xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปมานุสสติ ขั้นปัญญา (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุขจากความปล่อยวาง

เมื่อตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือสงบ ความปล่อยวาง อันเป็นความพ้นก็บังเกิดขึ้น ความสงบระงับตัณหาอุปาทานอันเป็นความปล่อยวาง ดั่งนี้เป็นตัวความสุขอย่างยิ่ง อันความทุกข์ทั้งหลายจะเป็นโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญใจ ทุกขะ ความไม่สบายกายที่เนื่องมาจากใจ โทมนัสสะ ความไม่สบายใจต่างๆ หรือที่รวมกันเรียกว่า ความทุกข์อันเกิดจากการประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความทุกข์ที่เกิดจากความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความปรารถนาไม่ได้สมหวัง เหล่านี้ย่อมเกิดเพราะตัณหาอุปาทานทั้งนั้น

คือมีความดิ้นรนทะยานอยาก และมีความยึดถือในสิ่งอันใดว่า สิ่งอันนี้เป็นที่รักเมื่อพลัดพรากย่อมจะบังเกิดความทุกข์ มีความอยากยึดถือว่าสิ่งอันใดไม่เป็นที่รักไปประจวบเข้าก็ย่อมจะเป็นทุกข์ รวมความว่าเป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง เพราะอันความปรารถนาที่ไม่ได้สมหวังนั้นก็คือว่าพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก หรือพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักนั้นเอง และสิ่งที่จะเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักนั้นก็ตัณหาอุปาทานนั่นแหละสร้างขึ้นมา

สร้างขึ้นมาจากอะไร ก็สร้างขึ้นมาจากอวิชชา ความไม่รู้ สัจจะคือความจริง สร้างขึ้นมาจากโมหะ คือความหลง สร้างขึ้นมาจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด อันมีลักษณะเป็นจิตวิปลาส สัญญาวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ดังกล่าวมาแล้ว ก็คือมีจิตคิด มีสัญญาความกำหนดหมาย มีทิฏฐิความเห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่เป็นอสุภะไม่งามว่างามนั่นเอง

นี้เองเป็นเครื่องสร้างว่าสิ่งนี้น่ารักสิ่งนี้น่าชังขึ้นในใจ และแม้อัตตาคือตนเองที่ออกไปยึดถือดั่งนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วก็ย่อมจะเห็นว่าอัตตาคือตัวเราที่ออกไป ยึดนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล คืออวิชชาความไม่รู้ ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และอุปาทานความยึดถือนั่นเอง ทั้งสามนี้เมื่อมารวมกันเป็นอัตตาคือตัวเรา

ตัวเรานี้เมื่อออกไปรู้สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นหรือว่าความรู้อันนั้นก็เป็นอวิชชา เมื่อมีความอยากในสิ่งอันใด ยึดในสิ่งอันใด ความอยากความยึดในสิ่งเหล่านั้นก็เป็นตัณหาอุปาทานทั้งนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นการสร้างทุกข์ให้ต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่อาจ ที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้ และมิใช่แต่นั้น ก็ไม่อาจที่จะพ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ และมรณทุกข์ได้ด้วย

เกิดปัญญาหรือวิชชา

ฉะนั้น การที่ใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง อันเป็นตัวปัญญาหรือตัววิชชาบังเกิดขึ้น จนมีจิตใจคิด มีทิฎฐิเห็น มีสัญญากำหนดหมาย ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา ในของที่ไม่งามว่าไม่งาม ตามความเป็นจริงดังนี้แล้ว จิต สัญญา ทิฏฐิ ดังกล่าวมานี้ก็เป็นปัญญาเป็นวิชชาขึ้น เมื่อเป็นดังนี้คิดถึงสิ่งอันใด กำหนดหมายถึงสิ่งอันใด เห็นสิ่งอันใด สัจจะ คือความจริงในสิ่งอันนั้นก็ปรากฏขึ้น ว่า นี่ไม่เที่ยง นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นอนัตตา นี่เป็นของไม่งาม

เมื่อสัจจะคือความจริงปรากฏขึ้นดังนี้ ตัณหาก็ไม่เกิดในสิ่งอันนั้น อุปาทานคือความยึดถือก็ไม่เกิดในสิ่งอันนั้น เป็นความปล่อยวางบังเกิดขึ้น นี่แหละเป็นตัวปัญญา

และความสงบตั้งต้นจากความสงบจากจิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส หรือว่าอวิชชา โมหะ มิจฉาทิฏฐิ สงบตัณหา สงบอุปาทาน เป็นอุปสมะ ความสงบระงับ ความสันติ เป็นความสงบอย่างยิ่ง อันบังเกิดขึ้นจากปัญญาและอันนี้แหละเป็นวิมุตติ อันเป็นความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

แม้ว่าจะเป็นกุปปธรรมคือธรรมที่ยังกำเริบอยู่ หมายความว่ายังกลับกลอกเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม แต่เมื่อหัดพิจารณาให้ได้ให้ถึงมากแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้อบรมเพิ่มเติมมากขึ้น

และถ้าหากว่าถ้าหัดปฏิบัติให้ได้ให้ถึงมากแล้ว ก็ให้หัดย้อนระลึกถึงอุปสมะ คือความสงบระงับ สันติ คือความสงบ ด้วยปัญญาดังกล่าวนี้ ว่ามีลักษณะอาการอย่างนี้อยู่เนืองๆ ก็จะทำให้มีความคุ้นเคยต่อความสงบระงับเหล่านี้ยิ่งขึ้น จะเป็นทางให้เข้าถึงความสงบระงับดังนี้มากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อๆ ไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น