xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้วไม่หวั่นไหว
ไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ
มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค
เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ

            ครั้งที่ 10
สาเหตุที่จิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว
         เมื่อรับอารมณ์

4.5 'ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ'

4.5.1 สาเหตุที่จิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เมื่อรับอารมณ์
การที่จิตปราศจากความยินดียินร้าย หรือไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหว ตามอารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คือ

(1) เกิดตามธรรมชาติ จิตชนิดที่เป็นวิบากจิตย่อมไม่มีความยินดียินร้ายในอารมณ์ และปราศจากความกระเพื่อม หวั่นไหวโดยตัวของมันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ ชัดเจนก็คือ เมื่อตากระทบรูป เกิดจิตทางตาชื่อว่า 'จักขุวิญญาณจิต' ขึ้นทำหน้าที่รู้รูปคือสี (แสง) ที่มากระทบตา จักขุวิญญาณจิตนั้นเป็นวิบากจิต ซึ่งไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีความปรุงแต่ง และไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหวโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว คงทำหน้าที่รู้สีไปเฉยๆ เท่านั้น แม้จิตที่รับฟังเสียง จิตที่ได้กลิ่น จิตที่รู้รส จิตที่รู้การกระทบสัมผัสทางกาย ก็เป็นวิบากจิตเช่นเดียวกัน ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติลองสังเกตจิตเหล่านี้ดูก็ได้

(2) เกิดเพราะการทำสมถกรรมฐาน ถ้าเพ่งจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตย่อม ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์อื่น แต่ยินดีอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น หรือถ้ากำหนดจิตให้หยุดสนิทอยู่บนความไม่มีอะไรเลย จิตก็ย่อม ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์อื่น แต่ยินดีอยู่ ในอารมณ์ของความไม่มีอะไรนั้น (อากิญจัญญายตนะ) วิธีการเหล่านี้เป็นการหนีความยินดียินร้ายด้วยการทำสมถกรรมฐาน

(3) เกิดในระหว่างการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คือในระหว่างเจริญสติเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามอยู่นั้น หากจิตเกิดความยินดีก็มีสติรู้ทัน หากจิตเกิดความยินร้ายก็มีสติรู้ทัน บรรดาความยินดียินร้าย นั้นก็จะดับลง จิตก็เข้าสู่ความเป็นกลาง ชั่วขณะ แต่หากเจริญวิปัสสนากรรมฐานไปจนจิตเกิดปัญญาระดับสังขารุเปกขาญาณ ได้เห็นความจริงว่าความปรุงแต่งทั้งปวงเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เช่นความสุขก็เป็นของชั่วคราว ความทุกข์ก็เป็นของชั่วคราว จิตก็จะเป็นกลาง และหมดความดิ้นรนกระเพื่อมหวั่นไหวยินดียินร้ายต่ออารมณ์ทั้งปวง

(4) เกิดในกรณีอื่นๆ เช่น ในขณะที่จิตทรงฌาน จิตย่อมปราศจากความยินดียินร้ายในกามคุณอารมณ์ หรือในขณะที่จิตเกิดอริยมรรคและอริยผล จิตจะเข้าถึงความเป็นกลางอย่างแท้จริง (มรรคได้ชื่อว่าทางสายกลาง) แม้ในระหว่างที่เกิดอริยมรรค อริยผลนั้น จิตอาจจะประกอบด้วยความสุข แต่จิตก็ปราศจากความยินดี คือมีความเป็นกลางต่อความสุขนั้น

(5) เกิดเพราะอารมณ์ไม่รุนแรงพอจะทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหว คือ (1) อารมณ์ทางกายทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น และกาย) อ่อนๆ ชื่อว่า ปริตตารมณ์ ซึ่งเมื่อกระทบแล้วจิตจะขึ้นสู่วิถีเพียงแค่โวฏฐัพพนะ ไม่ทันเข้าถึงชวนะอันเป็นช่วงที่จะเกิดความยินดียินร้ายได้ เช่นการเห็นภาพในที่สลัวๆ ไม่ชัดเจนว่าสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี จิตใจก็เกิดความเฉยๆ ต่อภาพที่เห็นนั้น (ยกเว้นแต่จะเกิดความคิดต่อเนื่องไปอีกว่า สิ่งที่เห็นไม่ชัดนั้น น่าจะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเกิดความยินดียินร้ายขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการเปลี่ยนไปสู่อารมณ์ใหม่แล้ว คือเปลี่ยนจากการรู้รูปด้วยตา ไปสู่การคิดเรื่องราวด้วยใจ อันมีสมมติบัญญัติเป็นอารมณ์) หรือ (2) อารมณ์ทางกายทวารที่อ่อนที่สุดชื่อว่า อติปริตตารมณ์ เช่นคนที่กำลังหลับลึก แล้วได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ จิตเกิดไหวตัวในภวังค์ไหว (ภวังคจลนะ) เพียง 2 ขณะ แล้วอารมณ์นั้นก็ดับไป จิตไม่ทันขึ้นวิถีปรุงเป็นความยินดียินร้าย หรือ (3) อารมณ์ทางใจที่ละเอียด ไม่ปรากฏชัด ชื่อว่า อวิภูตารมณ์ อาจเป็นอารมณ์ปรมัตถ์หรือบัญญัติก็ได้ โดยจิตจะขึ้นวิถีรับอารมณ์ทางมโนทวารที่มโนทวาราวัชชนจิตเท่านั้นแล้วก็ตกลงสู่ภวังค์เลย หรือทำงานเพียงเล็กน้อยแล้วก็ตกลงสู่ภวังค์ เช่นความคิดในขณะที่ยังไม่รู้ว่าคิดอะไร คิดแต่คิดไม่ออก จำไม่ได้ หรือความฝันที่เลือนรางคล้ายอาการของคนที่นอนหลับ ไม่สนิท เป็นต้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก )
กำลังโหลดความคิดเห็น