xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวียดนาม : พระพุทธรูปหยกใหญ่ที่สุดในโลก
คณะสงฆ์ศรีลังกาวอนรัฐ ตรวจสอบตำราพุทธอย่างละเอียด
• ศรีลังกา : ประธานาธิบดีมหินธาราชปักษา แห่งศรีลังกา ได้รับบันทึกความจำจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของทั้ง 3 นิกาย เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาสร่วมกันตรวจสอบตำราทางพุทธศาสนา โดยระบุว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาบิดเบือนพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและศาสนาพุทธ
โดยบรรดาพระเถระได้ระบุว่า มีหนังสือบางเล่มซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้ ได้บิดเบือนเรื่องพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอน และช่วงเวลาขององค์พระศาสดาและพุทธศาสนา และได้ยกตัวอย่างหนังสือ 2 เล่มที่มีชื่อว่า “Apa Upan Me Helabima Budun Upan Jambuddepaya” และ “Buddhothpaththiya Heladivai” ซึ่งให้ข้อมูลผิดๆเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ และคำสอน รวมทั้งเหตุการณ์ในพุทธประวัติ
ทั้งนี้ การบิดเบือนข้อมูลดังกล่าว จะไม่เกิดขึ้น ถ้าต้นฉบับของหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและพุทธประวัติ ถูกส่งให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์และฆราวาส ที่มีความรู้เป็นอย่างดี ตรวจสอบก่อนอนุมัติการพิมพ์
(จาก Daily Mirror)

นิกายโชเกได้ผู้นำสงฆ์รูปใหม่
• เกาหลี : สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า ได้มีการแต่งตั้งพระจาเซือง พระหนุ่มหัวก้าวหน้า ขึ้นเป็นผู้นำคณะสงฆ์นิกายโชเก เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
พระจาเซือง วัย 55 ปี เคยเป็นประธานคณะกรรมการกลางของนิกายโชเก ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถึง 91.48 % ให้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร เป็นคนที่ 33 แทนพระจิกวาน โดยได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2009 เป็นเวลา 4 ปี มีหน้าที่ดูแลงบประมาณประจำปีจำนวน 3 หมื่นล้านวอน ขององค์กร
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพระสงฆ์ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น 320 รูป มีผู้ใช้สิทธิ 317 รูป พระจาเซืองได้รับคะแนน 290 เสียง
“อาตมาจะมุ่งทำงานเพื่ออนาคตใหม่ของพุทธศาสนาแบบเกาหลี” พระจาเซืองกล่าวหลังได้รับเลือกตั้ง และจะเน้นในเรื่องการติดต่อสื่อสารและความสามัคคีระหว่างชาวพุทธนิกายต่างๆ
พระจาเซือง เกิดปี 1954 ในจังหวัดกางวอน อุปสมบทเป็นพระในนิกายโชเก เมื่อปี 1986 เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและฝ่ายบริหารขององค์กร และผู้อำนวยการมูลนิธิทุนสถาบันส่งเสริมพุทธศาสนิกชน “Eunjung”
อนึ่ง โชเก เป็นนิกายในพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีวัดทั้งสิ้น 2,501 แห่ง และพระสงฆ์ 13,860 รูปทั่วประเทศ เป็นนิกายที่ถือปฏิบัติสืบทอดมานานกว่า 1,200 ปี ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรซิลลา (57 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ปีค.ศ. 935) แต่ได้เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1962
(จาก Koreatime)

เวียดนามเตรียมแกะสลักพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่สุดในโลก
• เวียดนาม : เวียดนามกำลังเตรียม แกะสลักพระพุทธรูปจากหยกก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีขนาดกว้าง 2.3 เมตร สูง 3 เมตร หนา 2.4 เมตร หนัก 35 ตัน โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ดาวตรอง เกือง รองผู้อำนวยการสถาบัน เครื่องประดับอัญมณีแห่งชาติ และผู้อำนวยการบริษัท Than Chau Ngoc Viet Jewellery ซึ่งประดิษฐ์ภาพเขียนประดับด้วยอัญมณี ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จังหวัดไหเซือง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดหีบบรรจุหยกก้อนใหญ่ ซึ่งส่งมาจากประเทศพม่า
รองผู้อำนวยการสถาบันเครื่องประดับอัญมณีแห่งชาติเล่าว่า เห็นหยกก้อนนี้ครั้งแรกในงานประมูลหยกนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่พม่า ปี 2006 และต่อมาได้ตกลงซื้อในราคา 1.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 50 ล้านบาท เพื่อนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนัก 15 ตัน โดยหวังสร้างภาพพจน์เวียดนามให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
โดยเกืองและเหล่าช่างฝีมือจะเดินทางไปที่อินเดียและเนปาล เพื่อศึกษาพระพุทธรูปในแบบต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาแกะสลักพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลกองค์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี
อนึ่ง พระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลกองค์ปัจจุบัน มีชื่อว่า ‘พระพุทธรูป หยกเพื่อสันติสุขโลก’ มีขนาดสูง 3.5 เมตร หนัก 4.65 ตัน แกะจากก้อนหยกเนไฟรต์หนัก 18 ตัน ซึ่งขุดพบในแคนาดาเมื่อปี 2000 แกะโดยช่างฝีมือชาวไทย แล้วเสร็จในปี 2008 ประดิษฐานอยู่ที่มหาโพธิสถูป ศูนย์อติสสะ ในออสเตรเลีย
(จาก VNA)

พบภาพพระพุทธรูปหินแกะสลัก ในมณฑลชิงไห่
• จีน : สำนักงานโบราณวัตถุมณฑลชิงไห่ของจีนเปิดเผยว่า ในการสำรวจค้นหาโบราณวัตถุแห่งชาติครั้งที่ 3 ในมณฑลชิงไห่ ได้พบภาพพระพุทธรูปหินแกะสลักจำนวนมากเป็นบริเวณกว้าง ในเขตปกครองตนเองทิเบตยูชุ ซึ่งอยู่ในมณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การค้นพบครั้งนี้จะเป็นการส่องทางในการศึกษาประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของนิกายเกลุกปะ (นิกายหมวกเหลือง) ของพุทธทิเบต
ภาพพระพุทธรูปที่พบ ถูกแกะสลักบนหินปูน 4 ก้อน กระจัด กระจายทั่วบริเวณ 1,000 ตารางเมตร มีทั้งรูปเจ้าแม่ กวนอิม 1,000 กร พระพุทธ-เจ้า 1,000 องค์ พระนางตารา พระซองคาปา และพระปัทมสมภพ รวมทั้งคำจารึกในภาษาทิเบต โดยภาพที่ใหญ่ที่สุดคือ รูปเจ้าแม่กวนอิม 1,000 กร ซึ่งมีความยาว 6 เมตร กว้าง 3 เมตร
หนึ่งในทีมสำรวจให้ข้อสรุปว่า การแกะสลักภาพพระพุทธรูปนั้น เริ่มต้นในสมัยราชวงค์หมิง (ปีค.ศ.1368-1644) ต่อเนื่องไปถึงราชวงค์ชิง (ค.ศ.1644-1911) และเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และการเข้ามาของนิกายเกลุกปะของพุทธทิเบตในบริเวณดังกล่าว
(จาก People’s Daily)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียตะวันออก ในเยอรมัน จัดนิทรรศการพุทธศิลป์จีน “หัวใจของการตรัสรู้”
• เยอรมัน : พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียตะวันออก ในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมันนี ได้จัดแสดงนิทรรศการพุทธศิลป์จีนในช่วงปีค.ศ. 550-600 ภายใต้ชื่อ “หัวใจของการตรัสรู้” ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2009 -10 มกราคม 2010 โดยมีการจัดแสดงภาพพิมพ์ถูู จากจารึก คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่แกะสลักบนหิน ณ บริเวณภูเขาในจังหวัดชานตง ในสมัยราชวงค์ฉีเหนือ เพื่อแปลงโลกให้กลายเป็นพุทธภูมิ รวมทั้งพระพุทธรูปหินแกะสลักในสมัยเดียวกัน โดยโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงนี้ ส่วนใหญ่มาจากคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ Cologne ซึ่ง อดอล์ฟ ฟิชเชอร์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เป็นผู้สะสม และบางส่วนขอยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ Rietberg ในซูริค และของสะสมจากภาคเอกชน
นอกจากนี้ ในนิทรรศการยังมีการจัดแสดงภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ท่องไปตามเทือกเขาของจังหวัดชานตง เพื่อค้นหาศิลาจารึก หรืออ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกด้วย
โดยนิทรรศการครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก สถาบันวิทยาศาสตร์ไฮเดลเบิร์ก แห่งเยอรมนี และกองงานอนุสรณ์ประวัติศาสตร์
เมืองซูเช็ง ในจังหวัดชานตง ของจีน
(จาก www.museenkoeln.de)

วัดในมาเลย์พิมพ์หนังสือพุทธศาสนา ภาษาลูกันดาเป็นครั้งแรก
• มาเลเซีย : วัดมหาวิหาร ย่านบริคฟีลส์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ได้ฤกษ์ออกหนังสือธรรมะภาษาลูกันดา ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของประเทศอูกันดา ในทวีปอัฟริกา เป็นเล่มแรก นับเป็นภาษาที่ 16 ซึ่งจัดพิมพ์โดยโครงการสิ่งพิมพ์แจกฟรีของ วัดมหาวิหาร เพื่อเผยแพร่แก่ชุมชนชาวพุทธเฉพาะกลุ่มทั่วโลก
โดยนำเรื่อง “How to Practise Buddhism” ซี่ง พระดร.ศรี ธรรมนันทะ ได้เขียนไว้ มาแปลเป็นภาษาลูกันดา สำหรับบรรณาธิการของหนังสือ เล่มนี้ คือ พระบันเต ยู พุทธรักขิต ซึ่งเป็นพระอัฟริกันฝ่ายเถรวาทเพียงรูปเดียวในปัจจุบัน
พระพุทธรักขิต เป็นผู้เขียนหนังสือ “Planting the Seeds of Dhamma” ซึ่งพูดถึงการปรากฏขึ้นของพุทธศาสนาในทวีปอัฟริกา ซึ่งทางวัดตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและจีน และได้รับความนิยมมาก
ทั้งนี้ ท่านยังช่วยก่อตั้งศูนย์พุทธศาสนาแห่งอูกันดา ในกรุงกัมปาลา ซึ่งถือเป็นศูนย์พุทธศาสนาแห่งแรกในทวีปอัฟริกา ที่ก่อตั้งโดยพระสงฆ์ชาวอัฟริกัน โดยมารดาของท่านได้บวชเป็นแม่ชีฝ่ายเถรวาทคนแรก ที่เป็นชาวอัฟริกัน
ศูนย์พุทธศาสนาแห่งอูกันดาเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีชาวพุทธเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธต่างแดน และชุมชนผู้อพยพชาวจีน ไทย พม่าและศรีลังกา ในอูกันดา
วัดมหาวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาแจกฟรีปีละ 2-3 แสนเล่ม เป็นภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ จีน มาเลเซีย ทมิฬ สิงหล เวียดนาม พม่า ไทย บราซิล โปรตุเกส สเปน ฮินดี กันนาดา เตเลกู กิชวาฮิลีและภาษาชิเชวา รวมทั้ง CDs, VCDs และ MP3s เพื่อแจกจ่ายฟรีอีกด้วย
อนึ่ง วัดมหาวิหาร ได้เปิดสอนธรรมะแก่คนหูหนวก โดยใช้ภาษามือ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในมาเลเซีย
(จาก The Buddhist Channel)

มูลนิธิพุทธฉือจี้ รีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นผ้าห่ม แจกเหยื่อภัยพิบัติใน 20 ประเทศ
• ไต้หวัน : เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่มูลนิธิพุทธฉือจี้แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นมูลนิธิการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ริเริ่มโครงการแปลกแหวกแนว โดยนำขวดพลาสติกใช้แล้วจากกองขยะในกรุงไทเป ซึ่งมีประชากร 2.6 ล้านคน มารีไซเคิลเป็นผ้าห่มโพลีเอสเตอร์กันหนาวได้ถึง 244,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยพิบัติใน 20 ประเทศทั่วโลก
โดยขณะนี้ ทางมูลนิธิฯได้ขยายโครง การรีไซเคิล เพื่อทำเสื้อผ้า ผ้าพันคอ และถุงผ้าช้อปปิ้ง ซึ่งได้แนวคิดมาจากนักธุรกิจ ชาวไต้หวันผู้หนึ่ง โดยส่งขวดพลาสติกใช้แล้วไปยังโรงงาน เพื่อแปรรูปเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ จากนั้นนำไปให้เหล่าอาสาสมัครออกแบบตัดเย็บ เป็นผ้าห่มหรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
“เครื่องนุ่งห่มเหล่านี้ผลิตได้เร็วกว่าโรงงานทั่วไป เพราะทำด้วยใจกุศล” วู เยยิน หัวหน้าอาสาสมัครกล่าว เพราะมีอาสาสมัครมากกว่า 100 คน คอยตัด เย็บ พับใส่กล่อง เพื่อรอแจกจ่ายให้ผุ้ประสบภัยในครั้งหน้า
อนึ่ง มูลนิธิพุทธฉือจี้ เป็นมูลนิธิการกุศลเอกชน ก่อตั้งในปี 1966 จัดส่งอาสาสมัครและสิ่งของ ไปช่วยเหลือภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดของโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พายุเฮอริเคนคาทริน่าที่ถล่มสหรัฐเมื่อปี 2005 และเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในมณฑลเสฉวนของจีนเมื่อปีที่แล้ว
ล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นเข้าถล่มไต้หวันจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน มีผู้เสียชีวิต 770 คน ลี กิวยางและสมาชิกในครอบครัว 4 คน ซึ่งติดอยู่บนหลังคาบ้านเป็นเวลา 4 วัน ได้รับแจกผ้าห่มรีไซเคิลจากมูลนิธิฯ เขากล่าวว่า “เสื้อผ้าและผ้าห่มที่ทำด้วยผ้าฝ้ายของเราเปียกน้ำหมด เมื่อได้รับผ้าห่มจากมูลนิธิฯ เราดีใจมาก”
มูลนิธิฯจะจัดส่งเสื้อผ้า ผ้าพันคอ และถุงผ้า ไปให้ผู้ประสบภัยโดยตรง และบางส่วนจะนำออกขายในท้องถิ่น เพื่อนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาสาธารณภัย อื่นๆ
“เราไม่ได้ตั้งเป้าแน่นอนว่าจะผลิตเท่าไหร่ เพราะเราไม่ใช่โรงงานทั่วไป” เชน ยิชุน ประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิฯกล่าว “เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้เราผลิตก็คือ บรรดาผู้ประสบภัยต้องใช้ของเหล่านี้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง”
(จาก Reuters)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยเภตรา)
เกาหลี : พระจาเซือง ผู้นำคณะสงฆ์นิกายโชเก
จีน : ภาพพระพุทธรูปหินแกะสลัก ในมณฑลชิงไห่
เยอรมัน : นิทรรศการพุทธศิลป์จีน หัวใจของการตรัสรู้
เยอรมัน : นิทรรศการพุทธศิลป์จีน หัวใจของการตรัสรู้
มาเลเซีย : พระบันเต ยู พุทธรักขิต
กำลังโหลดความคิดเห็น