ชีวิตที่มีความสุขและสนุกกับงานที่ทำ ตลอดจนการได้รับการยอมรับในฐานะสื่อสารมวลชนมืออาชีพคนหนึ่ง นอกจากแรงสนับสนุนของครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ชมรายการ และโอกาสที่ได้รับจากผู้ใหญ่ที่มอบหมายงานที่ท้าทายให้กับเธอ“หมวย” ดร.อริสรา กำธรเจริญ ยังมีคุณครูและอาจารย์อีกหลายท่านที่ได้ทำหน้าที่เป็น เรือจ้างส่งเธอจนถึงฝั่ง ถึงวันนี้เธอยังคงซาบซึ้งในพระคุณของทุกท่านอยู่ตลอดเวลา
อดีตเชียร์ลีดเดอร์ งานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 51 และรองสาว แพรวปี พ.ศ.2539 ผู้เคยผ่านงานด้านวงการบันเทิงและพิธีกรมามากมาย จนทำให้เธอได้รับรางวัลเทพทอง ประเภทนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2551, รางวัล Star Entertainment Awards 2009 สาขาผู้ประกาศข่าวหญิงยอดเยี่ยม, รางวัล Think Positive Women 2009, รางวัล Cosmo Reflecting On Time Awards 2009 และเคยถูกรับเลือกให้เป็น “นางฟ้า” ของมูลนิธิรักษ์ไทย
ปัจจุบันเธอเป็นพิธีกรรายการ “ข่าววันใหม่” ทางช่อง 3 รายการ “ครอบครัวเดียวกัน” ทางทีวีไทย รายการ Living Mantra ทางช่อง 5 และผู้ประกาศข่าวของ TNN24
ดร.อริสราได้ยกตัวอย่างครูอาจารย์บางท่านที่มีอิทธิพลต่อชีวิต นับแต่ครั้งที่เธอยังคงเป็นเด็กหญิงเรียนชั้นประถม มาจนถึงในระดับปริญญาเอกให้ฟังว่า
“ระดับประถม ก็คือคุณครูฉวีวรรณ นิลประเสริฐ เป็นครูสมัยเรียนชั้น ป.1 ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวน คุณครูเป็นแบบอย่างในด้านที่ทุ่มเทให้กับการสอน ความมีวินัย และดูแลลูกศิษย์เป็นอย่างดี ไปถึงโรงเรียนตอนเช้า ครูก็จะให้อ่านหนังสือ พอเลิกเรียนก็ให้ทำเวร ห้องเรียนของเราจึงสะอาด ซึ่งเรื่องความมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลานี้ ได้มาจากครูฉวีวรรณ
ส่วนตอนเรียนชั้น ม.1-2 ก็คือ ครูลัดดาวรรณ สอนภาษาอังกฤษ ชอบวิธีการดูแลลูกศิษย์ของครู เวลาที่อ่านหนังสือนอกเวลาที่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าไม่เข้าใจ ครูก็จะมานั่งอธิบายให้ฟัง ครูลัดดาวรรณเป็นครูประจำชั้นด้วย ตอนเด็กๆ หมวยเป็นคนที่กลัวเข็มฉีดยา แล้วนักเรียนต้องถูกฉีดยาหลายอย่าง หมวยเป็นคนหนึ่งที่ร้องไห้เสียงดัง และต้องกอดครูแน่นเลย(หัวเราะ)
โตขึ้นมาหน่อยในระดับมัธยมปลาย ก็มีครูอีกหลายท่านที่มีอิทธิพล เช่น ครูสุมาลี สอนวิชาเคมี ครูรัตนวรรณ สอนภาษาอังกฤษ และครูวรนิตย์ ได้เห็นถึงความทุ่มเท ของครูแต่ละท่าน เพราะท่านมีความห่วงใยในการดูแลลูกศิษย์มากกว่าตัวของท่านเอง”
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรีที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากเป็นชีวิตที่สนุกเพราะได้เรียนในคณะและสาขาที่อยากเรียน นั่น ก็คือสาขาวิทยุโทรทัศน์ ทว่าอาจารย์ผู้สอนก็มีส่วนสำคัญอยู่ไม่น้อยที่ทำให้การเรียนของเธอไม่น่าเบื่อหน่าย
“มีอาจารย์หลายท่านที่มีบทบาท เช่น อาจารย์วีรศิริ สอนการถ่ายทำรายการทีวี การเขียนบท ว่าต้องทำอย่างไร และองค์ประกอบของรายการทีวี จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง”
แต่ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก สาขาสื่อสารการเมือง จนมีคำว่า “ดร.” เรียกนำหน้าชื่อในวันนี้ และอยากที่จะลองเปลี่ยนบทบาทไปเป็น นักวิชาการดูบ้าง คือ ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร
“ท่านเป็นครูที่มากกว่าครู มีชีวิตแบบนักวิชาการที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และทำงานวิจัย ตลอดเริ่มเรียนกับอาจารย์ตอนที่เรียนระดับปริญญาโท และยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์จะดูแลดีมากๆ รู้ว่าช่วงไหนที่จะปล่อยให้เราคิดเอง ไปเผชิญอุปสรรคเอง และรู้จังหวะว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่ การดูแลและเป็นห่วงลูกศิษย์ ทำให้รู้สึกว่าท่านเป็นทั้งคุณพ่อแล้วก็เป็นอาจารย์ด้วย
ตอนที่เรียนปริญญาโท เห็นอาจารย์แล้วทำให้ชอบชีวิตนักวิชาการเหมือนกัน เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก เพราะอาจารย์ด้วยส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญ ถึงตอนเรียนปริญญาเอก อาจารย์ก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อีก ต้องทำงานด้วยกัน ต้องเจอปัญหา เจออุปสรรคมากมาย สุดท้ายก็ฝ่าฟัน จนจบมาได้”
แม้ทุกวันนี้ภาพของการเป็นนักแสดงของ ดร.หมวย จะมีปรากฏให้เห็นไม่มากเช่นในอดีต แต่เธอก็คงจดจำได้ดีว่า เธอมีครูด้านการแสดงที่เคารพและนับถืออีกท่านหนึ่ง นั่นคือ “เดอะงัด” สุพล วิเชียรฉาย
“พี่งัดเป็นผู้กำกับและตอนนี้ก็เป็นผู้บริหารอยู่ที่ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ จำได้ว่าตอนที่ประกวดสาวแพรว พี่งัดก็ไปดูด้วยเหมือนกัน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เล่นละครที่พี่งัดกำกับ มีพี่งัดเป็นครูในด้านการแสดง การใช้ชีวิตในวงการบันเทิง และวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งตอนนี้เวลามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องงาน ก็ยังคงพูดคุยกับพี่งัดเสมอ”
ครั้งที่เรียนจบในระดับปริญญาโท เธอเคยรับหน้าที่ครู โดยสอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และปัจจุบันเธอสอนนักศึกษาปริญญาโท ด้านบริหารงานสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
และมากกว่าความรู้ สิ่งที่เธอสอดแทรกไปกับเนื้อหาวิชาการก็คือทักษะการใช้ชีวิต และวิธีการแก้ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากงานที่ทำ เพราะครูที่ดีในความคิดของเธอนอกจากการให้ความรู้แล้ว การให้ความรักและความปรารถนาดีก็เป็นสิ่งสำคัญ
“ครูมาจากคำว่า “ครุ” ที่แปลว่าหนัก คืออาชีพที่ต้องทำงานหนักมาก การสอนเป็นหน้าที่ที่ต้องทุ่มเทให้อยู่แล้ว นอกจากนั้น เราต้องเอาใจใส่เด็ก ดูแลเขาด้วยความรัก เขาก็จะเป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น
เหมือนตอนสอนที่เซนต์จอห์น มีลูกศิษย์บางคนที่ดื้อ ไม่ส่งงาน หมวยก็จะโทรตามนะ สุดท้ายเขาก็แพ้ความตั้งใจที่ดีของเรา เพราะเราต้องการจะให้เขารู้จริงๆว่า การเขียน บทมันเป็นอย่างนี้นะ หรือรู้ว่าเขาต้องทำอะไรให้ตรงตามเวลานะ เพราะถ้าคุณไปทำงาน ในโลกของการประกอบอาชีพจริงๆ คุณจะส่งช้าอย่างนี้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วเขาก็แพ้ความ หวังดีของเรา”
เนื่องใน “วันครู” ที่เวียนมาถึงในทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี นอกจากคำพูดที่ ดร.อริสรา อยากฝากไปถึงคุณครูและอาจารย์ทุกท่านที่เธอเคารพรักและไม่มีวันลืมพระคุณ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เธออยากเรียกร้องให้สังคมวงกว้างหันมาใส่ใจก็คือ การให้ความสำคัญและยกย่องอาชีพครู
“เพราะว่าครูคือคนที่สร้างคนให้กับประเทศชาติ เราต้องดูแลครูให้ดี ไม่ว่าจะในเรื่องของค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่างๆ และในเชิงของพฤติกรรม เราก็ควรที่จะยกย่องครู
อยากกราบคุณครูทุกท่านที่สอนมา เพราะชีวิตทุกช่วงวัย คุณครูทุกท่านมีบทบาทสำคัญมาก ช่วยปลูกฝัง ช่วยชี้แนะแนวทางจนเติบโตมา และมีวันนี้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 โดยพรพิมล)