด้วยความศรัทธา ผมไม่ใช่พุทธพาณิชย์ เพราะผมทำธุรกิจนี้ด้วยความศรัทธา ผมจึงหวังบุญมากกว่ากำไร เราไปช่วยอำนวยความสะดวกและความถูกต้องตามศาสนพิธีเท่านั้น”

สกลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริการนี้ว่า หลังจากที่เขาทำห้างสรรพสินค้าสังฆภัณฑ์ขึ้นมา หลายครั้งลูกค้าซื้อสินค้า แล้วต้องขอคำแนะนำเพื่อจะไปจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือจัดงานศพ ทำให้เห็นช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกเหล่านี้ และต้องการให้พิธีสงฆ์ที่จะจัดขึ้นนั้นถูกต้องด้วย

“ในงานทำบุญนั้นคนที่ต้องประกอบพิธีคือ “เจ้าภาพ” ซึ่งปรากฏว่าเจ้าของบ้านลงทุนไปทั้งหมด แต่กลับให้มรรคทายกจากวัดได้บุญไปคนเดียว เพราะเป็นคนจุดธูปเทียน นั่งฟังพระสวด ส่วนเจ้าภาพมัวแต่ยุ่งอยู่ในครัว” สกลเล่าถึงปกติวิสัยของงานทำบุญทั่วไปที่เจ้าภาพแทบทุกรายต้องเสียเวลาวุ่นวายกับงานจุกจิก โดยไม่มีเวลาสนใจ “พิธีสงฆ์” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการจัดงาน

หรือประสบการณ์จากที่เคยไปร่วมงานศพนั้น สกลเล่าว่า งานศพส่วนมากจะใช้คนของวัดเป็นผู้ประกอบพิธี แต่เขาให้ความเห็นว่ายังขาดความสง่างามโดยเฉพาะงานศพของผู้ใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงหรืองานพระราชทานเพลิงศพ

“ในงานศพทั่วไปมักใช้เจ้าหน้าที่วัดมาช่วยประกอบพิธี สงฆ์ ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่สง่างาม ผมจึงบริการ “เจ้าหน้าที่” ของเราที่จัดเตรียมไป ต้องแต่งตัวสะอาดเรียบร้อยมาช่วยประกอบพิธี และที่สำคัญคืองานศพจะต้องมีการขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานด้วย แต่ส่วนมากไม่ได้ทำ หรืองาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บ้านราคาหลายสิบล้านบาท แต่เจ้าภาพไปยืมอุปกรณ์ประกอบพิธีจากวัด ซึ่งส่วนมากอยู่ในสภาพที่เก่าชำรุด ดูไม่สมฐานะและไม่เข้ากับบ้านสวยๆ”

เมื่อก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจออแกไนเซอร์ ห้างสังฆภัณฑ์ ซึ่งรู้เรื่อง “พิธีสงฆ์” อย่างถ่องแท้ เพราะอาศัยที่อยู่ใกล้ชิดวัดและอยู่ใกล้พระจึงดึงมาเป็น “จุดแข็ง” ในเรื่องการเป็นผู้เชี่ยวชาญให้บริการงานบุญครบวงจร อาทิ สามารถนิมนต์พระทุกระดับชั้นและทุกวัด มีรถรับ-ส่ง อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบงานนั้นใหม่ สวยงาม และครบถ้วน เตรียมเครื่องสังฆทานและอาหารถวายพระ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยในการประกอบพิธี จัดสถานที่ จัดเลี้ยง ฯลฯ ส่วนเจ้าภาพมีหน้าที่เพียงเตรียมปัจจัยถวายพระ และเตรียม เงินค่าจ้างเท่านั้น ที่เหลือออกแกไนเซอร์ทำให้ทุกอย่าง

ประสบการณ์ในการจัดงานระดับใหญ่นั้น สกลเล่าว่าเขาให้บริการมาหมดตั้งแต่งานทำบุญวันเกิด งานแต่ง งานบวช ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานเปิดบริษัท ทำบุญครบรอบปีของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทใหญ่ๆ งานตั้งศาล วางศิลาฤกษ์ ไปจนถึงงานศพ สนนราคาที่ให้บริการแบบแพคเกจเริ่มต้นต่ำสุดที่ 15,000 บาท ขึ้นไปจนถึงหลายแสนบาท ซึ่งโดยทั่วไปรูปแบบเหมือนกันหมด จะต่างตรงอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีจะหรูหราขึ้น รวมทั้งอาหารจัดเลี้ยงจะดีขึ้นตามราคา

TK Center น้องใหม่มาแรง

ตอนที่ “กฤต” ธนกฤต เตชะปฐมานนท์ แต่งงานกับ “ติ๊ก” ธัญญพัทธ์ ธนากุลอัครวัฒน์ ด้วยมีงบประมาณจำกัด ทำให้ทั้งสองเป็นคนคิดคอนเซปต์งานแต่งของตัวเอง และลงมือทำทุกอย่างเองตั้งแต่การ์ดเชิญ งานเลี้ยง แสงสีเสียง ดนตรีประกอบงานฯลฯ ซึ่งเขาไม่รู้เลยว่า รูปแบบการจัดงานในสไตล์ของเขา ได้สร้างความประทับใจ แก่ผู้มาร่วมงาน จนในเวลาต่อมามีคู่แต่งงานหลายคู่มาจ้างให้สองสามีภรรยาช่วยจัดงานให้ จนในที่สุดกฤตจึงผันตัวเองจากที่เคยเล่นดนตรีรับจ้างตามงานต่างๆ มายึดอาชีพออแกไนเซอร์รับจัดงานแต่งงานอย่างถาวร

“เราเริ่มเข้าไปแนะนำบริการของเราบนเว็บไซต์ โดยเรียนรู้เรื่องการสร้างเว็บเพจ www.tkcenter-soi4.com เมื่อเดือนตุลาคม 2551 หลังจากนั้นไม่นานก็มีลูกค้าเห็น โทรมาติดต่อขอให้ไปจัดงานแต่งให้ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม จากนั้นก็ได้งานเข้ามาเรื่อยๆ” ติ๊กเล่าถึงช่วงเริ่มต้นของอาชีพออแกไนเซอร์รับจัดงานแต่งงาน

ซึ่ง TK Center Organizer ก็เหมือนเพื่อนร่วมอาชีพรายอื่นๆ ซึ่งมักนิยมใช้ช่องทางบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อเป็นหน้าร้านและประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด รวมถึงทุกครั้งที่จัดงานพวกเขาจะแจกนามบัตรให้ผู้ที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก และทุกครั้งที่จบงานจะนำภาพสวยๆ จากผลงานขึ้นโชว์บนเว็บ เพื่อเป็นพอร์ตให้ลูกค้ารายใหม่ๆ ได้เข้ามาชมรูปแบบของงาน

งานออแกไนซ์งานแต่งงานเริ่มไปได้ดี เพียงไม่กี่เดือนต่อมาโอกาสดีก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโทรศัพท์เข้ามา เพื่อจะจ้างไปจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่

“มีลูกค้าซึ่งอยู่ในซอยปาร์คนายเลิศโทรมาหา แล้วขอให้ไปช่วยจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้เขาหน่อย ซึ่งตอนนั้นเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่เราก็รับทำ พอจบงานแล้ว เจ้าภาพก็พอใจมาก”

หลังจากงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่งานแรกผ่านไป ทั้งกฤต และติ๊กก็เริ่มได้งานประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนภายหลังจึงตัดสินใจเพิ่มไลน์การให้บริการ จากเดิมที่รับเฉพาะจัดงานเลี้ยงแต่งงานตอนค่ำ มาเป็นแผนกใหม่ที่เรียกว่า “งานพิธีไทย” ซึ่งความสำคัญคืองานศาสนพิธีในช่วงเช้า ที่จะใช้ทั้งงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงานตอนเช้า งานเปิดแพรคลุมป้าย เปิดบริษัทใหม่ ทำบุญครบรอบบริษัท เป็นต้น รวมทั้งให้เช่าอุปกรณ์ในการจัดงานด้วย

และล่าสุดยังมีการขยายไลน์รับถ่ายภาพนิ่งและวีดิโอ โดยขั้นตอนการทำงานนั้นหลังจากพูดคุยกับลูกค้าเรื่องคอนเซปต์ของงานทำบุญแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเตรียมจัดสถานที่ก่อนวันงาน และเมื่อถึงวันงาน จะมีเจ้าหน้าที่ 2 คนไปเป็นแม่งานที่ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างจนจบ

จุดแข็งและจุดขายของออแกไนซ์รายนี้อยู่ที่การครีเอทีฟรูปแบบของงาน ที่พยายามให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด การจัดงานที่สวยงาม รวมถึงการเก็บรายละเอียดของงานได้อย่างละเมียด ด้วยสนนราคาเริ่มต้นที่หมื่นกว่าบาท และราคาสูงสุดที่เคยรับจัดคือแสนกว่าบาท

งานบุญเบ่งบาน เงินสะพัด

กฤตได้ตั้งข้อสังเกตถึงธุรกิจออแกไนซ์งานทำบุญว่าจะมีอนาคตที่สดใส โดยเฉพาะการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ “ผมอยู่นครปฐม เฉพาะเส้นทางที่ผมขับรถผ่านประจำก็มีหมู่บ้านเกิดใหม่ขึ้นเป็นพันๆ หลัง แน่นอนว่าเจ้าของบ้าน แทบทุกหลังจะให้มีการจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ถ้าผมรับทำวันละ 1 บ้านก็แทบจะไม่มีเวลาเหลือแล้ว โดยสิ่งที่ออแกไนเซอร์เข้าไปช่วยคือ การตอบโจทย์เรื่องการให้ความสะดวกสบายแก่เจ้าภาพของงาน”

กฤตมองการเข้ามาทำธุรกิจรับจัดงานศาสนพิธีแบบนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่มีเงินลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีสงฆ์ ยิ่งถ้ามีเงินทุนมากก็สามารถซื้ออุปกรณ์หลายชุดที่เน้นความหรูหราสวยงามได้ เพราะงานศาสนพิธีนั้นค่อนข้างเป็นแพทเทิร์นตายตัวอยู่แล้ว

ไม่เพียงสองสามีภรรยาคู่นี้ หรือห้างสังฆภัณฑ์เท่านั้น ที่เห็นช่องทางการรับจัดงานศาสนพิธี แต่มีผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจนี้จำนวนไม่น้อย โดยมีทั้งบริษัทระดับกลางและรายเล็ก ส่วนออแกไนเซอร์ระดับยักษ์ใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาขอแชร์เค้กก้อนนี้

การมีผู้ประกอบการจำนวนมาก จึงกลายเป็นทางเลือกให้ลูกค้ามีโอกาสพิจารณาออแกไนเซอร์ที่ถูกใจที่สุด สงครามราคาตอนนี้ไม่รุนแรงมากนัก เพราะลูกค้าหลายรายจะเข้าเว็บไปเช็คราคา ดูรูปแบบของงานแล้วค่อยตัดสินใจ แต่ในระยะยาวถ้าการแข่งขันรุนแรงขึ้น กฤตวิเคราะห์ถึงการแข่งขันการรับจัดงานศาสนพิธีในอนาคตว่า

“ผมมองว่าในที่สุดแล้ว งานออแกไนซ์แบบนี้จะไม่แข่งกันด้วยการตัดราคาเพราะจะพากันเจ๊ง แต่จะแข่งด้วยความเป็น “มืออาชีพ”มากกว่า ต้องพร้อมทั้งอุปกรณ์และที่สำคัญ ทีมงานต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ เพราะการทำงานไม่ควรจะมีข้อผิดพลาด หรือถ้าผิดก็ต้องให้น้อยที่สุด”

ทั้งนี้ เพราะงานจัดเลี้ยงไม่ว่าในวาระใดก็ตาม เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากมายจุกจิก ขึ้นอยู่กับความสามารถของออแกไนเซอร์ว่าจะจัดการกับทุกรายละเอียดได้ดีเพียงใด และในที่สุด งานทำบุญก็จะเหมือนกับงานอีเว้นท์อื่นๆ ที่อาจเริ่มหนีรูปแบบจำเจออกไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น “ความคิด สร้างสรรค์” จะเข้ามามีบทบาท ในการแข่งขันมากขึ้นด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย ปาณี ชีวาภาคย์)







คุณสกล  แสงมณี
คุณธนกฤต - คุณธัญญพัทธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น