อาหารและน้ำดื่มเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ อาหารและน้ำดื่มนอกจากจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงแล้ว ในส่วนประกอบของอาหารไทยยังมีสมุนไพรที่เป็นเครื่องปรุงช่วยรักษาโรคและอาการบางอย่างได้
ในหลักการการแพทย์แผนไทย ร่างกายของมนุษย์จะแข็งแรงได้ต้องมีภาวะที่สมดุลของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ด้วยเหตุผลที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน มีการแปรเปลี่ยนของสภาวะอากาศหลายลักษณะ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความสมดุลของธาตุ ทั้ง 4 ในร่างกาย และส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่อาศัยธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ประโยชน์ในการปรับสมดุลของร่างกาย เช่น การบริโภคอาหาร หรือน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ซึ่งมีคุณลักษณะของธาตุทั้ง 4 ทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติได้ การดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย สามารถกระทำได้โดยการดื่มตามเวลาใน 1 วัน ที่ธาตุในร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงไป (กาลสมุฎฐาน) โดยมีการแบ่งเวลาดังนี้
เวลา 06.00-10.00 น. และเวลา 18.00-22.00 น. ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ น้ำสมุนไพรที่บำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว ฯลฯ
เวลา 10.00-14.00 น. และ 22.00-02.00 น. ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ น้ำสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุไฟ ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสขม เช่น น้ำบัวบก น้ำลูกเดือย ฯลฯ
เวลา 14.00-18.00 น. และเวลา 02.00-06.00 น. ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุลม น้ำสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุลม ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ ฯลฯ
ในกรณีการเจ็บป่วยด้วยธาตุดินนั้นไม่ได้ขึ้นกับกาลเวลา แต่จะเกิดผลของการผิดปกติของธาตุอื่นๆ ดังนั้น การดื่มน้ำสมุนไพรหรือน้ำผลไม้เพื่อบำรุงธาตุดินนั้นจึงสามารถกระทำในเวลาใดก็ได้
ตัวอย่างน้ำสมุนไพรบำรุงธาตุดิน
• น้ำมะพร้าว
ส่วนผสม : มะพร้าวน้ำหอม (เนื้อและน้ำ) 1 ผล (500 กรัม) น้ำเชื่อม 30 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
วิธีทำ : เลือกมะพร้าวอ่อนพอดี ปอกเปลือกออก ใช้มีดที่คมเฉาะเปลือกตัวหัวมะพร้าว เทน้ำเก็บไว้ ผ่ามะพร้าวเป็น 2 ซีก ตักเฉพาะเนื้อมะพร้าวใส่เครื่องปั่นเติมน้ำมะพร้าวและน้ำตาล ชิมรสตามใจชอบ
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 500 กิโลแคลอรี แคลเซี่ยม 60 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 865 มิลลิกรัม
รสและสรรพคุณ : รสมัน ช่วยบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้กระหาย ทำให้สดชื่น
• น้ำแห้ว
ส่วนผสม : เนื้อแห้วต้มสุก 50 กรัม (ประมาณ 6-8 หัว) น้ำเชื่อม 30 กรัม เกลือเสริมไอโอดีน 1 กรัม
วิธีทำ : นำแห้วต้มสุกที่เตรียมไว้ใส่เครื่องปั่นกับน้ำให้ละเอียด เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น คนให้เข้ากัน นำไปแช่เย็น
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 111.07 กิโลแคลอรี วิตามินซี 3.00 มก.
รสและสรรพคุณ : รสหวานมัน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงธาตุ บำรุงเส้นเอ็น
ตัวอย่างน้ำสมุนไพรบำรุงธาตุน้ำ
• น้ำส้ม
ส่วนผสม : ส้มเขียวหวาน 3 ผล (คั้นน้ำ 200 กรัม) น้ำมะนาว 5 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ) เกลือไอโอดีน 1 กรัม (1/5 ช้อนโต๊ะ) น้ำเชื่อม 30 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
วิธีทำ : 1. ล้างผลส้มให้สะอาด ฝานตามขวาง 2 ซีก 2. คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำมะนาว น้ำเชื่อม เกลือ ชิมรส ตามต้องการ
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 197.37 กิโลแคลอรี ใยอาหาร 3.20 กรัม วิตามิน 865 มิลลิกรัม
รสและสรรพคุณ : รสเปรี้ยวของน้ำส้มทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะ
• น้ำฝรั่ง
ส่วนผสม : เนื้อฝรั่งสด (ฝรั่งสาลี่) 1 ผล (เนื้อฝรั่ง 300 กรัม) น้ำตาลทราย 200 กรัม เกลือไอโอดีน 8 กรัม น้ำ 6 ถ้วย
วิธีทำ : 1. ล้างฝรั่งให้สะอาด 2. เอาแต่เนื้อหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 3. ปั่นฝรั่งกับน้ำจนเนื้อฝรั่งละเอียด ตั้งไฟ ใส่น้ำตาล เกลือ พอเดือดยกลง ใส่น้ำแข็งบดก่อนเสิร์ฟ
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 115 กิโลแคลอรี วิตามิน 60 มิลลิกรัม ใยอาหาร 2.9 มิลลิกรัม
รสและสรรพคุณ : รสฝาด อมเปรี้ยว มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยแก้อาการท้องเดิน
ตัวอย่างน้ำสมุนไพรบำรุงธาตุลม
• น้ำขิง
ส่วนผสม : ขิงสด 15 กรัม (ขิงหั่นขนาด 1 นิ้ว 5-6 ชิ้น) น้ำ 240 กรัม (16 ช้อนโต๊ะ) น้ำเชื่อม 15 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ)
วิธีทำ : ปอกเปลือกขิงออกล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลกตั้งน้ำให้เดือด เอาขิงที่ทุบไว้ลงต้มให้เดือด กรองเอากากออก เติมน้ำตาล ชิมรสตามชอบ
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 61.5 กิโล-แคลอรี แคลเซียม 2.7 มก. ฟอสฟอรัส 3.3 มิลลิกรัม
รสและสรรพคุณ : รสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยเจริญอาหาร
• น้ำตะไคร้
ส่วนผสม : ตะไคร้ 20 กรัม (1 ต้ม) น้ำเชื่อม 15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่า 240 กรัม (16 ช้อนโต๊ะ)
วิธีทำ : นำตะไคร้มาล้างให้สะอาด หั่นเป็น ท่อนสั้น ทุบให้แตก ใส่หม้อต้มกับน้ำให้เดือด กระทั่งน้ำตะไคร้ออกมาปนกับน้ำจนเป็นสีเขียว สักครู่จึงยกลงกรองเอาตะไคร้ออก เติมน้ำเชื่อม ชิมรสตามชอบ หรืออาจเอาเหง้าแก่ที่อยู่ใต้ดินล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วไฟอ่อนๆ พอเหลือง ชงเป็นชา ดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา จะช่วยขับปัสสาวะ
รสและสรรพคุณ : รสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อได้ดี ช่วยลดพิษของสารแปลกปลอมในร่างกาย
ตัวอย่างน้ำสมุนไพรบำรุงธาตุไฟ
• น้ำใบบัวบก
ส่วนผสม : บัวบกทั้งต้น 30 กรัม (1 กำมือ) น้ำเชื่อม 60 กรัม (4 ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่าต้มสุก 240 กรัม
วิธีทำ : นำต้นบัวบกล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนสั้นๆ ใส่ลงในเครื่องปั่น เติมน้ำพอท่วมใบบัวบก ปั่นให้ละเอียดกรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำอีกครั้งหนึ่ง ที่เหลือคั้นน้ำอีกครั้ง บีบน้ำให้หมด เติมน้ำเชื่อม ชิมรส อาจลดหรือเพิ่มน้ำเชื่อมเล็กน้อยตามชอบ
คุณค่าทางโภชนาการ : พลังงาน 92 กิโล-แคลอรี วิตามินเอ 345 ไมโครกรัม แคลเซียม 392 มิลลิกรัม
รสและสรรพคุณ : แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้สดชื่น แก้อักเสบหรือช้ำใน แก้ปวดศีรษะข้างเดียว
• น้ำลูกเดือย
ส่วนผสม : ลูกเดือยดิบ 50 กรัม (5 ช้อนโต๊ะ กรัม) น้ำตาลทราย 10 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่า 250 กรัม (6 ช้อนโต๊ะ) เกลือเสริมไอโอดีน 1 กรัม (1/5 ช้อนโต๊ะ)
วิธีทำ : นำลูกเดือยล้างให้สะอาด ใส่หม้อ เติมน้ำตั้งไปเคี่ยวจนลูกเดือยสุกเปื่อย ใส่น้ำตาล เกลือป่น ใส่ในเครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามชอบ
รสและสรรพคุณ : ชงเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน บำรุงไต กระเพาะอาหาร ม้าม รวมทั้งบำรุงเลือดลมในสตรีหลังคลอด รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยสถาบันการแพทย์แผนไทย)