xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิธีสังเกตว่าโลภะนั้นเป็นทุกข์หรือสมุทัยให้ดูที่จิต
ถ้าโลภะนั้นมีกำลังผลักดันให้จิตเกิดการกระทำกรรม
โลภะนั้นกำลังทำหน้าที่ในฐานะสมุทัย คือเป็นตัณหา


ครั้งที่ 05 อธิบายศัพท์ สมุทัย

3.3 สมุทัย

สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ 'ตัณหา' ซึ่งองค์ธรรมของตัณหาก็คือ 'โลภะ' หรือความอยาก

โลภะนั้นมี 2 สถานะ คือในสถานะที่เป็น กิเลสตัวหนึ่งก็จัดอยู่ในสังขารขันธ์ อันจัดว่าเป็นกองทุกข์ เมื่อโลภะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติจึงพึง 'รู้' ตามกิจต่อทุกข์ในอริยสัจ อีกสถานะหนึ่งเป็นตัวสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ผู้ปฏิบัติจึงพึง 'ละ' ตามกิจต่อสมุทัยในอริยสัจ วิธีสังเกตว่าโลภะนั้นเป็นทุกข์หรือสมุทัยให้ดูที่จิต ถ้าโลภะไหลผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิต โลภะนั้นจัดว่ายังอยู่ในกองทุกข์ แต่ถ้าโลภะนั้นมีกำลังผลักดันให้จิตเกิดการกระทำกรรม (การทำงานทางใจโดยเจตนา เรียกว่าภพ หรือกรรมภพ) โลภะนั้นกำลังทำหน้าที่ในฐานะสมุทัย คือเป็นตัณหาซึ่งกำลังผลักดันให้เกิดภพหรือการทำงานทางใจ

3.4 ทุกข์

องค์ธรรมของทุกข์ได้แก่ 'อุปาทานขันธ์หรือรูปนามอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นของจิต' แต่อาการปรากฏของทุกข์ ที่คนเรารู้จักก็เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความไม่สมปรารถนา ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความเหี่ยวแห้งใจ เป็นต้น

3.5 จิตเห็นจิต

ได้กล่าวแล้วในข้อ 3.1 ว่า จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จึงเกิดปัญหาว่าแล้วอะไรเป็นเครื่องรู้จิต? หลวงปู่ได้ตอบปัญหานี้ไว้แล้วอย่างถูกต้องว่า 'จิตเห็นจิต' หมายถึงจิตดวงปัจจุบันมีสติไปรู้จิตดวงที่ดับไปแล้วสดๆ ร้อนๆ

ในความเป็นจริง จิตไม่ได้มีเพียงดวงเดียวแล้วคงทนถาวรอยู่นิรันดรดังที่คนทั่วไปเข้าใจกัน หากแต่จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำหน้าที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้ว หากจิตดวงใหม่มีสติไประลึกรู้จิตดวงเดิม จิตดวงเดิมซึ่งหมด สถานะจากธรรมชาติที่รู้อารมณ์ไปแล้ว ก็เปลี่ยนสถานะไปเป็นอารมณ์ให้จิตดวงใหม่รู้

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าสติเป็นอนัตตา ดังนั้นทำอย่างไรสติจะเกิดระลึกรู้จิตดวง ที่เพิ่งดับไปแล้วได้เนืองๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการจิตเห็นจิตตามคำสอนของหลวงปู่ คำตอบในเรื่องนี้ก็คือผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องหัดตามรู้จิตเนืองๆ จนจิตจดจำสภาวะของจิตได้แม่นยำ (มีถิรสัญญา) แล้ว สติจะเกิดตามระลึกรู้จิตที่เพิ่งดับไปได้เอง

3.6 อย่างแจ่มแจ้ง

จิตเห็นจิตได้ด้วยเครื่องมือคือสติ อันเป็นเครื่องระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของจิตดวงที่เพิ่งดับไป แต่จิตจะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้ด้วยปัญญา คำว่า 'เห็นอย่างแจ่มแจ้ง' หมายถึงเห็นความจริงคือไตรลักษณ์

ปัญญามี 'สัมมาสมาธิ'คือความตั้งมั่นของจิต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีจิตสิกขาให้เพียงพอ จนจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ แล้วปัญญาจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตได้เอง

จิตสิกขาหรือการศึกษาเรื่องจิตเพื่อให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธินั้น กระทำได้ 2 แบบ แบบแรกทำความสงบลึกในขั้นฌาน จนเกิด 'เอโกทิภาวะ' คือความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูของจิต อีกแบบหนึ่งใช้ความสังเกตจิต จนรู้ว่าจิตที่ไม่ตั้งมั่นกำลังปรากฏอยู่ แล้วจิต จะเกิดความตั้งมั่นชั่วขณะได้เองโดยอัตโนมัติ (อ่านเรื่อง 'จิตสิกขา' ได้จากหนังสือ วิมุตติมรรค ซึ่งผู้เขียนได้พิมพ์แจกทั่วไปแล้ว)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
อธิบายศัพท์คำว่ามรรค)
กำลังโหลดความคิดเห็น