xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : โพชฌงค์เจ็ด (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

คราวนี้กำหนดส่งเข้าสู่ปัญญาที่วิจัย คือไม่หยุดกำหนดอยู่เฉยๆ เท่านั้น ส่งขึ้นสู่ปัญญาวิจัย สติตอนนี้คือตอนที่ส่งขึ้นสู่ปัญญาวิจัยก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ขึ้นมา ปัญญาที่วิจัยก็เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ขึ้นมา ปัญญาที่วิจัยนั้นก็คือให้คอยรู้อยู่ที่ภายในนี้แหละ ในกาย เวทนา จิต ธรรม ว่าถ้าเมื่อกาย เวทนา จิต ธรรมรวมกันอยู่ดั่งนี้ ตัวกาย เวทนา จิต ธรรมนี้เป็นอะไร ตัวกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ก็เป็นกลางๆ ก่อน เรียกว่าเป็น อพฺ ยากตา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล แต่ว่าเป็นที่ตั้งของสติที่กำหนด สติตั้งอยู่ที่ไหน วิจัยดูลงไป ถ้าสติตั้งอยู่ที่กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ไปไหน ก็เป็น กุสลา ธมฺ มา ไป ธรรมที่เป็นกุศลก็คือตัวสตินี้เอง สติที่ตั้งกำหนด

คราวนี้ถ้าสติตกลงไป นิวรณ์เข้ามา เป็นกามฉันท์ก็ตาม เป็นพยาบาทก็ตาม พร้อมทั้งอารมณ์ที่นำนิวรณ์เข้ามา คือว่าจิตพลัดตกจากกาย เวทนา จิต ธรรม วิ่งไปหาอารมณ์ รูปบ้าง เสียงบ้าง เป็นต้น และก็นำเอานิวรณ์เข้ามา เป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นต้น ก็ให้วิจัยลงไปว่านี่เป็นอกุศล อกุสลา ธมฺ มา ธรรมที่เป็นอกุศล ปัญญาที่วิจัยเข้ามาดูอยู่ดั่งนี้ ให้รู้ว่ากาย เวทนา จิต ธรรมเองนี่เป็นอัพยากฤต เป็นกลางๆ เมื่อจิตตั้งอยู่สติตั้งอยู่ ตัวตั้งอยู่นั้นก็เป็นสมาธิเป็นสติ สติ สมาธินี้ก็เป็น กุสลา ธมฺ มา ธรรมที่เป็นกุศล แต่ว่าถ้าสติพลัดตกลงไป จิตพลัดตกไป คว้าเอาอารมณ์อื่นเข้ามา นำนิวรณ์เข้ามา นั่นก็ เป็น อกุสลา ธมฺ มา ธรรมที่เป็นอกุศล ให้คอยรู้อยู่ดั่งนี้ ปัญญาที่รู้คือตัวรู้ที่รู้อยู่ดังนี้ก็เป็นโพชฌงค์ข้อที่สอง หรือธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธรรมวิจัย เลือกเฟ้นธรรม ไม่ใช่ไปเลือกเฟ้นธรรมที่ไหน เลือกเฟ้นธรรมในใจนี้แหละ ถ้าไปเลือกเฟ้นธรรมที่อื่น ก็ไม่ใช่โพชฌงค์ข้อนี้ ต้องเลือกเฟ้นธรรมในใจ กาย เวทนา จิต ธรรมในใจ สติ สมาธิในใจ นิวรณ์ อารมณ์ในใจ

แต่ว่าความรู้วิจัยดังนี้ ต้องการให้รู้ทันที ไม่ใช่ให้รู้ช้าไป ในเบื้องต้นก็จะรู้ช้าไป เมื่อทำบ่อยๆ แล้วจะรู้ไว รู้ทันที วิจัยได้ทันที วิจัยธรรมในใจนี้ได้ทันที รู้จักตัวอพยากฤตที่เป็นที่ตั้ง รู้จักตัวกุศลที่เข้ามา รู้จักตัวอกุศลที่เข้ามา รู้จักทันทีรู้ทันที ดั่งนี้จึงจะเป็นธรรมวิจัย เป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์

เมื่อได้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ขึ้นมาดังนี้ ก็ย่อมจะได้โพชฌงค์ข้อต่อไปสืบต่อกันไป ก็คือ วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะ ความเพียรอันเป็นข้อที่สามได้อย่างไรก็คือว่า เมื่อรู้ทันทีว่านี่เป็นอกุศล อกุศลนั้นก็จะละไป รู้ ทันทีว่านี่เป็นกุศล กุศลก็จะตั้งอยู่ ก็เพราะว่าเมื่อรู้แล้วดั่งนี้ ไฉนจึงจะรักษาอกุศลไว้ ไฉนจึงจะทิ้งกุศลเสีย คล้ายกับรู้ว่าคนนี้เป็นคนโกง เมื่อรู้ว่าเขาโกงดั่งนี้แล้วก็ต้องทิ้งคนโกงอยู่เอง ไม่มีใครจะคบคนโกงเอาไว้ เมื่อรู้ว่านี่เป็นคนดีคนซื่อตรงเป็นมิตรแท้ ก็จะคบเอามิตรแท้ไว้ ที่ไหนจะทิ้งมิตรแท้ ฉะนั้นเมื่อรู้แท้ลงไปว่านี่เป็นอกุศลปหานะ การละอกุศลก็บังเกิดขึ้น ไม่มีใครที่จะรักษาเอาไว้ เมื่อรู้ว่านี่เป็นกุศล การรักษากุศลเอาไว้ก็จะบังเกิดขึ้นเรียกว่าภาวนา การอบรมกุศลให้บังเกิด รักษากุศลไว้ก็จะบังเกิดขึ้น ปหานะและภาวนานี่แหละเรียกว่าวิริยะ คือความเพียร จิตใจมีกำลังกล้าขึ้นเองในตัว ละอกุศลไปได้ทันที จะอบรมกุศลรักษากุศลเอาไว้ทันที คือจะละนิวรณ์ ทิ้งอารมณ์อันนั้นไปทันที แต่ว่าจะรักษาสติรักษาจิตใจให้ตั้งอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นที่ตั้งของสติของจิตนั้นไว้อย่างมั่นคงขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นอันได้วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะ ความเพียรข้อที่สาม

ปีติสัมโพชฌงค์

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ข้อที่สี่ต่อไป คือ ปีติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปีติ แปลกันว่า ความอิ่มใจ แต่อันที่จริงนั้นเป็นศัพท์ที่มาจากธาตุที่แปลว่าดื่ม คือจะมีการดูดดื่มธรรมที่เป็นกุศล ดื่มเอาธรรมที่เป็นกุศลนี้เข้าไว้ในใจด้วยภาวนา คายเอาอกุศลออกด้วยปหานะ ดื่มเอากุศลด้วยภาวนาที่เป็นวิริยะนั้น เมื่อดื่มกุศลเข้ามา กุศลนี้เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ดีเหมือนอย่างน้ำที่บริสุทธิ์ อาหารที่บริสุทธิ์ ธรรมที่เป็นกุศลอันเป็นอาหารที่บริสุทธิ์นี้ จึงบำรุงเลี้ยงจิตใจพร้อมทั้งกายให้อิ่มเอิบสำราญ ปรากฏเป็นความอิ่มกายอิ่มใจสบายเป็นสุข ดั่งนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นเองก็ เป็นอันได้ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งสัมโพชฌงค์ ก็คือปีติ

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เมื่อได้ปีติก็จะได้โพชฌงค์ข้อต่อไป คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ก็คือ ปัสสัทธิ ความสงบ สงบกายสงบใจอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน ใจสงบกายสงบ ปราศจากเครื่องเร่าร้อนเดือดร้อนทั้งหลาย เป็นความสงบที่ปราศจากอามิส คือกิเลสเป็นเครื่องล่อใจทั้งหลายอันนับว่าเป็นโพชฌงค์ข้อที่ห้า

สมาธิสัมโพชฌงค์

เมื่อได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ย่อมจะได้โพชฌงค์ข้อต่อไป คือ สมาธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ คือสมาธิ เพราะว่าเมื่อกายสงบก็ย่อมจะมีสุขที่ปราศจากอามิส ทั้งกายทั้งใจสบาย จิตจึงเป็นสมาธิตั้งมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่กำหนดนี้ยิ่งขึ้น เพราะว่าสมาธินั้นเมื่อมีสุขเป็นที่รองรับ คือสุขที่ปราศจากอามิส ย่อมตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้นไม่ซัดส่าย เพราะว่าตั้งอยู่บนความสุขที่ปราศจากอามิส

อุเบกขาสัมโพชฌงค์
เมื่อได้สมาธิดั่งนี้ก็ย่อมจะได้โพชฌงค์ข้อต่อไป อันเป็นข้อครบเจ็ดคือ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คืออุเบกขา อุเบกขาในที่นี้ท่านอธิบายว่า ได้แก่ความเข้าไปเพ่งจิตที่เป็นสมาธินั้นไว้ด้วยดี ความเข้าไปเพ่งจิตที่ เป็นสมาธินั้นไว้ด้วยดีอันมีลักษณะเป็นการดู ดูจิตที่เป็นสมาธิของตนเอง ดูอยู่เฉยๆ คือไม่เข้าไปจัดการปรุงแต่งวุ่นวาย ดูอย่างชนิดวางคือไม่ยึดถือ อุเบกขาที่มีลักษณะเป็นความเข้าไปดูชนิดที่ไม่วุ่นวายชนิดที่ไม่ยึดถือ ดังที่มักจะเรียกกันว่าวางเฉย แต่ไม่ใช่หมายความว่าทิ้ง ไม่ทิ้ง แต่ว่าเข้าไปเพ่งดูเข้าไปกำหนดดู ดูอย่างวางดูอย่างเฉยๆ ดูจิตที่เป็นสมาธิคือตั้งมั่นนั้นด้วยดี ดั่งนี้ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คืออุเบกขา อันเป็นข้อที่ครบเจ็ด ซึ่งท่านแสดงต่อไปว่า เมื่อถึงขั้นนี้ก็จะได้วิชชา วิมุตติต่อไป หรือว่าจะเลื่อนขึ้นเป็นมรรคมีองค์แปด หรือว่าเลื่อนขึ้นเป็นอริยสัจจ์ต่อไป

ฉะนั้น โพชฌงค์ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นธรรมหมวดสำคัญ ที่แสดงคู่กับสติปัฏฐานอยู่เสมอ ซึ่งมีอธิบายแยกกันเป็นคนละหมวดบ้าง รวมกันอยู่ในหมวดสติปัฏฐานทั้งหมดบ้าง แต่นั่นก็เป็นธรรมบัญญัติดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ควรรู้ตามพระบัญญัติหรือที่ทรงแสดงเท่านั้น แต่ผู้ปฏิบัติไม่ควรคำนึงถึงธรรมบัญญัติ แต่ให้ปฏิบัติเข้ามาภายใน แล้วสตินี่เองจะนำขึ้นไปเองโดยลำดับ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 110 มกราคม 2553 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น