xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : การ "ขจัดทุกข์" ด้วยตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเกิดทุกข์มากๆ ผลที่ตามมาไม่ได้มีต่อจิตใจหรืออารมณ์เท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อร่างกายและความเป็นอยู่ทุกอย่างของเราด้วย เช่น คนส่วนใหญ่จะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือบางคนอาจจะกินมากขึ้น นอนมากกว่าปกติ ไม่อยากพูดกับใคร ไม่อยากทำงาน หรือทำงานไม่ได้เพราะจิตใจว้าวุ่น ถ้าเรารู้สึกว่าทุกข์มาก กลุ้มมาก ควรจะขจัดออกไปให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

• ต้องยอมรับว่า
เรามีความทุกข์ต้องรีบแก้ไข

หาสาเหตุของความทุกข์นั้น
ว่าเราทุกข์เรื่องอะไร ใครที่ทำให้เราทุกข์ และตัวเรามีส่วนทำให้เกิดความทุกข์เองด้วยหรือไม่ เช่น คนรักทิ้งเราไป ตัวเขาเป็นสาเหตุให้เราทุกข์ใจ แต่อาจมีสาเหตุมาจากเราด้วยหรือไม่ เป็นต้นว่า เราดูแลเขาดีพอหรือเปล่า เราทำให้เขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเราหรือไม่ หรือเราให้ความสำคัญต่อเขามากกว่าตัวเราหรือเปล่าจนทำให้เรารู้สึกแย่ หมดคุณค่าเมื่อเขาทิ้งเราไปทั้งๆ ที่เราก็ยังมีอะไรดีๆ อีกหลายอย่าง

ระบายความทุกข์ โดยพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ที่รับฟังเรา ไม่ต้องกลัวเขาจะว่าเราอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ถ้าเราไม่ได้ระบายความทุกข์ออกบ้างต้องเก็บไว้คนเดียวเราจะรู้สึกอึดอัด แต่ถ้าได้พูดให้ใครฟังบ้าง เรื่องความทุกข์นั้นจะรบกวนความรู้สึกนึกคิดของเราน้อยลง จะทำให้เรามองเห็นทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น เรื่องอะไรเราจะเก็บความทุกข์เอาไว้คนเดียว

หากิจกรรมทำ เพื่อให้เหนื่อยและเป็นการดึงความคิดเกี่ยวกับความทุกข์ออกไปจากตนเองและช่วยให้หลุดพ้นจากวังวนความคิดด้วยตนเอง ถ้ามีงานทำอยู่แล้วก็ควรทุ่มเทกับงานให้มาก เช่น ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย

ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น เปลี่ยนจากสถานที่ที่จำเจชั่วคราวเพื่อช่วยให้รู้สึกสบายใจ หาคนสนับสนุน อาจจะเป็นการยากลำบากสักหน่อยในการกลับเข้าไปหากลุ่มเพื่อน เพราะเรากลัวว่าเขาจะรู้เรื่องของเรา กลัวเขาประณาม กลัวถูกว่าเราแปลกไปจากเดิม แต่ถ้าเราสามารถเข้ากลุ่มเพื่อนได้ เราจะรู้สึกว่ากลุ่มสามารถช่วยทำให้จิตใจเราดีขึ้นและอาจจะช่วยเราแก้ปัญหาได้ด้วย

เมื่อเราพยายามช่วยตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว ยังรู้สึกไม่ดีขึ้นหรือทนความทุกข์ไม่ได้ ก็ควรจะไปพบผู้ที่มีความรู้ที่สามารถให้การช่วยเหลือเราได้ที่สถานบริการสาธารณสุขต่างๆ ที่ใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่ให้บริการด้านนี้

• จงละเว้นการแก้ปัญหาแบบต่างๆ ต่อไปนี้

อย่าแก้ปัญหาแบบวู่วามใช้อารมณ์เป็นใหญ่
เมื่อเจอปัญหาให้พยายามสงบสติอารมณ์อย่างเพิ่งเอะอะโวยวาย ให้หายใจช้าๆ ลึกๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือนับ 1-10 ก่อนจะตอบโต้อะไรออกไป จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังกับสิ่งที่ได้ทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ

อย่าหนีปัญหา แล้วหันเข้าหาบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน การเที่ยวกลางคืน ฯลฯ เพื่อช่วยให้สบายใจขึ้นชั่วคราว

จงกล้าเผชิญปัญหา และอย่าผัดวันประกันพรุ่ง รีบแก้ปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ค้างคาอยู่เป็นเวลานาน เพราะความเครียดจะสะสมมากขึ้นด้วย

อย่าคิดแต่จะพึ่งพาผู้อื่นอยู่ร่ำไป จงถือคติ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หัดใช้ความสามารถของตัวเองบ้าง แล้วจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ถ้าปัญหานั้นเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ และลองใช้ความสามารถของตัวเองแล้ว ก็ยังไม่ได้ผล การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่พึงทำได้

อย่าเอาแต่ลงโทษตัวเอง คนเราทำผิดกันได้ ถ้าพลาดไปแล้ว จงให้โอกาสตัวเองที่แก้ไขและอย่าได้ทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำอีก การเฝ้าคิดลงโทษตัวเองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกจากความทุกข์ใจเท่านั้น

อย่าโยนความผิดให้คนอื่น จงรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำร่วมกัน การปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบ โดยโยนความผิดให้คนอื่น ไม่ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะก่อความแตกแยกให้มากขึ้นเท่านั้น

จงแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ใช้เหตุผลและใช้ความคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยคิดหาสาเหตุของปัญหาด้วยใจเป็นธรรม ไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่โทษคนอื่น

คิดหาวิธีแก้ปัญหาหลายๆวิธี ถ้าคิดเองไม่ออกอาจปรึกษาผู้ใกล้ชิดหรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ลงมือแก้ปัญหาตามวิธีที่คิดไว้ อาจต้องใช้ความกล้าหาญ อดทน หรือต้องใช้เวลาบ้าง อย่าได้ท้อถอยไปเสียก่อน ประเมินผลดูว่าวิธีที่ใช้ได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผลก็เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นๆ ที่เตรียมไว้จนกว่าจะได้ผล

• แก้ปัญหาได้ก็หายทุกข์

สาเหตุของความทุกข์ใจมาจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ระดับของความทุกข์ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของปัญหา ในช่วงที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จะรู้สึกเครียดมากทุกข์มาก เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ความเครียด ความทุกข์ใจ ก็จะหมดไป

เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น

(จากคู่มือดูแลตนเอง เรื่อง ทำอย่างไรเมื่อใจเป็นทุกข์)

คิดอย่างไร? ไม่ให้ทุกข์

ความคิด เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเกิดความทุกข์ ยิ่งคิดมากก็ทุกข์มาก หากรู้จักคิดให้เป็นก็จะช่วยให้ลดความทุกข์ไปได้มาก

วิธีคิดที่เหมาะสม ได้แก่

1. คิดในแง่ยืดหยุ่นให้มาก อย่าเอาแต่เข้มงวด จับผิด หรือตัดสินผิดถูกตัวเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จงละวาง ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ลดทิฐิมานะ รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคือง หัดลืมเสียบ้าง ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น

2. คิดอย่างมีเหตุผล อย่าด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ แล้วเก็บเอามาคิดวิตกกังวล ให้พยายามใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนนอกจากจะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกได้ง่ายๆแล้ว ยังตัดความกังวลได้ด้วย

3. คิดหลายๆ แง่มุม ลองคิดหลายๆ ด้าน ทั้งด้านดี และด้านไม่ดี เพราะไม่ว่าคนหรือไม่ว่าเหตุการณ์อะไรก็ตามย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดีประกอบกันทั้งนั้น อย่ามองเพียงด้านเดียวให้ใจเป็นทุกข์ นอกจากนี้ควรหัดคิดในมุมของคนอื่นบ้าง เช่น สามีจะคิดอย่างไร ลูกจะรู้สึกอย่างไร เจ้านายจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เป็นต้น จะช่วยให้มองอะไรได้กว้างไกลกว่าเดิม

4. คิดแต่เรื่องดีๆ ถ้าคอยคิดถึงแต่เรื่องร้ายๆ เรื่องความล้มเหลว ผิดหวังหรือเรื่องไม่เป็นสุขทั้งหลายก็ยิ่งทุกข์ไปใหญ่ ควรคิดถึงเรื่องดีๆ ให้มากขึ้น เช่นคิดถึงประสบการณ์ที่เป็นสุขในอดีต ความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชยที่ได้รับ ความดีของคู่สมรส ความมีน้ำใจของเพื่อน ฯลฯ จะช่วยให้สบายใจมากขึ้น

5. คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดหมกมุ่นอยู่กับตัวเองเท่านั้น เปิดใจให้กว้าง รับรู้ความเป็นไปของคนใกล้ชิด และใส่ใจที่จะช่วยเหลือ สนใจปัญหาของผู้คนในสังคมบ้าง บางทีคุณอาจจะพบว่าปัญหาที่คุณกำลังเป็นทุกข์อยู่นี้ ช่างเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับปัญหาของคนอื่นๆ คุณจะรู้สึกดีขึ้น และยิ่งถ้าคุณช่วยเหลือคนอื่นได้ คุณจะสุขใจขึ้นเป็นทวีคูณด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)

กำลังโหลดความคิดเห็น