• 4 วิธี ลดอันตรายจากควันธูป
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาศิริราช มูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวถึงอันตรายจากควันธูปว่า จากผลการวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่าในธูปมีสารก่อมะเร็งถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน อันเป็นภัยเงียบ ที่แฝงตัวอยู่ในควันธูป นอกจากนี้ยังมีสารที่ก่อให้เกิดควันพิษ ทำให้ระคายเคือง แสบตา แสบจมูก สำหรับผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารสารเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ อีกทั้งธูป 1 ดอก ที่ถูกจุดมีปริมาณสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากการจุดบุหรี่ 1 มวน ยังไม่นับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีข้อแนะนำเรื่องนี้ 4 ข้อ คือ 1. ควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปบริเวณอากาศไม่ถ่ายเท หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตูหน้าต่าง สำหรับศาสนสถานต่างๆ ควรตั้งกระถางธูปไว้นอกศาลาโบสถ์ หรือศาลเจ้า 2.ควรใช้ธูปสั้นแทนธูปขนาดยาวๆ 3. เมื่อเสร็จพิธีสักการะควรดับ หรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น 4. เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาสนสถาน สัมผัสควันธูปตลอดเวลา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันธูปเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง ควรใช้ถุงมือในการจับ และหลังสัมผัสธูปควรล้างมือล้างหน้าล้างตาให้บ่อยขึ้น และควรไปตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีอย่างต่อเนื่อง
• โรคเหงือก อันตรายกว่าที่คิด
นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า เมื่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหงือก เคี้ยวหรือแปรงฟัน อาจทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เกาะกันเป็นก้อน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
นักวิจัยจากแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า การดูแลสุขภาพฟันเป็นสิ่งสำคัญและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาของโรคปริทันต์ และช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ก่อนกำหนด โรคมะเร็ง ต่อมลูกหมาก และโรคมะเร็งเต้านมได้
หากผู้ป่วยโรคเหงือกไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดเป็นโรคเรื้อรัง นำไปสู่การสูญเสียฟัน และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกายได้
นักวิจัยกล่าวว่านอกจากการแปรงฟันทุกวันแล้ว ควรใช้ไหมขัดฟัน และผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกปี
• วิจัยพบหญิงวัยทอง
มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจต่ำ
นักวิจัยสหรัฐพบผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีอาการร้อนวูบวาบ เมื่อเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนนั้น มักจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจต่ำ
จากการศึกษายาวนานร่วมสิบปีของนักวิจัยสถาบัน Women’s Health Initiative พบว่า อาการร้อนวูบวาบ ตื่นกลางคืนและเหงื่อออกมาก เชื่อว่าเกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นอาการปกติ ของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง และแม้ว่าจะไม่พบในผู้หญิงบางกลุ่มนั้น ในกลุ่มผู้ที่มีอาการดังกล่าวเร็ว นักวิจัยพบว่ามักจะมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจต่ำ
อย่างไรก็ตาม ดร.Emily Szmuilowicz นักวิจัยจากโรงพยาบาล Northwestern Memorial หัวหน้าผู้วิจัยกล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมาระบุว่า การเข้าสู่ภาวะวัยทองเร็ว เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น
“งานวิจัยนี้สร้างแนวความคิดใหม่ให้แก่ผู้ที่เข้าสู่วัยทอง แม้ว่าอาการร้อนวูบวาบนี้จะเป็นอาการที่ไม่ค่อยสบายกายมากนัก แต่ก็อาจเพิ่มความอดทนให้แก่พวกเธอมากขึ้น” นักวิจัยกล่าว
• เตือนน้ำอัดลมไดเอต
มีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจ
ผลการศึกษาประชาชนกว่า 2,500 คน พบว่า คนที่กินเครื่องดื่มชนิดไดเอตทุกวัน มีโอกาสเพิ่มขึ้น 61% ที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มน้ำอัดลมเลย
ฮันนาห์ การ์เดเนอร์ นักระบาดวิทยาแห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไมอามี ผู้ทำวิจัยกล่าวว่า หากผลการศึกษานี้ได้รับการยืนยัน จากงานวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต ก็แปลว่าเครื่องดื่มโซดาไดเอต อาจไม่ใช่เครื่องดื่มสำหรับทดแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หากคำนึงถึงการป้อง กันโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลวิจัยซึ่งเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติของสมาคมโรคหลอดเลือดสมองอเมริกันในลอสแองเจลีสชิ้นนี้ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยไมอามี โดยผู้เข้าร่วม 2,564 รายให้ข้อมูลว่า พวกตนดื่ม น้ำอัดลมชนิดไดเอตหรือน้ำอัดลมทั่วไป หรือดื่มทั้งสองอย่าง หรือว่าไม่ดื่มเลย
ดร.การ์เดเนอร์ บอกว่า ต้องมีการศึกษาเพิ่ม เติมในประเด็นที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มชนิดไดเอต จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างไร
ดร.ชาร์ลิน อาเหม็ด แห่งสมาคมโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้พบว่า การดื่มน้ำอัดลมชนิดไดเอตเป็นประจำ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้เท่า กับหรือมากกว่าน้ำอัดลมทั่วไป
“ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้โดยบริโภคอาหารให้ครบทุกหมู่ มีไขมันอิ่มตัวและไขมันต่ำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” ดร.อาเหม็ดกล่าว
• แนะวิธีสมองเฉียบแหลมได้แม้วัยชรา
การเปิดโอกาสให้สมองได้ออกกำลังกาย คือสิ่งสำคัญที่ควรกระทำเช่นเดียวกับการออกกำลังกายของร่างกาย เพราะจะช่วยคงไว้ซึ่งความเฉียบแหลมของความคิดและสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งThe Cleveland Clinic หนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำของอเมริกา ได้แนะวิธีไว้ดังต่อไปนี้
พยายามทำกิจกรรมที่ท้าทายสมอง เช่น ปริศนาอักษรไขว้, เข้าเรียน หรือสร้างบางสิ่งบางอย่าง, จดบันทึกรายการที่ต้องทำเพื่อช่วยให้จำนัดหมายและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำ, เมื่อต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องมั่นใจว่าไม่อยู่ในภาวะฟุ้งซ่าน ควรให้ความสนใจต่อสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และพยายามใช้ทุกประสาทสัมผัสในการสร้างความคุ้นเคยกับเรื่องเหล่านั้น, แบ่งกิจกรรมออก เป็นหลายๆ ขั้นตอนและยืดขยายเวลาออกเป็นหลายวัน ตัวอย่างเช่น ใช้เวลา 2-3 ช.ม. เพื่อเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ, ควรมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ, นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และลดความเครียดเท่าที่จะสามารถทำได้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย ธาราทิพย์)