xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : "นางเอก" ในชีวิตจริง "หนิง" ปณิตา พัฒนาหิรัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทบาทในละครโทรทัศน์ที่ได้รับ เธอคือ “นางร้าย” แต่ในชีวิตจริง หลายเสียงบอกว่าเธอคือ “นางเอก” สำหรับ “หนิง” ปณิตา พัฒนาหิรัญ เพื่อนรักเพื่อนซี้ของ “นุ่น” วรนุช วงษ์สวรรค์ นางเอกเจ้าบทบาท

“คนใกล้ตัวมักจะบอกว่า หนิงกับในละครไม่เหมือนกัน และคนส่วนใหญ่ก็มักจะพูดกันอย่างนี้ถ้ามีโอกาสเข้ามาสัมผัสและรู้จักตัวจริงของหนิง” เจ้าของรางวัลเมขลา ปี 2544 ประเภทดาวร้ายหญิง จากละครเรื่อง “แม่ค้า” เปิดปากเล่า

“ธรรมลีลา” รู้มาว่า เธอเป็นดาราที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าคนหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า

“พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า เราไม่ต้องทำงาน แต่งานที่ทำ ต้องทำอย่างมีสติ และขึ้นอยู่กับกาลเวลาที่ควรจะทำ ถ้าหนิงปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะเล่นบทนางร้าย และถ่ายแบบเซ็กซี่ไม่ได้ นี่คือหน้าที่การงานของหนิง

ดังนั้น หนิงจะต้องทำงานให้ดี พอเสร็จจากงานปุ๊บ งานมันก็คืออดีตไปแล้ว ส่วนปัจจุบันคือการที่หนิงได้เป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรเพื่อพ่อแม่ และครอบครัว

ในชีวิตของคนคนหนึ่ง มันมีรายละเอียดอีกมากมาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นตัวเราจากภาพรวมที่ปรากฏผ่านสื่อ เหมือนกับการที่ใครสักคน เอาปากกาไปขีดไว้บนกระดาษขาว คนก็มักจะมองเห็นได้ชัดแค่จุดดำเพียงจุดเดียว แต่จริงๆแล้ว พื้นที่ของสีขาวมันยังมีอีกเยอะแยะ แต่คนไม่เลือกที่จะมอง”

ชีวิตของเธอคนนี้ เริ่มเอนเอียงเข้าหาธรรมะเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงเวลาที่เธอรู้สึกว่าชีวิตกำลังอยู่ในภาวะที่สับสนกับหลายๆอย่าง แต่เมื่อได้รู้จักกับญาติธรรมคนหนึ่ง ผู้ที่เธอเรียกติดปากว่า “ซ้อเล็ก” ซึ่งซ้อเล็กคนนี้นี่เองที่คอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ชี้ทางที่ถูกที่ควรให้กับเธอ และชวนเธอไปปฏิบัติธรรม หลังจากนั้นเธอจึงได้เริ่มต้นนำธรรมะมาปรับใช้กับชีวิตอยู่ตลอด

“ไม่รู้ว่าด้วยบุญหรือด้วยอะไร แต่มันถูกชะตากันแล้ว อยู่ๆหนิงก็เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง ตั้งแต่นั้นมา ซ้อเล็กจึงกลายเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดของหนิง เวลาที่มีปัญหาก็จะโทรไปคุยเพื่อปรึกษา เขาเป็นคนที่ให้ธรรมะแก่หนิงมาโดยตลอด และเป็นคนที่แนะนำหนิงว่า ลองไปปฏิบัติธรรมดีไหม แล้วชีวิตจะดีขึ้น

ตอนนั้นหนิงยังไม่ได้คิดอะไรมาก อะไรก็ได้ที่จะช่วยให้ฉันหนีไปจากความรู้สึกที่ว่า ฉันเบื่อมาก ฉันเซ็งมาก และคิดว่าการไปลองปฏิบัติธรรมมันไม่ได้มีอะไรที่เสียหาย หนิงอาจจะเป็นคนที่โชคดีด้วย ตรงที่ไม่ใช่เป็นคนที่ชอบลังเล สงสัย ชอบทำตัวเองเป็นน้ำที่ใสๆตลอดเวลาอยู่แล้ว

ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณคุณแม่ของหนิงด้วย เพราะท่านมักจะสอนเสมอว่า เราต้องทำตัวเป็นน้ำใสในแก้วที่ยังสามารถเติมเต็มได้ตลอด ดังนั้น พอมีคนมาจุดประกายให้รู้จักธรรมะ ชีวิตของหนิงก็เลยค่อยๆถูกธรรมะเติมเต็มมาเรื่อยๆ”

ที่ผ่านมาจึงกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ที่เธอจะต้องแบ่งเวลาจากงานแสดง เพื่อเดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น เป็นประจำทุกปี และทุกเวลาที่มีโอกาส อีกทั้ง 2-3 ปีมานี้ เธอยังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมธรรมะให้กับผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นน้องด้วย

ส่งผลให้ชีวิตของเธอ ในยามที่มีปัญหาเข้ามากระทบ แต่กลับไม่กระเทือน เพราะเธอได้สะสมภูมิคุ้มกันชีวิตไว้มากพอสมควร ตัวอย่างเช่น ในคราวที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผา และธุรกิจของเธอได้มอดไหม้ไปกับกองเพลิงด้วย แม้จะถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ แต่เธอกลับรู้สึกว่าชีวิตไม่รู้สึกเป็นทุกข์ มากเท่ากับที่เคยทุกข์กับปัญหาเล็กๆที่เคยเจอมาในอดีต

“หนิงมีวัคซีนในเรื่องของอาหารใจมากพอสมควร จึงทำให้เวลาที่เจอปัญหา จะคอยบอกตัวเองเสมอว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าดู สักแต่ว่าพอ ทุกข์ได้ไหม ทุกข์ได้ แต่ท้ายที่สุดต้องบอกตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจุบัน คือ ธุรกิจมันถูกทำลายไปแล้ว เราทำอะไรไม่ได้แล้ว สติจะคอยมาเตือนว่า แล้วเราจะต้องทำอะไรให้มันดีขึ้น ใจของหนิงจึงไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ว่า ปัจจุบันเราต้องทำอะไรให้มันดีขึ้น มันก็เลยทำให้หนิงรู้สึกว่า เป็นทุกข์กับปัญหาน้อยมากค่ะ”

เธอก็ไม่ต่างจากชาวพุทธอีกหลายๆคน ที่ชีวิตนี้ขอให้ได้ไปเยือน 4 สังเวชนียสถาน อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ประเทศเนปาลและอินเดียสักครั้ง และปีนี้เธอเพิ่งได้ไปเยือนเป็นครั้งแรก พร้อมกับ “นุ่น” เพื่อนรัก และพี่ป้าน้าอาชาวคณะร่วม 10 คน โดยมีเพื่อนสนิทที่เคยไปเยือนมาแล้วเป็นคนจัดทริปให้ ว่าต้องไปแวะจุดไหนบ้าง

“มันเริ่มมาจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หนิงเคยคุยกับคุณนุ่น ว่าเราอยากที่จะไป แล้วช่วงเวลาที่จะไปให้ตรงกับเทศกาลของประเทศอินเดีย หนึ่งปีก็มีให้ไปได้แค่ 2-3 ช่วงเท่านั้น ที่ผ่านมาทั้งหนิงและคุณนุ่นพอตั้งใจว่าจะไปๆกัน บางครั้งตั๋วก็ไม่ได้ หรือไม่ก็คิวไม่ตรงกัน แต่ครั้งนี้ที่เราไปกันได้ เพราะเราล็อคคิวเอาไว้ล่วงหน้าก่อนเลย และบอกกันเอาไว้ว่า ไม่ว่าเราทั้งสองคนจะมีงานอะไรเข้ามาก็แล้วแต่ เราก็จะปฏิเสธ จะไปอินเดียกันให้ได้ โดยมีเพื่อนที่เคยไปมาแล้ว ช่วยจัดทัวร์ให้

เป็นครั้งแรกที่หนิงได้ไปอินเดีย และหวังว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย นอกจาก 4 สังเวชนียสถาน หนิงยังได้ไปเยือนวัดไทยแทบทุกวัด มีเพียงวัดไทยเชตวันมหาวิหาร วัดเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ไป เพราะว่าท่านเจ้าอาวาสท่านมาเป็นไกด์ เป็นวิทยากรให้กับคณะเรา ทุกที่ที่ได้ไป รู้สึกประทับใจ หนิงคุยกับคุณนุ่นเอาไว้ว่า ต่อไปนี้เราจะหาเวลาไปอินเดียให้ได้ปีละครั้ง”

เพราะสิ่งที่เธอได้รับรู้จากการไปอินเดียในครั้งนี้คือ

“หนิงได้รับรู้เรื่องของความลำบาก แต่ใจกลับไม่ทุกข์ ได้รู้ว่าความสุขหรือความทุกข์ มันอยู่ที่ใจเราเป็นคนกำหนด จากที่เราเคยคิดกันว่าอีสานบ้านเรายากจนแล้ว ทางโน้นหนักกว่าเราอีกร้อยเท่า ไม่ว่าจะเรื่องของหยูกยาหรือเรื่องของสถานพยาบาล ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเมืองไทยเลย เป็นแรงบันดาลใจให้หนิงอยากจะทำพระเครื่ององค์เล็กๆให้คนเช่าไปบูชา เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนสร้างสถานพยาบาล แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงประสานงานและดำเนินการ ว่าเราจะทำกันอย่างไร

วัตถุมงคลมันเป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจบางอย่าง ถ้าเราทำให้ถูกที่ถูกทาง มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ใครเห็นใครก็อยากได้ ทำให้เป็นขนาดที่เล็กมากเท่าเมล็ดข้าวสาร ให้คนเช่าไปเลี่ยมติดตัวเอาไว้

และการที่หนิงได้เยือนทั้ง 4 สังเวชนียสถาน ทำให้หนิงรู้ว่าเราเกิดมาจากธาตุทั้ง 4 และสุดท้ายเราก็ต้องตายไปเป็นธาตุทั้ง 4 เหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน และเป็นของเราไปตลอด มีเพียงความดีและความเลวเท่านั้นที่เราจะเอามันไปได้”

ตลอดมา การทำบุญและทำทานในแบบของเธอคนนี้ ยึดที่ความสุขทางใจเป็นหลัก และทำแล้วต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเอง

“บางคนบอกว่า ทำทานโดยการให้เงินขอทาน อย่าให้เลย เหมือนกับเป็นการส่งเสริม แต่สำหรับหนิงใจอยากจะทำก็ทำ โดยที่ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ว่าจะกี่บาทกี่สตางค์ก็แล้วแต่ ถ้าเรารู้สึกเต็มใจ อยากจะทำ อยากจะให้ ให้แล้วเกิดปีติที่เป็นสุข ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ทำไปเลย ทำบุญทำได้ ขอเพียงให้เรารู้ตัวว่า ทำไปแล้ว มันไม่กระทบกระเทือนให้ตัวเราเองลำบากไปด้วย”

แต่ไม่ว่าจะเคยทำความดีต่อคนอื่น และตั้งใจว่าจะทำดีเพื่อสังคมมากแค่ไหน ความภูมิใจมากที่สุดในชีวิตของเธอ กลับคือการได้ทำหน้าที่ลูก ดูแลพระในบ้าน นั่นก็คือบุพการี ให้ได้กินอิ่มนอนอุ่น และชักชวนให้พวกท่าน ได้มีชีวิตที่ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา

“หนิงภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกคุณแม่ และได้เป็นลูกที่กตัญญู การไปอินเดียครั้งนี้ หนิงยังรู้สึกเสียใจตรงที่ไม่สามารถพาคุณแม่ไปด้วยได้ เพราะท่านผ่าตัดตา แต่หนิงตั้งใจไว้ว่า วันหนึ่งจะพาคุณแม่ไปอินเดียให้ได้ เพราะหนิงเชื่อว่า ถ้าลูกทุกคนได้พาบุพการีทำบุญ มันเป็นสิ่งดีที่สุดแล้วที่ลูกจะมอบให้บุพการี

เพราะหลักธรรมอันแรกของพระพุทธศาสนาที่หนิงมักจะนึกถึงคือเรื่องความกตัญญู พระพุทธเจ้าหลังจากที่ท่านตรัสรู้ ก็อยากที่จะไปโปรดพระมารดาในสรวงสวรรค์ อยากกลับไปหาพระบิดา และเมืองของท่าน


หนิงคิดว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าคนเรามีความกตัญญู ไม่ใช่ต่อบุพการีของเราเองเท่านั้น แต่เป็นความกตัญญูต่อบุคคลอื่นๆที่มีพระคุณกับเราด้วย สังคมมันจะน่าอยู่กว่านี้อีกเยอะเลย”

แต่ถ้าถามว่าช่วงเวลาไหนที่เธอรู้สึกดีกับชีวิตมากที่สุด เธอเคยบอกไว้ว่า

“ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับหนิง คือการที่ได้ไปนั่งทำสมาธิปักกลดตามสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ มันเหมือนกับเป็นการขัดเกลาจิตใจ ฝึกให้เรานิ่ง มันทำให้หนิงได้เรียนรู้ความเป็นจริงจากโลก รู้ว่าเราควรจะทำยังไงให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

เพราะว่าชีวิตของเราในโลกทุกวันนี้ หนิงมองว่ามันไม่มีความบังเอิญเกิดขึ้นแน่นอน หนิงเชื่อเรื่องกรรมเวร และเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา ณ วันนี้ ไม่ว่าใครจะโกรธ หรือว่าเกลียดเรา ใครจะด่าเรา จะกระทำใดๆอะไรกับเราก็ตาม หนิงเชื่อว่ามันคือสิ่งที่เราเคยกระทำกับคนอื่นๆ มาแล้วทั้งนั้นค่ะ แต่มันก็อยู่ที่ว่าเราจะไปผูกกรรมตรงนั้นให้มันเพิ่มขึ้น หรือว่าให้มันต่อเนื่องกันไปไม่จบสิ้นรึเปล่า

อย่างสมมติมีคนเดินมาด่าเรา แล้วเราก็ด่าเขากลับ เขาก็จะโกรธ มันจะกลายเป็นการผูกกรรมต่อกันต่อไป แต่ถ้าเราไม่ด่าตอบเขา เราอยู่เฉยๆ นิ่งๆ แล้วนึกในใจแผ่เมตตาว่าเขาคือเจ้ากรรมนายเวรของเรา ซึ่งเราอาจเคยไปทำอะไรที่ไม่ดีต่อเขามาก่อนก็ได้ พยายามสงบจิตใจ เชื่อเลยว่าเรื่องมันก็จะจบลงแค่นั้น หยุดแค่นั้น ไม่ต้องติดตามเป็นเวรกรรมที่เราต้องชดใช้กันไปไม่มีวันหมดสิ้น วันหนึ่งถ้าเรารู้ได้ถึงสัจธรรมข้อนี้ ชีวิตก็จะมีความสุข เพราะเราจะนิ่งแบบรู้สติ ได้ใช้สติไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆมากมาย การวางเฉยไม่โต้ตอบกับสิ่งที่เขาทำกับเรา ถือว่าเป็นการระงับกรรมเวร ไม่ให้ต้องต่อเนื่องกันไปไม่มีวันจบสิ้น

หนิงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีกับหนิงที่สุดในชีวิตเลยค่ะ ที่ครั้งหนึ่งได้เกิดมาบนโลกใบนี้ หนิงรู้สึกว่าการได้ค้นพบถึงสัจธรรมบางข้อของธรรมะ แล้วมันส่งผลต่อชีวิตของหนิงให้มีความสุขมากกว่าเมื่อก่อน และทำให้หนิงมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้นจริงๆ ค่ะ”

ในฐานะผู้ที่พาชีวิตมาใกล้ชิดธรรมะเรียบร้อยแล้ว และรู้ว่าการที่ใครก็ตามได้รู้จักธรรมะเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกับชีวิตเร็วเท่านั้น เธอจึงอยากชวนให้คนที่ยังห่างไกลจากธรรมะ และมองว่าธรรมะเป็นเรื่องยากเกินเข้าถึง ให้มาใกล้ชิดธรรมะว่า

“ธรรมะเป็นเรื่องง่ายๆค่ะ ไม่ใช่เรื่องยาก ที่หนิงเคยบอกกับทุกคนคือ ธรรมะเป็นเรื่องธรรมชาติ แค่คุณอยู่กับปัจจุบันให้เป็น แล้วใช้สติครอบครองปัจจุบัน ในที่สุดมันจะทำให้คุณรู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร

หนิงจะบอกทุกคนเสมอว่า ทุกวันนี้ เราไปกินข้าว ซื้อเสื้อผ้า ไปดูหนัง ซื้อเครื่องประดับ ซื้อรถ ซื้อบ้าน เราสามารถซื้อและสรรหาวัตถุให้กับตัวเราเองมากมาย ลองถามตัวเองสักนิดหนึ่งว่า เราเคยที่จะป้อนอาหารใจให้กับตัวเราเองมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารักตัวเอง อาหารใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมันจะเป็นเหมือนวัคซีนที่คุ้มกันทุกอย่างในโลกนี้ได้หมดเลย”

เวลานี้เธอได้ตั้งอธิษฐานจิตไว้แล้วว่า ถ้าหน้าที่การงานประสบความสำเร็จ และไม่ต้องเป็นห่วงครอบครัว ซึ่งเธอเป็นเสาหลักมาโดยตลอด เธอจะขอเป็นผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่รับใช้พระพุทธศาสนา

“เวลาที่เราท้อๆกัน หนิงเคยพูดกับเพื่อนๆทุกคนในกลุ่ม โดยเฉพาะกับคุณนุ่น ที่เรามักจะหันหน้ามาคุยกัน แล้วให้กำลังใจกันว่า สู้กันเถอะนะ เพราะว่าเป้าหมาย เราก็รู้แล้วนี่ว่า สุดท้ายเราจะไปอยู่กันที่ไหน นั่นก็คือวัด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะบวชนะคะ แต่คือการพาตัวเองไปรับใช้พระพุทธศาสนา นี่คือสิ่งที่หนิงอยากจะทำมากที่สุดเลย”

ถึงบรรทัดนี้ คงได้รู้กันแล้วว่า “นางร้ายในจอ” คนนี้ เธอคือ “นางเอกในชีวิตจริง”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย พรพิมล)




กำลังโหลดความคิดเห็น