xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...คุณสมบัติ หรือจะเรียกให้ตรงว่าคุณธรรม ที่ทุกคนควรจะตั้งไว้ประจำใจให้มั่นเสมอประการหนึ่ง ก็คือการรู้จักคิดพิจารณาให้จนกระจ่างชัด

ไม่ว่าจะพิจารณาเรื่องราว ปัญหา สถานการณ์ หรือแม้บุคคลใดๆก็ตาม ก็พยายามพิจารณาด้วยจิตที่มั่นคงเป็นกลาง ไม่หวั่น ไม่สะเทือน ด้วยอคติ เพื่อจิตใจที่มั่นคงเป็นกลางนั้น จักได้ประคับประคองความคิดความเห็นให้พุ่งตรงเข้าสู่สาระ คือแก่นและความสำคัญของเรื่อง

ทั้งจับเหตุจับผลของเรื่องนั้นๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องถึงกันและกันเป็นกระบวนการ ได้ทั้งหมดทุกขั้นตอน ทำให้ความรู้ความเห็นในเรื่องที่จะพิจารณากระจ่างแจ่มแจ้ง และสามารถจำแนกแจกแจงประเด็น ได้โดยถูกต้องแม่นยำ ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว สิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ อย่างไร เพียงใด

การทำความรู้ความคิดให้แจ้งนี้ คือ ปัญญา ซึ่งมีอุปการะแก่การปฏิบัติตัวปฏิบัติงานเป็นอันมาก เพราะเป็นปัจจัยสร้างสรรค์ความดีความเจริญทุกอย่างได้อย่างวิเศษสุด...

...ในการสร้างสรรค์ความเจริญนั้น นอกจากจะต้องอาศัยวิทยาการที่ดีแล้ว บุคคลยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เกื้อหนุนด้วยอีกหลายอย่าง

อย่างหนึ่งจะต้องอาศัยความเป็นคนดี คือความเป็นคนที่สะอาดสุจริตในการกระทำและความคิด ทั้งมีปัญญา ความฉลาดรู้ในเหตุในผล ในความเจริญความเสื่อม

อีกอย่างหนึ่งจะต้องอาศัยความขยันหมั่นปฏิบัติด้วยความเอาใจ ใส่ ความเพ่งพินิจ และความละเอียดรอบคอบ ไม่ประกอบกิจการงานโดยประมาทหละหลวม

ประการสำคัญจะต้องอาศัยการปฏิบัติที่ถูกต้องและพอเหมาะพอดีในงานทั้งปวง เพราะงานทุกอย่างย่อมมีแนวทาง ขั้นตอน และกระบวนการที่แน่นอนสำหรับปฏิบัติอยู่ ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องเพ่งพิจารณาให้เห็น และปฏิบัติให้ถูก ให้ตรง ให้พอเหมาะ จึงจะทำให้งานสำเร็จผลสมบูรณ์ได้ ...

...จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยายามสร้างสมความดีงาม ความเจริญ ความสำเร็จ ในทาง ที่ถูกต้อง เป็นธรรม มีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี

จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำ ให้เป็นคนมักง่าย ทำงานบกพร่องเสียหาย อย่างมาก ก็ทำให้เป็นคน ด้านหนาไร้ความอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหนก็เกิดอันตราย ที่นั่น

ท่านจึงสอนให้สังวรระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทันที นอกจากนี้ ก็ต้องฝึกหัดบำรุงใจให้เข้มแข็งและประณีตขึ้น เพื่อรับเอาความดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ก้าวถึงความสุขและความเจริญมั่นคง

การฝึกใจให้เข้มแข็งนี้ ถึงหากจะรู้สึกว่าเป็นการเหนื่อยยาก แต่ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนโดยสม่ำเสมอให้เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ ไม่ช้านานก็จะเกิดกำลังแข็งแรง เกิดความชำนาญ คล่องแคล่ว จนสามารถทำความดีได้ง่ายขึ้น ไม่เหนื่อยยากเลย...


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น