ความไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่นั้น แทบจะเป็นนิสัยส่วนลึก หรือความรู้สึกภายในใจของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นกิเลสที่ใครต่อใครหลายคนยังตัดไม่ขาด มนุษย์จึง ยังต้องจมอยู่กับความทุกข์ หรือความสุขอันไม่จีรังอร่ำไป
สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่นภาคต่อ ตอนที่ 4 ของเจ้ายักษ์เขียวจอมเปิ่นนามว่า “เชร็ค” ที่ใช้ชื่อในภาคนี้ว่า “Shrek Forever After หรือ เชร็ค สุขสันต์ นิรันดร” เป็นเรื่องราวหลังจากที่เชร็ค และเจ้าหญิงฟีโอน่า (ผู้ต้องคำสาปเป็นยักษ์เขียวเช่นเดียวกัน) อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ชีวิตอันแสนสบายของเชร็คและครอบครัว ดูแล้วก็ไม่น่ามีอะไรต้องกังวล หากแต่ปัญหาที่ค่อยๆสั่งสมนั้น อยู่ตรงที่เจ้ายักษ์เขียวเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตที่จืดชืด และซ้ำซากเกินไป
ก่อนที่เชร็คจะลงเอยกับเจ้าหญิงฟีโอน่า เจ้ายักษ์ตัวเหม็นใช้เวลาเป็นวันๆอยู่กับการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น การใช้ชีวิตอิสระ เที่ยวสนุกสนานกับเพื่อนมากมาย และด้วยความเป็นยักษ์ ใครเห็นก็หวาดกลัว วิ่งหนีกันกระเจิง แต่หลังจากมีครอบครัวที่อบอุ่นแล้ว ในแต่ละวันเชร็คต้องทำหน้าที่ยักษ์พ่อบ้าน เลี้ยงลูกๆที่ยังเล็ก ทำงานบ้าน แถมสิ่งที่ตลกไปกว่านั้น คือ มนุษย์ในดินแดนฟาร์อะเวย์ที่เขาอยู่ ไม่มีใครกลัวเชร็คอีกต่อไป เพราะเขากลายเป็นยักษ์ชื่อดังที่ไม่ทำร้ายมนุษย์ เชร็คจึงเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีคณะทัวร์แวะมาชมราวกับอยู่ในสวนสัตว์
ความอดทนกับความน่าเบื่อหน่ายได้ปะทุขึ้นในงานวันเกิดของลูกๆ ความวุ่นวายรอบตัวทำให้เจ้ายักษ์เขียวสติแตก ระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราดออกมา ซึ่งอาการนี้ก็ไม่สามารถเล็ดรอดไปจากสายตาของพ่อมดตัวแสบนามว่า “รัมเพลสติลสกี้น”
รัมเพลสติลสกี้น เป็นตัวละครใหม่ที่บทหนังเล่าย้อนไปในก่อนภาคแรกว่า ในช่วงก่อนที่เชร็คจะฝ่าด่านไปถอนคำสาปให้เจ้าหญิงฟีโอน่านั้น ราชาและราชินีแห่งฟาร์อะเวย์แลนด์ได้เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากจอมขมังเวทย์ ว่าอยากให้ลูกสาวพ้นคำสาป แต่แล้วเชร็คฮีโร่ตัวเขียวก็สามารถช่วยเจ้าหญิงได้สำเร็จ กลายเป็นการตัดโอกาสและทำลายแผนหลอกล่อเอาบัลลังก์ราชาของรัมเพลสติลสกี้น
จากความแค้นฝังใจครั้งนั้น จอมพ่อมดจึงขอเอาคืน ด้วยการใช้จังหวะที่เชร็คกำลังจิตใจหดหู่ มาขอทำสัญญาบางอย่าง เพื่อแลกให้เขาสามารถกลับไปเป็นยักษ์เขียวผู้อิสระได้ตามต้องการ และเมื่อความเบื่อเซ็งกำลังได้ที่เชร็คจึงตกหลุมพราง เซ็นสัญญายอมรับข้อเสนอของพ่อมดอย่างง่ายดาย
จากนั้นเชร็คก็ได้กลายมาเป็นยักษ์อิสระที่ไม่มีใครรู้จักอีกครั้งหนึ่ง มีชีวิตที่สนุกสนาน ไม่ต้องมีภาระพ่อบ้าน ไม่มีใครมาคอยมองด้วยสายตาขบขัน มีแต่มนุษย์ที่เห็นเขาแล้วต่างหวาดกลัว วิ่งหนี เหมือนกับชีวิตก่อนหน้านี้
แต่เชร็คก็มาค้นพบความจริงว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ตลอดกาลจริงๆ เพราะคำสัญญาเวทมนต์์ปริศนานั้น เป็นการพลิกย้อนเวลากลับคืนสู่อดีต ทำให้พ่อมดจอมแสบ ได้เป็นราชา ครอบครองดินแดนทั้งหมด ส่วนเจ้าหญิง ฟีโอน่าคนรักของเจ้ายักษ์เขียว ก็กลับกลายเป็นยักษ์แปลกหน้า ที่เขาไม่เคยพานพบมาก่อน แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น เชร็คกำลังจะกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตน ชนิดที่หายสาบสูญไปจากโลก
การผจญภัยครั้งใหม่อย่างไม่ตั้งใจจึงเกิดขึ้น เชร็คมีเวลาล้างคำสาปวิธีเดียว คือ ทำให้เจ้าหญิงฟีโอน่าตกหลุม รักเขาให้ได้ แต่ด้วยเงื่อนไขเวลาอันจำกัด เขาจะทำได้หรือไม่ หรือมันจะกลายเป็นความสุขสันต์ที่ไม่อาจหวนคืน?
Shrek Forever After เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่เน้นมุขตลกเรียกเสียงฮาเป็นหลัก แต่นัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม ได้คือ ข้อคิดที่แฝงเอาไว้ทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อย่ามองคนเพียงรูปกายภายนอก เรื่องความสามัคคี กัลยาณมิตร เป็นต้น ไม่เว้นแม้กระทั่งในภาคที่ 4 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายภาคนี้
คติที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือ “ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่” และ “การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต” ซึ่งเจ้ายักษ์เขียวไม่สามารถตัดกิเลสความต้องการเดิมของตนออกไปได้ และเปรียบไปไม่ต่างจากตัวแทนมนุษย์ ผู้ไม่พอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของตน
เชร็ค อาจแตกต่างตรงที่เขามีอะไรหลายอย่างเพียบพร้อม มีชีวิตที่สมบูรณ์ หากแต่ในความเพียบพร้อมเจ้ายักษ์เขียวกลับถวิลหาอดีตอันเป็นอิสระ ปราศจากภาระเรื่องครอบครัว และนั่นเป็นภาพสะท้อนของวุฒิภาวะของคนที่จะมาเป็นผู้นำครอบครัวได้ดี
ในสังคมปัจจุบัน เรามักพบปัญหาครอบครัว ในลักษณะการหย่าร้าง การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสามีภรรยา ซึ่งจำนวนไม่น้อยที่จุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดจากความไม่พร้อม ไม่ปรับตัว ไม่พอใจกับชีวิตคู่ที่ต้องมีความเปลี่ยนแปลง
ผู้ชายบางคนที่มีครอบครัวมีลูกแล้ว แต่ยังใช้เวลาแอบไปมีกิ๊ก กินเหล้าเมายา สนุกสนานกับเพื่อนฝูง ใช้ชีวิต ราวกับเป็นคนโสด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก “ความไม่พอใจในชีวิตที่เป็น” และ “การไม่รู้จักปรับตัวกับชีวิตใหม่”
กรณีของเชร็คนั้น ผลของความไม่ปรับตัวเอง ก็ทำให้เขาต้องสูญเสียชีวิตอันสมบูรณ์แบบ และทำลายอนาคตของตนเองอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งนั่นเป็นข้อคิดเตือนใจให้แก่ผู้ที่กำลังจะก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงจากชีวิตอิสระ ไปสู่การมีชีวิตคู่ได้ดี รวมถึงจากชีวิตคู่ที่กำลังจะมีสมาชิกตัวน้อยอีกด้วย
ในภาพยนตร์ยังมีวิธีล้างคำสาป แต่ในชีวิตจริง ก็คงมีแต่เพียง “ผลกรรม” ที่ต่อเนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด และการแก้ไขก็อาจจะไม่ได้ลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ... ดังนั้น “ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่” และ “การรู้จักปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต” นั้น ก็เป็นหลักคิดเดียวกับกับ “ความพอเพียง” กล่าว คือพอเพียง ในความสุข พอเพียงในความขาดเหลือ หรือล้นเกิน แล้วปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดเป็นความสมดุล อันจะทำให้เกิดเป็นความสุขยั่งยืนได้จริง
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 122 มกราคม 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)