xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 4 หนทางเป็น 'คู่สร้างคู่สม' ตัวจริง ทั้งชาตินี้-ชาติหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลักธรรมส่งเสริมให้ชายหญิงที่เป็นคู่สามีภรรยา อยู่ครองเรือนกันอย่างยืดยาวนานจนแก่เฒ่า และตายจากกันไปในที่สุด และแม้ตายแล้วก็มีโอกาสเป็นคู่สามีภรรยากันอีกในชาติต่อไปนั้น มี ๔ ประการ เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ คือ สมสัทธา สมสีลา สมจาคา และสมปัญญา
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑) ว่า

“ดูก่อน คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ก็จะได้พบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”

จากพระพุทธพจน์นี้ ในหนังสือธรรมนูญชีวิต หมวดสาม คนกับคน ข้อ ๑๓ คนร่วมชีวิต(คู่ครองที่ดี) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กำหนดเรียกสามีภรรยาที่ประพฤติธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ว่า คู่สร้างคู่สม และได้ขยายความว่า

“...มีหลักธรรมของคู่ชีวิตที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกันเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ
๑. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้
๒. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้
๓. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นพอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
๔. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง”

สมชีวิธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ได้ขยายความหมายเชิงปฏิบัติไว้(อีกสำนวนหนึ่ง) ดังนี้
๑. สมสัทธา สามีภรรยามีศรัทธาเสมอกัน ศรัทธา คือความเชื่อ ความเลื่อมใส ทัศนคติ อุดมการณ์ ความคิดเห็นในเรื่องการทำความดี เรื่องผลแห่งความดีเรื่องบุญบาป เรื่องชาตินี้ชาติหน้า เป็นต้น สามีภรรยาที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้เสมอกัน ย่อมอยู่ด้วยกันได้ยืนนานกว่าสามีภรรยาที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องเช่นนี้
๒. สมสีลา สามีภรรยามีศีลเสมอกัน ศีล คือความประพฤติ ปกตินิสัย การปฏิบัติตามคุณธรรม งดเว้นการทำผิดพูดชั่ว สามีภรรยาที่มีความประพฤติ มีปกตินิสัยเสมอกันหรือคล้ายคลึงกัน ย่อมเข้าใจกันดีกว่าสามีภรรยาที่มีนิสัยต่างกัน ประพฤติต่างกัน และพูดต่างกัน
๓. สมจาคา สามีภรรยามีจาคะเสมอกัน จาคะ คือความเสียสละ ความเอื้อ อารีต่อกัน การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น สามีภรรยาที่มีใจคอกว้างขวาง มีน้ำใจพอๆกัน ยินดีในการเสียสละ ชอบบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นเหมือนกัน และยินดีในการกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของตนให้หมดไปเช่นกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดกว่าสามีภรรยาที่มีใจคอคับแคบ แม้กระทั่งคู่ครองของตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งไม่ชอบช่วยเหลือใครๆ
๔. สมปัญญา สามีภรรยามีปัญญาเสมอกัน ปัญญา คือความฉลาดรอบรู้ ความเข้าใจในบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ความฉลาดในการทำความดี สามีภรรยาที่มีปัญญามีความฉลาดรอบรู้ และฉลาดในการทำความดีพอๆกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดยาวกว่าสามีภรรยาที่ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ต่างไม่มีเหตุผล ไม่ใช้สติปัญญาเข้าหากัน มีแต่ใช้อารมณ์เข้าหากันตลอดเวลา
(พระธรรมกิตติวงศ์ : หลักธรรมสำหรับพัฒนาธรรมจริยา หน้า ๑๑๖-๑๑๗)

สามีภรรยาคู่ใดก็ตาม ที่นำหลักธรรมทั้ง ๔ นี้ไปประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียกสามีภรรยาคู่นั้นว่า คู่ครองที่ดี หรือ คู่สร้างคู่สม คือ มีหลักธรรมของคู่ชีวิตที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกันเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
กำลังโหลดความคิดเห็น