xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : ครอบครัวอุดมรัก ของนักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่ง "ดนัย อุดมโชค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่อาศัยเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ช่วยรักษาสัมพันธภาพระหว่างเขาและเธอให้ยั่งยืนมา 5 ปี ไม่กี่เดือนมานี้ “เขา” นักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของไทย “ปิ๊ก” ดนัย อุดมโชค ได้มี “เธอ” สาวสวยชาว จ.ลำปาง “ต๊าป” ชนินพร พินิจชอบ มาอยู่เคียงข้างในฐานะภรรยา และคอยติดตามไปให้กำลังใจเขาแทบทุกสนามแข่งขัน

ระหว่างเตรียมการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียนโอเพน ประจำปี 2011 ณ ประเทศออสเตรเลีย ดนัยได้เปิดใจบอกเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้จิตใจของชายหนุ่มเช่นเขา มั่นคงต่อภรรยา ไม่วอกแวกไปมองสาวอื่น ก็ด้วยเพราะ นิสัยส่วนตัวไม่ใช่ผู้ชายเจ้าชู้ และด้วยหน้าที่ของนักเทนนิสอาชีพ ทำให้ต้องมุ่งมั่นอยู่แต่กับการฝึกซ้อมและการแข่งขัน

“มีชีวิตอยู่แต่สนามเทนนิส โรงแรม แล้วก็ร้านอาหาร จึงไม่ได้มีเวลามากขนาดที่จะไปจีบใคร เพราะไม่ค่อยได้ออกไปไหนเท่าไหร่ เสร็จจากแข่งเทนนิส ก็ต้องกลับที่พัก มาโทรหาเขา เพื่อจะได้มีเวลาพูดคุยกัน”

นอกจากเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งที่ดนัยบอกว่ามีความพอใจในภรรยาของเขา กระทั่งเลือกมาเป็นคู่ชีวิตในที่สุด นั่นก็คือ

“ต๊าปเป็นคนนิสัยดี ดูแลดีทั้งผมและคนรอบข้าง ผมอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ดูแลใครเท่าไหร่ เพราะชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่คนเดียวตลอด มีญาติก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นหน้ากัน ทำให้เรามองข้ามการปฏิบัติต่อผู้อื่นในบางสิ่งบางอย่างไป พอมีต๊าป เขาก็จะคอยช่วยเตือนผมตรงนี้”

ส่วนสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจว่า นี่ใช่เวลาที่จะละทิ้งชีวิตโสด แล้วเริ่มต้นใช้ชีวิตครอบครัวกับใครสักคน

“มีหลายอย่างครับ หนึ่งคือเราคบกันมาค่อนข้างที่จะนานพอสมควร ค่อนข้างที่จะรู้นิสัยใจคอกัน และก็รู้ว่าเขาก็เป็นคนดีคนหนึ่งนะ เลยอยากให้เขามาร่วมชีวิตด้วย อยากให้มาอยู่ข้างๆตลอดเวลา รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราห่างกันมานานพอสมควร ระยะเวลา 5 ปี ส่วนใหญ่เราคุยกันทางโทรศัพท์ ทางอินเตอร์เน็ตตลอด ผมก็เลยคิดว่า ถ้ามีเขาเดินทางไปกับเราด้วยเวลา ที่เราไปแข่งขันมันคงจะดี เพราะเขาจะได้คอยเป็นกำลังใจให้กับเราข้างสนาม”

และทันทีที่มีภรรยาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดนัยก็เริ่มเข้าใจถึงคำว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข เพราะหลังจากการแต่งงานไม่นาน ดนัยได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขัน จนต้องเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพร่างกายของเขาสามารถฟื้นฟูกลับมาดีดังเดิมได้ ก็เพราะมีภรรยาคอยดูแลและให้กำลังใจ

“ก่อนแต่งงานกันผมตั้งใจไว้แค่ว่า อยากจะให้เขาเป็นคนที่เดินทางไปกับผมด้วยเวลาที่ผมต้องไปแข่งขัน แต่เมื่อผมได้รับการบาดเจ็บจากการแข่งขัน ต้องรักษาตัวเอง และเป็นการบาดเจ็บที่ค่อนข้างจะเป็นครั้งสำคัญในชีวิต ต้องไปผ่าตัดที่เยอรมัน ผมก็ได้ต๊าปตามไปช่วยดูแลและให้กำลังใจ

แล้วหลังจากที่ผ่าตัดเสร็จ ต้องมาทำกายภาพ ตรงนี้ก็ได้ต๊าปคอยช่วยดูแลและให้กำลังใจอีก เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม”

ดนัยยอมรับว่าเขาและภรรยาเคยมีเรื่องให้ต้องงอนกันบ้าง ตามประสาคู่รักหนุ่มสาว โดยเฉพาะช่วงก่อนแต่งงาน เพราะบางครั้งมีเหตุจำเป็นที่ทำให้เขาไม่มีเวลาพอที่จะโทรหาเธอได้ตามปกติ

“มันเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงทุกคนที่มีแฟน แล้วไม่ค่อยได้อยู่กับแฟน ก็อาจจะมีคิดไปได้ว่า เขาจะคิดอย่างไรกับเรา จะมีแฟนใหม่หรือเปล่า

แต่ส่วนหนึ่งเขาก็ต้องเข้าใจว่าเรากำลังทำหน้าที่ของเรา ต้องไปแข่ง ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด พอเขารู้ว่าเราไม่ค่อยมีเวลา เขาก็เริ่มปรับตัว และเข้าใจ”

แม้จะเป็นชีวิตคู่แบบ “ข้าวใหม่ ปลามัน” เพราะเพิ่ง แต่งงานกันได้ไม่นาน แต่ดนัยและภรรยาก็มีหลักในการ ใช้ชีวิตร่วมกันให้มีความสุข นั่นคือ “การรู้จักให้อภัย”

“ผมเชื่อว่าทุกคู่รักต้องมีเรื่องให้งอนกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง แต่ถ้าเรายอมกัน มันก็จะไม่มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น แต่ถ้าต่างคนต่างแข็ง ต่างคนต่างไม่ยอม มันก็อาจจะทำ ให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่โต และเกิดการทะเลาะกันได้

ดังนั้น หลักในการใช้ชีวิตร่วมกันของผมและต๊าป ก็น่าจะเป็นเรื่องของการให้อภัย และเข้าใจกันให้มากที่สุด”


หลังแต่งงาน ดนัยและภรรยาไม่ได้ย้ายออกจากบ้าน ไปอยู่กันเองตามลำพัง แต่ยังคงอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับคุณพ่อและคุณแม่ของดนัยที่บ้านย่านพุทธมณฑล สาย 2 จึงทำให้ครอบครัวเล็กๆที่เพิ่งก่อตัวขึ้นใหม่นี้ มีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด

และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะดนัยไม่อยากจากครอบครัว ซึ่งให้ความรักความอบอุ่นแก่เขามาตั้งแต่เล็กจนโต

“เพราะชีวิตตั้งแต่เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปกินข้าวที่ไหน แต่จะกลับบ้านมากินข้าวด้วยกันทั้งครอบครัว แล้วเวลานอนก็จะนอนห้องเดียวกันหมด ทั้ง 4 คน มี พ่อ แม่ พี่สาว และตัวผม บ้านเรามีห้องหลายห้องก็จริง แต่ทุกคืนเราจะนอนร่วมกัน มันก็เลยทำให้ครอบครัวเรามีความอบอุ่น และผมจะผูกพันกับครอบครัวมากกว่า

แม้ตอนนี้พี่สาวจะแต่งงานแล้ว มีลูก 3 คน และได้แยกครอบครัวออกไป แต่ทุกวันศุกร์จะต้องกลับมาทานข้าวและค้างที่บ้าน เช่นเดียวกันถ้าช่วงไหนผมอยู่เมืองไทย วันศุกร์ก็จะถือเป็นวันครอบครัวสำหรับผม ต้องกลับมากินข้าวที่บ้านและเล่นกับหลานๆ

ส่วนเพื่อนๆจะไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของผมจะอยู่ต่างประเทศซะมากกว่า ผมมีเพื่อนกลุ่มเล็กๆ อาจจะมีนัดกินข้าวกันบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีเวลาได้เจอกันเท่าไหร่ เพราะแม้อยู่เมืองไทย ผมก็ต้องไปซ้อม ส่วนเพื่อนๆ เขาก็ทำงานกันในหลากหลายสาขาอาชีพ”

ดังนั้นในความรู้สึกของดนัย เวลาที่พูดถึงความรัก มักจะเป็นความรักในด้านที่นึกถึงครอบครัวมากกว่าสิ่งอื่น

“ครอบครัวผมจะปลูกฝังในเรื่องความรัก โดยให้นึกถึงครอบครัวมาเป็นอันดับแรกก่อนครับ เพราะเป็นสังคมเล็กๆที่ผูกพันกับเรามากที่สุด ผมคิดว่าถ้าเราปฏิบัติต่อครอบครัวของเราดีแล้ว สังคมรอบข้างก็จะดีไปด้วย”

คนที่เป็นแบบอย่างให้กับชีวิตของเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือพ่อและแม่นั่นเอง

“เพราะเราได้เห็นความรักที่คุณพ่อและคุณแม่มีให้กันมาตั้งแต่เราเกิด ถึงตอนนี้เขาก็ยังรักกัน คุยกัน เอาใจใส่กันดีเหมือนเดิม ตื่นเช้าขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ก็จะมานั่งกินข้าว กินกาแฟ คุยกัน เวลามีปัญหาอะไรก็จะเอามาแลกเปลี่ยนกัน มันทำให้ผมรู้สึกว่านี่แหละคือความรักของครอบครัว ที่ต่างคนเวลามีอะไรดีๆในชีวิต หรือมีปัญหา เราก็สามารถเอามาแลกเปลี่ยน พูดคุยกันได้”

และดนัยเชื่อว่า “ครอบครัว” เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมให้ชีวิตของเขาประสบความเร็จจนมีวันนี้

“ถ้าเราอยากจะเป็นนักกีฬาที่ดี หากครอบครัวไม่สนับสนุน คงเป็นได้ยาก”

ครั้งหนึ่ง ดนัยเคยเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในชื่อ “ไม่สู้ ได้ไง ดนัย อุดมโชค” นอกจากจะต้องการสื่อสารกับผู้อ่านว่า ชีวิตของนักเทนนิสมืออาชีพคนหนึ่งเป็นอย่างไร และอะไรบ้างที่จะต้องมี ต้องพบเจอ ถ้าใครสักคน ฝันอยากจะเป็นนักเทนนิสมืออาชีพเช่นเขา

“อยากจะแชร์ประสบการณ์ เวลาเราออกไปแข่งขันต่างประเทศ บางคนเขาก็จะสงสัยว่า นักกีฬามีโอกาสได้ไปเที่ยวไปพักผ่อนบ้างไหม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เที่ยวเท่าไหร่ มีชีวิตอยู่แต่ในสนาม โรงแรม ร้านอาหาร และอาจจะเป็นการแชร์ประสบการณ์ หรือเรื่องที่ขำๆบ้าง ซึ่งมันก็อาจจะเป็นประโยชน์กันคนที่อยากเป็นนักเทนนิส ว่ามันมีอะไรที่เขาจะต้องพบเจอ และจะต้องมี

ก็เหมือนอย่างที่ผมบอกว่า เราจะต้องมีครอบครัวให้การสนับสนุน มีสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนที่ดี ซึ่งผมค่อนข้างที่จะโชคดี ที่มีผู้สนับสนุนค่อนข้างให้โอกาสตลอดเวลา และสม่ำเสมอ ตั้งแต่ผมอายุ 10 ขวบ และเราจะต้องมีความตั้งใจในการซ้อม มีโค้ชที่ดี มีเทรนเนอร์ที่ดีด้วย”

ชื่อหนังสือ “ไม่สู้ ได้ไง” ไม่เพียงต้องการให้มันคล้องกับชื่อ “ดนัย อุดมโชค” เท่านั้น นัยหนึ่งก็ต้องสื่อถึงนักเทนนิสร่างเล็กไซส์เอเชียเช่นเขา ที่สามารถเปลี่ยนจากการมองด้านด้อยของตัวเองให้เป็นด้านดี จนสามารถนำชัยชนะมาสู่ชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า

“แต่ก่อนผมเป็นคนที่รูปร่างค่อนข้างตัวเล็ก มีคนให้ฉายาว่า เล็กพริกขี้หนู ซึ่งเราก็เอาสิ่งนี้มามองในด้านดี ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมแพ้ เป็นคนสู้ หลายๆครั้งที่เหมือนจะแพ้ ก็พลิกกลับมาชนะได้ตลอด”

ก่อนหน้านี้ชีวิตของนักเทนนิสมืออาชีพเช่นเขา เคยแขวนอยู่กับอันดับที่ได้มาโดยตลอด แต่หลังจากที่ครั้งหนึ่ง ลองปลีกเวลาไปบวช ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ธรรมะได้มีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจของเขาที่กำลังตกอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ และทำให้ไม่ยึดติดกับอันดับที่จะได้มา

“กะจะบวชตอนปลายปี เพราะเป็นช่วงที่พักแข่งขัน แต่แล้วก็ได้บวชช่วงเดือนมีนาคม ผมไปแข่งที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น สภาพจิตใจค่อนข้างที่จะย่ำแย่ คิดว่าอยากให้จิตใจที่ไม่ดีของเราในตอนนั้นได้มีผ้าเหลืองเป็นที่พึ่งลองดูบ้าง เพื่อให้เรามีสมาธิ กลับมาเล่นเทนนิสได้ดีขึ้น เพราะเมื่อสมาธิดีขึ้น จิตใจของเราก็จะไม่คิดมาก ไม่พะวงกับสิ่งที่มันลวงตา จนมันหนักในความคิดเรา ก็เลยได้บวชในช่วงนั้น และส่วนหนึ่งต้องการจะบวชให้คุณพ่อคุณแม่ด้วย

แต่ก่อนความคิดของผมชอบวนอยู่กับเรื่องอันดับของตัวเองว่า แมทนี้ถ้าชนะ เราจะอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ ซึ่งมันก็เป็นการกดดันตัวเอง ถ้าเราเป็นฝ่ายแพ้เขา และมันทำให้เกิดการผิดหวังค่อนข้างเยอะ เลยเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เพราะสภาพจิตใจเราไม่ค่อยดี แข่งไปก็อาจจะทำผลงานได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าเราบวช เราได้ทำสมาธิ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ตัดโลกภายนอกออกไปสัก 2 อาทิตย์ ก็อาจจะดีขึ้น ซึ่งมันก็ช่วยได้พอสมควร”


แม้ชีวิตตอนนี้ไม่พึ่งผ้าเหลืองและออกมาใช้ชีวิตนักเทนนิสมืออาชีพดังเดิม แต่สิ่งที่การบวชได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาอย่างเห็นได้ชัด คือเปลี่ยนจากคนที่เคยมองอะไรให้ยาก เป็นมองอะไรให้ง่ายขึ้น

“การบวชครั้งนั้นสำหรับผม ทำให้คิดอะไรให้ง่ายขึ้นมากกว่าครับ อย่าไปคิดให้มันไกลเกินไป เช่น บางทียังไม่ได้แข่งก็ไปคิดแล้วว่า เอ๊ะ ถ้าเราชนะ เราจะได้อันนู้น ได้อันนี้ แล้วจะได้อันดับที่เท่าไหร่

คืออันดับ มันเป็นแค่ตัวเลขที่หลอกเราเท่านั้น ถ้าเราพยายามคิดว่าเราต้องทำผลงานให้เต็มที่ มันจะทำให้เรามีศักยภาพในการเล่นได้ดีกว่าการคอยคิดถึงอันดับ แต่ผมยอมรับว่าการคิดให้ได้เช่นนี้ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากพอสมควร”

เคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้ดนัยมีสมาธิในขณะที่ลงสนามแข่งขัน คือการหาเวลาไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ

“ส่วนมากจะไปนั่งสมาธิที่ศิริราช เพราะผมรู้จักกับคุณหมอท่านหนึ่งชื่อคุณหมอโรจน์รุ่ง คุณหมอจะสอนเรื่องการกำหนดลมหายใจ ซึ่งต๊าปจะตามไปนั่งด้วยบางครั้ง หลังจากแต่งงานก็มีไปนั่งบ้าง ตอนที่ยังไม่มีแฟนส่วนใหญ่ ผมจะไปนั่งทุกวันอังคาร และไปวัดก็ไปบ่อยเหมือนกันครับ ส่วนใหญ่ถ้าปีใหม่จะไปกราบหลวงพ่อที่วัดบวรฯ เพราะผมบวชที่นั่น ไปกราบสวัสดีปีใหม่ท่าน ให้ท่านรดน้ำมนต์ให้”

และถ้าเป็นเรื่องของการทำบุญ ที่ผ่านมาดนัยก็พยายามหาเวลาทำอยู่เรื่อยๆ และไม่เจาะจงว่าต้องเป็นรูปแบบไหน

“ถ้าวันสำคัญก็ใส่บาตร หรืออาจจะช่วยเหลือผู้อื่นผ่านการบริจาคกับเด็กๆทางภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ผมรู้จักกับพี่ที่ทำงานอยู่ในบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ให้ผมอยู่ เมื่อเขามีโครงการและให้ผมได้ช่วยอะไรบ้าง ผมก็จะช่วย เช่น บริจาคในสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ หรือมีเหลือให้แก่น้องๆ หรือไปช่วยพัฒนาชุมชนบนเขาที่ห่างไกลความเจริญ”

ในอนาคตหากต้องเลิกเล่นเทนนิสแล้ว ถ้าเลือกได้ถึงอย่างไรดนัยก็ยังอยากจะมีชีวิตอยู่ในสังคมของกีฬาเทนนิสเช่นกัน แต่อาจจะเปลี่ยนจากผู้เล่นไปทำหน้าที่อื่นที่เหมาะสมกับวัยและศักยภาพ

“คงจะนึกถึงเรื่องของเทนนิสก่อนเป็นอันดับแรก เช่น เป็นโค้ชดีไหม ทำอะไรเกี่ยวกับเทนนิสได้ไหม หรือถ้าไม่ได้ ก็คงไปทำธุรกิจอย่างอื่น เพราะตอนนี้ผมก็กำลังดูเรื่องของธุรกิจที่อยู่อาศัยอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร”

ทว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตตอนนี้เป็นเรื่องของการเล่นเทนนิสให้ดีและให้ได้อันดับที่น่าพอใจเท่านั้น

“เพราะผมยังไม่ได้เลิกเล่น เป้าหมายคือจะพยายามเล่นให้ดีที่สุด ทำอันดับให้ได้ 1 ใน 100 อันดับ ถ้าได้ไม่ได้ก็ค่อยว่ากันอีกที”

แต่เชื่อแน่ว่า..ถ้าวันหนึ่งเขาสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ ชีวิตก็คงไม่หลงระเริง หรือถ้าไม่มีวันนั้น เช่นเดียวกันว่าต้องจะทำใจยอมรับได้ เหตุเพราะเขามีธรรมะของพระพุทธเจ้าในเรื่องของการไม่ยึดติดคอยเป็นที่พึ่ง

“อย่าไปยึดติดมากครับ ใช้ชีวิตทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ทำตัวเราให้สบายๆดีกว่า”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย พรพิมล)




กำลังโหลดความคิดเห็น