xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : "Julie & Julia" สองหญิงแกร่ง สร้างแรงบันดาลใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการได้รับแรงบันดาลใจที่มีประโยชน์จากผู้อื่น มาปรับใช้กับชีวิตตนเอง ย่อมไม่ต่างกับการสร้างประโยชน์สืบทอดต่อๆ กันไปไม่สิ้นสุด

ภาพยนตร์ว่าด้วยอาหารและการทำครัวอย่าง “Julie & Julia” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงสองคนซึ่งต่างยุคสมัย ต่างวัย แต่ทั้งคู่มีหัวใจเดียวกันในเรื่อง การปรุงอาหารให้เลิศรส

ภาพยนตร์บอกเล่าย้อนอดีตกลับไปหลายสิบปีถึงผู้หญิงคนแรก คือ “Julia Child” สาวใหญ่สัญชาติอเมริกัน ซึ่งจำเป็นต้องติดสอยห้อยตามสามีไปปฏิบัติงานราชการที่ฝรั่งเศส และด้วยความที่ Julia เป็นคนที่กระตือรือร้นตลอดเวลา เธอจึงใช้เวลาว่างในการออกไปหางานอดิเรกทำ จนสุดท้ายก็ค้นพบตัวเองว่า สิ่งที่เธอน่าจะทำได้ดีไม่แพ้ใคร คือ การปรุงอาหาร โดยเรียนรู้ผ่านการเข้าสมัครในสถาบันสอนทำอาหารระดับโลกอย่าง Le Cordon Bleu

แต่ทว่าในความสำเร็จที่เธอค้นพบฝีมือหรือพรสวรรค์ ตนเองนั้น มีอุปสรรคท้าทายในชีวิตอยู่ไม่น้อย เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าไปเรียนที่สถาบันอย่าง Le Cordon Bleu ในยุคนั้น นับเป็นเรื่องใหม่ที่จะมีผู้หญิงสักคนสนใจ เพราะส่วนใหญ่ว่าที่เชฟมือโปร ก็เป็นผู้ชายทั้งนั้น ทำให้เธอดูเป็นคนแปลกในสายตาเพื่อนร่วมเรียน แต่แล้วด้วยความตั้งใจมุ่งมั่น ในระยะเวลาไม่นาน Julia ก็กลายเป็นนักเรียนชั้นยอด โดยก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างเพศมาได้

หากการได้ค้นพบความสามารถของตนเอง คือ จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตครั้งแรก จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งที่สองของ Julia เกิดขึ้นหลังจากเธอย้ายกลับมาอเมริกา แล้วเริ่มวางแผนที่จะนำความรู้ ศาสตร์แห่งการปรุงที่เธอได้ร่ำเรียนมา มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้อเมริกันชนได้อ่าน

แม้การส่งต้นฉบับไปในแต่ละสำนักพิมพ์ ไม่ได้เป็นข่าวดีไปเสียทั้งหมด แต่แล้วความพยายามของ Julia ก็ประสบผลสำเร็จในปี 1961 โดยยอดเชฟหญิงรายนี้ มีผลงานหนังสือ ชื่อ “Mastering the Art of French Cooking” หรือ ตำราการทำอาหารฝรั่งเศส ตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ใฝ่ฝันอยากทำอาหารสไตล์ฝรั่งเศสให้อร่อย แต่ไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากแหล่งไหน

หนังสือดังกล่าว ส่งให้ชื่อของ “Julia Child” โด่งดังไปในพริบตา กลายเป็นเชฟ-นักเขียนผู้มีชื่อเสียง แถมยัง มีรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการทำอาหารเป็นของตัวเอง... และแล้วเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ปนความประทับใจก็เกิดขึ้นหลังจากหนังสือของ Julia ตีพิมพ์ออกมาราว 40 ปี

เมื่อ “Julie Powell” สาวออฟฟิศหุ่นเจ้าเนื้อชาว อเมริกัน ผู้ซึ่งมีชีวิตธรรมดาๆ และออกจะไปทางน่าเบื่อหน่ายกับงานประจำ ได้แรงบันดาลใจมาจากตำราปรุงอาหารของ Julia บวกกับกำลังใจจากแฟนหนุ่มในการจะทำสิ่งที่ตนเองรักให้สำเร็จ
Julie เริ่มใช้ชีวิตหลังเลิกงานอันน่าเบื่อในแต่ละวัน มาทำงานที่เธอชอบมากที่สุด คือ การเข้าครัวปรุงอาหารตามตำราของ Julia โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ใน 365 วัน เธอจะต้องทำอาหารทุกวัน จากนั้นก็ใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์ยุคใหม่ ด้วยการเขียนบันทึกการทำอาหารทั้งหมดของตนเองลงไปใน Blog ทางอินเตอร์เน็ต และเปิดให้ทุกคนเข้ามาอ่านได้ตามสะดวก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรในประเทศที่พลเมืองล้วนสื่อสารและอ่านข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ตกันเป็นหลักร้อยล้านคน นั่นจึงทำให้ Blog ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการปรุงอาหารของผู้หญิงออฟฟิศธรรมดาๆคนหนึ่ง กลายเป็นที่นิยมปากต่อปาก เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น จนกระทั่งล่วงรู้ไปถึงหูของบรรดานักข่าวคอลัมนิสต์สายสื่อสิ่งพิมพ์

Julie Powell ผู้ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Julia Child จึงเดินตามรอยแห่งความสำเร็จ กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และมีผลงานตีพิมพ์เป็นของตนเองชื่อว่า “Julie & Julia : 365 Days, 524 Recipes, 1 Tiny Apartment Kitchen” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “365 วัน 524 สูตรอาหาร กับ 1 ห้องครัวเล็กๆในอพาร์ทเมนต์”

สำหรับภาพยนตร์อัตชีวประวัติเรื่องนี้ ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องสลับตัดไปมาระหว่างสองยุคของหญิงเก่งทั้งคู่ ทำให้มีเนื้อหาที่ดูสนุกจากความเชื่อมโยงกันของคนสองยุค พร้อมถ่ายทอดให้เห็นว่า Julie มีความมุ่งมั่นที่จะทำตาม Julia แม้ในวันที่ผิดพลาด หรือท้อแท้ แต่ก็ยังคงเดินกลับมาในเส้นทางที่ตนเองตั้งใจไว้จนประสบผลตามที่ตั้งเป้าหมาย

ดังนั้น “Julie & Julia” จึงไม่ใช่เพียงภาพยนตร์ว่าด้วยการทำอาหารที่สอดแทรกอารมณ์ขัน หากแต่เป็นภาพยนตร์ที่แฝงข้อคิดในเรื่องความพยายาม ความมุ่งมั่น ตั้งใจ การเลือกทำสิ่งที่ดีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบุคคลอื่น รวมถึงการรู้จักขวนขวายหาความสำเร็จให้แก่ตนเอง

และ..ไม่ว่า Julie หรือ Julia จะมีพรสวรรค์ ความสามารถเพียงใด แต่หากอยู่เฉยๆรอโชคชะตาฟ้าลิขิต ไม่รู้จักขวนขวายเพื่อไขว่คว้ามันด้วยตัวเอง ทั้งสองคงไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลย


ด้วยสาระแง่คิดดีๆ รวมถึงความลงตัวของภาพยนตร์ เรื่องนี้ “Julie & Julia” จึงเป็น 1 ใน 5 ของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทตลกหรือเพลง (Musical or Comedy) ในเวทีลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 67 (ปีที่แล้ว) อีกด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)





กำลังโหลดความคิดเห็น