xs
xsm
sm
md
lg

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“...การทำดีนั้น คำรวมๆ นี้ฟังดูแล้วก็ง่าย เพราะคำว่าดีมันสั้นมาก แต่คำว่าดีต้องตีความให้กว้างขวาง ถ้าเขียนเป็นหนังสือก็คงเขียนเป็นเล่มใหญ่ แต่นึกดูว่าทุกคนก็ย่อมเข้าใจว่าดีคืออะไร ชั่วคืออะไร เพียงแต่ว่าบางทีก็ลืม ถ้าไม่ลืมก็นับว่าเป็นคนดี ถ้าลืมก็อาจจะตกเป็นคนชั่วได้ เพราะว่าเมื่อลืมความดีแล้วความชั่วเข้ามาแทนที่

ฉะนั้น การฝึกจิตให้ทำแต่ความดีนั้น เบื้องต้นก็จะต้องตั้งจิตให้ดี ตั้งจิตให้ดีหมายความว่า คิดเป็นกลาง อย่าเพิ่งนึกว่าตอนแรกจะต้องคิดทำโครงการอะไรๆ ตั้งจิตให้เป็นกลางก่อน แล้วก็จะเห็นว่าอันไหนเป็นของดี อันไหนเป็นของไม่ดี เมื่อเห็นเป็นของดีแล้วก็จะต้องปักใจมุ่งทำแต่ความดีนั้น...”

“...วินัย แท้จริงมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือวินัยตามที่ทราบกันและถือกัน อันได้แก่ ข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้ถือปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่งคือวินัยในตนเอง ที่แต่ละคนจะต้องบัญญัติขึ้นสำหรับควบคุมบังคับให้มีความจริงใจ และให้ประพฤติปฏิบัติตามความจริงใจนั้นอย่างมั่นคง มีลักษณะเป็นสัจจาธิษฐาน หรือการตั้งสัตย์สัญญาให้แก่ตัว วินัยอย่างนี้จัดเป็นตัววินัยแท้ เพราะให้ผลจริงและแน่นอนยิ่งกว่าวินัยที่เป็นบทบัญญัติ ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลให้การถือการใช้วินัยที่เป็นบทบัญญัติ นั้นได้ผลเที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์เต็มเปี่ยมตามเจตนารมณ์

สำคัญที่วินัยในตนเองนี้จะต้องบังเกิดขึ้นจากการที่ได้ยั้งคิดแล้ว ได้ใช้สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด พิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียด รอบคอบแล้ว จนเห็นประจักษ์ในเหตุในผลที่แน่แท้

และเมื่อเป็นวินัยที่กลั่นกรองขึ้นจากสติปัญญาความฉลาดรอบคอบ ก็ย่อมจะทำให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ทรงความศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองป้องกันผู้ปฏิบัติให้พ้นจากภัยอันตรายและเหตุแห่งความเสื่อมเสียทั้งปวงได้ ทั้งทางกายทางใจ พาให้เจริญรุ่งเรือง พร้อมด้วยศักดิ์ศรี เกียรติ อำนาจ ทุกประการ...”

“...ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน

นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใด ก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น

ความจริงใจอย่างสำคัญยังมีอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ ความจริงใจต่อตนเอง เช่น เมื่อได้ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติในความดีอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องติดตามรักษาความตั้งใจที่จะกระทำดังนั้นให้ได้ตลอดไป

คนที่รักษาความจริงใจต่อตนเองไว้ได้มั่นคง จะไม่เป็นคนสับปลับ หากแต่เป็นคนที่หนักแน่นเที่ยงตรง ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ตามระเบียบ ตามเหตุผลและความถูกต้องเป็นธรรม จึงเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์และสร้างสมความดีความเจริญให้งอกงามเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นได้ ไม่มีวันถอยหลัง...”


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น