หลวงตามหาบัวได้ดำริไว้ก่อนมรณภาพว่า อยากให้ทำเมรุของท่านแบบเรียบง่าย ดังนั้น การก่อสร้างเมรุลอยชั่วคราวครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่งดงาม และแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรม
• จิตกาธาน หรือเชิงตะกอน
ลักษณะของจิตกาธาน หรือเชิง ตะกอน หรือเมรุนั้น เป็นเนินดินทรงกลมสูง 3.80 เมตร หมายถึง มงคล 38 ประการ แบ่งเป็น 3 ชั้น หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นล่างสุดของเมรุมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร หมายถึงกรรมฐาน 40 วิธี ชั้นที่ 2 เส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร หมายถึง กายคตา ซึ่งก็คือสติที่เป็นไปในกาย อันเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งในอนุสสติ 10 หรืออาการ 32 ของร่างกาย ส่วนชั้นบนสุดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร หมายถึงโสฬสญาณ 16 หมายถึง ญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด และสุดท้ายจิตกาธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเมรุ คือ วิมุตติ หรือความหลุดพ้น ก่อด้วยอิฐทนความร้อน ด้านนอกเป็นอิฐประสานทำจากดิน และมีบันไดชั้นละ 7 ขั้น หมายถึงโพชฌงค์ 7 คือ องค์แห่งการตรัสรู้
และหากมองจากมุมสูงจะเห็นแสงไฟแต่ละดวงที่ส่องตามชั้นของเมรุ ดูคล้ายๆ กลีบบัว ซึ่งมีนัยสำคัญ 2 ความหมาย คือดอกไม้ที่ใช้บูชาพระกับชื่อของหลวงตามหาบัว
ส่วนบริเวณบนเมรุชั่วคราว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้นำหยวกกล้วยแกะสลักลวดลายไทยรวมทั้งดอกไม้สดขึ้นไประดับ การแทงหยวกครั้งนี้เป็นการผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และศิลปะวังหลวงเข้าด้วยกัน โดยนำมะละกอดิบมาใช้แกะสลักเป็นรูปดอกบัวขาว 50 ดอกติดประดับหน้าหยวกกล้วย นับเป็นครั้งแรกที่แกะสลักเป็นรูปดอกบัวขาว มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพระสายกรรมฐาน
• กลดใหญ่
เหนือเมรุลอยชั่วคราวขึ้นไปเป็น กลดขนาดใหญ่ ใช้คลุมสรีระสังขารของหลวงตา ซึ่งกลดถือเป็นสัญลักษณ์ ของพระป่า กลดใหญ่นี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.30 เมตร น้ำหนัก 400 กิโลกรัมเศษ ด้านบนกลึงด้วยไม้เรียกว่าหัวกลด มีซี่กลดคล้ายซี่ร่ม 42 ซี่ ทำจากไม้ตาลตะโนด ควบคุมซี่กลดด้วยกระดุมกลดซึ่งทำจากไม้ชิงชัน และคลุมด้วยผ้าสีกลัก โดยมีตุ้มระบายรูปดอกบัวอยู่รอบปลายกลด
ปริศนาธรรมจากของความกว้างของกลด 8.30 เมตร มาจาก เลข 8 คือ มรรค 8 เลข 3 หมายถึงรัตนตรัย และเลข 3 กับเลข 8 หมายถึง มงคล 38 ประการ ส่วนซี่กลด 42 ซี่ มาจากคำเทศนาของหลวงตา ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ว่าไม่ได้นอนกลดมา 42 ปีแล้ว
• ไม้จิก
สำหรับไม้ที่นำมาใช้เผาสรีรสังขารขององค์หลวงตานั้นคือ ไม้จิก มิใช่ไม้จันทน์แบบที่ใช้กันทั่วไป โดยพระครูอรรถกิจนันทคุณ หรือพระอาจารย์นพดล นันทโน เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร เปิดเผยถึงการใช้ไม้จิกมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาว่า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย โดยเฉพาะคนไทยอีสาน เวลาเผาผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโยมหรือพระก็ตาม เมื่อตั้งใจเก็บกระดูก ถ้าใช้ไม้จิกจะได้ฟืนที่แรงและแกร่ง หลังเผาไหม้แล้วจะเหลือส่วนที่เป็นเถ้าน้อยมาก อีกทั้งไม่เป็นมลภาวะทางอากาศ ที่สำคัญอัฐิอังคารเก็บได้จะสมบูรณ์ จัดเก็บได้ปริมาณมาก และสะอาดสวยงามมากกว่า
ต้นจิกหรือมุจลินท์เป็นไม้ที่ปรากฏในพุทธประวัติ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์และต้นไทร แห่งละ 7 วัน แล้วจึงเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน ในขณะที่ประทับใต้ต้นจิกนี้ ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน พญานาคชื่อมุจลินท์จึงมาขดเป็นวง 7 รอบ ล้อมพระองค์ พร้อมกับแผ่พังพานปรกพระองค์ไว้ ต่อมาเมื่อมีผู้คิดประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นภายหลัง จึงได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า ปางนาคปรก และเรียกต้นจิกตามชื่อของพญานาค คือ มุจลินท์
• ผอบทองคำแท้บรรจุอัฐิ
ผอบทองคำสำหรับบรรจุอัฐิหลวงตามหาบัวส่วนที่สมบูรณ์และสวยที่สุดนั้น มีลักษณะเป็นรูปดอกบัวหลวงบาน ซึ่งหมายถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผอบนี้ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ 99.99% น้ำหนัก 1352.4 กรัม ดอกบัวมีความสูง 12 ซม. หมายถึง วันเกิดของหลวงตา มีความกว้างสุด 3.53 นิ้ว หมายถึง เวลาที่หลวงตาละสังขาร
กลีบบัวบานชั้นบนมี 8 กลีบ หมายถึงวิชชา 8 ส่วนชั้นล่างมี 8 กลีบ หมายถึง มรรคมีองค์ 8 และก้านบัวหมายถึง จุดศูนย์รวมหรือพระนิพพาน ฐานสูง 5 ซม. หมายถึงธาตุขันธ์ 5 กว้าง 8 ซม. หมายถึง อริยบุคคล 8 ด้านบนมี 16 กลีบหมายถึง ญาณ 16 หรือโสฬสญาณ ด้านล่างมี 16 กลีบ หมายถึง พรหมโลก 16 ใต้ฐานมีพลอยนพเก้าซึ่งประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดา เพทาย ไพฑูรย์
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย กองบรรณาธิการ)