xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตนๆ

บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคม...

คนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเอง ให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง...

...คนทำงานดีคือคนมีระเบียบ ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ ผู้ไม่ฝึกระเบียบไว้ ถึงจะมีวิชา มีเรี่ยวแรง มีความกระตือรือร้น อยู่เพียงไร ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ เพราะความคิดอ่านสับสนว้าวุ่น ทำอะไรก็ไม่ถูกลำดับขั้นตอน มีแต่ความลังเล และขัดแย้ง ทั้งในความคิด ทั้งในการปฏิบัติงาน...

...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด คิดอันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...

...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือการรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติ อยู่ในความสัจ ความดีนั้น

ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้า ต่อไปได้ดังประสงค์...

...การล้มเลิกทำลายทุกสิ่งทุกอย่างด้วยวิธีการอันรุนแรงนั้น ย่อมทำความปั่นป่วนและแตกร้าวให้เกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตและประเทศชาติ กล่าวคือ การทำลายนั้นจะทำให้ความต่อเนื่องของโครงงานต่างๆ ขาดตอนลง ความแตกร้าวจะทำให้เสียกำลังคนดีที่จะมาร่วมงานเป็นประโยชน์ ในที่สุด กำลังทั้งปวงของส่วนรวมจะลดถอยจนเสื่อมสลายไป...


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น