พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงนี้ เป็นปางหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้นิยมสร้างเท่าใดนัก โดยปางนี้สร้างขึ้นตามพุทธประวัติที่ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ว่า
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา
“พวกเจ้ามัลละได้ห่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระผู้มีพระภาคด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำจิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน แล้วจึงเชิญพระสรีระพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาร ฯ”
แต่เมื่อมัลลปาโมกข์ ๔ องค์ สระสรงเกล้าแล้วทรงนุ่งผ้าใหม่ เพื่อนำเพลิงเข้าไปจุดที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่สามารถจุดเพลิงให้ติดได้ พวกเจ้ามัลละเห็นอัศจรรย์เช่นนั้น จึงได้ถามพระอนุรุทธะว่า
“ข้าแต่ท่านอนุรุทธะ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ที่ให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ ผู้สระสรงเกล้าแล้ว ทรงนุ่งผ้าใหม่ ด้วยตั้งใจว่า เราจักยังไฟให้ติดจิตกาธาร ก็มิอาจให้ติดได้ฯ”
พระอนุรุทธะจึงกล่าวว่า ความประสงค์ของพวกท่านอย่างหนึ่ง ของพวกเทวดาอย่างหนึ่ง ความประสงค์ของพวกเทวดา คือ ท่านพระมหากัสสปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป กำลังเดินทางไกลจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสินารา ทำให้จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคยังไม่ลุกโพลงขึ้น จนกว่าท่านพระมหากัสสปจะถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาค
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงชุดที่ ๑ ซึ่งนำมาให้ชมนี้ เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถบรรทมหงาย พระกรทั้งสองวางทาบบนพระนาภี (ท้องหรือสะดือ) แต่บางแบบนั้นพระกรวางแนบพระวรกาย
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย กานต์ธีรา)