xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : ความสุขใต้เบื้องพระยุคลบาท ศิลปินแห่งชาติ 'สุเทพ วงศ์กำแหง'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้จะแพ้คดีฟ้องบริษัทแม่ไม้เพลงไทยที่ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง แต่นักร้องลูกกรุง ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากลขับร้อง) ปีพ.ศ.2533 ชาวจังหวัดนครราชสีมา ยังคงมีกำลังใจจะสานต่อและปรับปรุงงานเพลงที่เขารักให้มีคุณภาพมากขึ้นไปเรื่อยๆ
“ผมไม่เคยเครียด แค่เรียกร้องในสิทธิที่เราควรจะได้แค่นั้นเอง แต่เมื่อไม่ได้เราก็ไม่ว่าอะไร ปรึกษากับนายกสภาทนายความ ‘เดชอุดม ไกรฤทธิ์’ และนายกรัฐมนตรี ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ว่าเราควรจะคุยกันเรื่องนี้เพราะมันจำเป็น ไม่ต้องการให้เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นกับคนอื่น”
สุเทพคือนักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์ ที่ ‘รงษ์ วงษ์สวรรค์’ ตั้งฉายาให้ เพราะมีน้ำเสียงอันเสนาะและมีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเพลง ‘รักคุณเข้าแล้ว’ ซึ่งสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นผู้ประพันธ์บทร้อง อีกเพราะมีโอกาสร้องเพลงคู่กับ สวลี ผกาพันธุ์ หรือ เชอร์รี่ เศวตนันทน์ นักร้อง และอดีตนางเอกละคร ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (เพลงไทยสากลขับร้อง) ปี พ.ศ.2532
ในวัย 75 ปี ของเขา ซึ่งมีตำแหน่งเป็น นายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ยังคงมีเรี่ยวแรงไปร้องเพลงขับกล่อมผู้คน ณ ห้องอาหารรสสุคนธ์ โรงแรมรอยัลแปซิฟิค ทุกวันจันทร์ เวลา 21.00 น. และในทุกวัน หากไม่มีคิวให้ต้องไปเป็นแขกรับเชิญร้องเพลงในงานการกุศล สุเทพ ก็จะออกจากบ้านไปทำงานเพลงอยู่ที่ สำนักงานสุเทพ วงศ์กำแหง ย่านถนนดินสอ ซึ่งเขาเคยใช้เป็นสำนักงานร้องทุกข์เมื่อครั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)ของกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้มันได้กลายเป็นสำนักงานเพลงของเขาและสำนักงานร้องทุกข์ของภรรยา ‘ผุสดี วงศ์กำแหง (อนัฆมนตรี)’ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) จากนั้นตกเย็นจึงจะกลับบ้านเพื่อพักผ่อนและคลุก คลีอยู่กับหลานชายสองคน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยน่ารัก
“พยายามเปิดเพลงให้เขาฟัง วันหนึ่งข้างหน้าเขาจะสนใจหรือไม่ก็ปล่อยเขา เพราะชีวิตทุกคนต้องเลือกเอาเอง” นักร้องชื่อดังซึ่งยามนี้กลายเป็นคุณปู่แล้วแสดงความเห็น
สุเทพมีบุตรสามคน บุตรสาวคนโตของเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสามีเป็นคนอเมริกัน บุตรชายคนกลางสร้างครอบครัวกับภรรยาชาวมุสลิมอยู่ที่ หาดใหญ่ สงขลา ส่วนบุตรชายคนเล็กไม่ได้อยู่ห่างไกลเขานัก เพียงแต่แต่งงานและแยกตัวไปสร้างครอบครัวใหม่อยู่ที่ย่านถนนเพชรบุรี ของกรุงเทพมหานคร
“ทุกคนเขามีอาชีพการงานกันหมด และไม่มีอะไรให้ต้องห่วง แต่ไม่มีสักคนที่สนใจร้องเพลงครับ” (หัวเราะ)
บั้นปลายของชีวิต สุเทพกล่าวว่าขอเลือกที่จะมีความสุขอยู่กับการร้องเพลง
“ร้องเพลงแล้วมีความสุข และถ้าคนอื่นมีความสุขเราก็มีความสุขด้วย ตอนที่เป็น สส.ก็มีความสุข เพราะเราสามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายของไทย ที่ห้ามวงดนตรีเล่นเครื่องดนตรีหลายชิ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่มีที่ไหนในโลกแต่ที่เมืองไทยมี เราร่วมแก้กฎหมายจนเครื่องดนตรีกี่ชิ้นก็เล่นได้ ทำให้วงดนตรีเขาไม่ต้องวงแตก แล้วนักร้องก็ไม่ต้องกลับไปร้องเพลงเพลงเดียวที่มีแต่เสียงของเปียโน”
หากเหนื่อยกับการร้องเพลงเมื่อไหร่ เขาขอเลือกที่จะเขียนหนังสือและเขียนรูป หากยังจำกันได้เมื่อสิบปีก่อน ผลงานเขียนของสุเทพที่บอกเล่าถึงสิ่งที่ผ่านพบมาในชีวิต เคยถูกตีพิมพ์ออกมาในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊คส์เพื่อจำหน่ายแล้วประมาณสามสี่เล่ม และยังจะมีตีพิมพ์ออกมาอีกในอนาคตข้างหน้า
และตลอดมาอดีตนักเรียนช่างเขียนจากรั้วโรงเรียนเพาะช่างเช่นเขา ก็ไม่เคยลืมที่หยิบพู่กันขึ้นมาแต่งแต้มสีสันให้กับชีวิต ภาพวาดแลนด์สเคปและภาพวาดหุ่นนิ่งของเขา เคยมีเพื่อนฝูงขอครอบครองและนำไปประมูลช่วยเหลือสังคม อีกทั้งส่วนหนึ่งนำไปจัดแสดงอย่างถาวร ณ พิพิธภัณฑ์ของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“เขียนรูปก็มีความสุข เขียนหนังสือก็มีความสุข ร้องเพลงก็มีความสุข เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราสามารถระบายออกมาทางความรู้สึก”
นับแต่เมื่อครั้งที่เริ่มต้นร้องเพลง ประมาณ ปี พ.ศ. 2496 จนถึงวันนี้นับได้ 50 กว่าปี สุเทพร้องเพลงมาแล้วเกือบ 5,000 เพลง ทั้งที่ร้องประกอบในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เพลงไทยสากลทั่วไป เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบัน และเพลงอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจริยธรรม ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล กังวาน และมีลีลาเป็นกันเอง ซึ่งระหว่างนี้เขากำลังรวบรวมข้อมูลส่งไปยังกินเนสส์บุ๊ค เพื่อพิชิตสถิติการเป็นนักร้องที่ร้องเพลงมากที่สุดในโลก
แต่นั่นก็หาใช่สาระสำคัญ เพราะสิ่งที่นำความสุขมาให้กับชีวิตนักร้องของเขา คือการได้ทำในสิ่งที่พอใจและทำด้วยความตั้งใจ
“ที่ผ่านมาค่อนข้างพอใจ เพราะเราร้องเพลงด้วยความ สามารถ ร้องด้วยความตั้งใจ มีความชัดเจน ชัดถ้อย ชัด คำ เพื่อที่จะให้คนฟังเขาเกิดความรู้สึกคล้อยตาม เป็นเรื่องที่ดีครับ และผมก็ยังอยากจะทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ แต่คงจะไม่ไปขวางพวกเด็กๆรุ่นใหม่ซึ่งร้องเพลงไม่ชัด หรือบอกว่าเพลงของพวกเขาไม่มีคุณค่า”
การเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้เข้าสู่วงการต่างหาก เป็นสิ่งที่นักร้องรุ่นใหญ่เช่นเขาพึงอยากจะทำ
“เรื่องที่เราต้องทำคือการดึงเด็กๆที่เขาพอจะมีแววร้องเพลง เข้ามาสู่วงการของเรา ให้เขาได้มีโอกาสขึ้นเวที และคอยประคับประคองเขา อยากให้เขาร้องเพลงดีๆครับ ไม่อยากให้เขาร้องเพลงที่มันไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรร้องเลย ประเภทที่ตะโกนร้องโดยที่ไม่มีความรู้สึกใส่เข้าไปในเพลง เพราะนั่นมันเหมือนไม่ใช่เพลง
แต่เพลงมันควรจะต้องมีความสุนทรีย์ มีความรู้สึกใส่เข้าไปให้คนที่ได้ฟังแล้วชื่นใจ และมีความสุขไปด้วย ไม่ใช่คนฟังแล้วเกิดความทุกข์ หรือทำให้รู้สึกว่าคนร้องคอจะแตกตายหรือเปล่า ดังนั้นเพลงมันต้องมีคำสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสนอก สัมผัสใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงไทย อยากให้ทุกคนพยายามทำเพลงที่ดีออกมาและนักร้องก็ต้องร้องให้ดีที่สุด”
ชีวิตที่ผ่านมาแล้วในหลายบทบาททั้งนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักการเมือง สุเทพบอกเล่าว่าแทบ ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ชีวิตของเขาจะตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ได้นาน เพราะในวัยเด็กเขาได้เผชิญกับความทุกข์ยากมามากพอ จนส่งผลให้จิตใจเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ
“ตอนที่ผมเป็นเด็กเล็กๆ ผมยากจนมาก ตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า เมื่อไหร่เราจะหลุดพ้นจากความยากจน ก่อนไปโรงเรียนก็ต้องไปขายขนมอยู่หน้าวัดสะพานสูงย่านบางซื่อ เลิกเรียนกลับมาก็ต้องไปแบกกระสอบถ่านไปส่งตามบ้าน
เพราะฉะนั้นความจน ผมถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เราเผชิญมาแล้ว ไม่กลัวอีกต่อไป ชีวิตก็เลยไม่ค่อยมีความเครียด หรือความวิตกกังวลทุกข์ร้อนอะไร เมื่อไหร่ที่พบกับความทุกข์ก็พยายามทำใจให้สบายๆ และทำอย่างนี้มาโดยตลอดกับทุกๆเรื่อง อีกอย่างสิ่งต่างๆที่เราทำ มันเป็นความพอใจของเราทั้งสิ้น ก็เลยไม่มีความทุกข์อะไร”
ธรรมมะของพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกช่วงเวลาในชีวิตของสุเทพที่มีปัญหาผ่านเข้ามา ค้นพบว่า ชีวิตมีทางออกเสมอ
“พระท่านบอกว่าให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ติดยึดอะไรซะจนเป็นทุกข์เป็นร้อนจนเกินไป ให้เดินสายกลาง หย่อนนัก ก็เสียงไม่ดัง ตึงนักก็ขาด และที่สำคัญต้องพอใจในสิ่งที่เราเป็น”
หากถามว่าเขาเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดในศีลธรรม แค่ไหน เขาบอกว่าเคร่งครัดตรงที่ไม่ชอบการโกหก ดังนั้นจึงต้องไม่ทำผิดศีล 5 ปฎิบัติตัวให้ดี ไม่มีจิตอาฆาตแค้น และพยายามช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาสที่จะช่วยได้ เช่นล่าสุดที่เขาให้สัมภาษณ์กับธรรมลีลา เขาก็กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเป็นนักร้องรับเชิญให้กับ รวงทวง ทองลั่นทม เจ้าของน้ำเสียง”น้ำเซาะทราย” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล)ปี พ.ศ. 2539 ที่ต่างจังหวัด เพื่อหารายได้ไปช่วยชาวบ้านและเด็กๆที่ขาดแคลนอาหาร
และปีนี้นอกจากเลือกไปทำบุญวันเกิดที่วัดซึ่งเคยไปประจำ ในวันนัดประชุมสมาชิก สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานชั่วคราว ซึ่งมีงานเลี้ยงเล็กๆฉลองวันเกิดให้กับสุเทพด้วย ท่ามกลางนักร้อง นักแต่งเพลง ลูกศิษย์และเพื่อนฝูงร่วมวงการ ที่มาร่วมอวยพรกันอย่างคับคั่ง สุเทพได้ตั้งปณิธานว่าต้องการเห็นที่ตั้งถาวรของสมาคมฯ
“วันเกิดปีนึงมีแค่หนเดียว ส่วนใหญ่ผมก็จะไปทำบุญที่วัดชนะสงคราม เลี้ยงพระที่บ้าน ชวนลูกหลานมาสวดมนต์ มันเป็นความสุข เพราะศาสนาก็ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวของเรา ชีวิตของเราคงจะขาดศาสนาไม่ได้”
สุเทพจึงเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนใกล้ชิดพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเล็ก
“ควรจะสอนให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่เราควรจะยึดเหนี่ยวคือศาสนา สิ่งที่สอนให้เราเป็นคนดี พ่อแม่ไม่ควรละเลยเรื่องนี้ ปลูกฝังให้เค้ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
เพราะสิ่งเหล่านี้เขาเชื่อว่าจะช่วยสร้างคนดีให้มีเกิดขึ้นในสังคม
“คนที่จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่โลภมาก ทำงานเพื่อคนอื่น ไม่ได้เพื่อตัวเอง อะไรที่ทำเพื่อช่วยคนอื่นได้ก็ต้องช่วย ไม่ใช่เอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง”
แม้จะทิ้งบทบาทของการเป็นนักการเมืองหลายสมัย แต่ทุกวันนี้นักร้องผู้สนใจการเมืองและในอดีตมีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัย 14 ตุลาคม 2516 และเคยเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคม นิยมแห่งประเทศไทย ยังอยากเห็นบ้านเมืองเติบโตไปในทิศทางที่ดี
บางเวลาที่เขาขึ้นเวทีขับร้องเพลง ‘อำนาจเงิน’ เพื่อต่อต้านคนที่ยอมขายตัวเป็นนอมินีและขายวิญญาณเพียงเพราะเงิน และเพลง ‘คน’ ที่ต้องเน้นให้ผู้คนเห็นแก่ชาติ
“อยากเห็นบ้านเมืองเราเจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ ไม่เพลี่ยงพล้ำคนอื่น ทุกวันนี้ผมบอกตัวเองและคนรอบข้างเสมอว่าอย่าโลภมาก อย่างที่ในหลวงท่านเคยตรัสเอาไว้ว่าใช้ชีวิตให้พอเพียง มันก็เหลือแหล่อยู่แล้ว คนเราก็แค่นี้ เอง เมื่อพอมีพอกินก็พอแล้ว ทำไมต้องขวนขวยไขว่คว้ามาเกินกว่าเหตุ สะสมไว้มากมันก็ไม่มีประโยชน์ อาจจะดีก็แต่เฉพาะกับลูกหลาน แต่ตัวเราตายไปก็เอาไปไม่ได้ครับ”
บนเส้นทางอันยาวนานของชีวิต สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับนักร้องวัยใกล้ปลดเกษียณผู้นี้มากที่สุด นอกเหนือจากรางวัล ‘เสาอากาศทองคำ’ ที่เคยได้รับในฐานะนักร้องยอดเยี่ยมเมื่อปี พ.ศ.2508 และ2521 จากเพลง ‘ดาวลอย’ และ ‘เพียงคำเดียว’ คือรางวัล ‘แผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน’ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากถึง 4 เพลง ได้แก่ ปี พ.ศ.2506 จากเพลง‘โลกแห่งความฝัน’ และ ‘ใจพี่’ ปี พ.ศ.2512 จากเพลง ‘ม่านประเพณี’ และปี พ.ศ.2522 จากเพลง ‘ตัวไกล ใจยังใกล้’
“ช่วงที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมมีความสุขมากๆที่ได้ร้องเพลงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี และเมื่อปีที่ผ่านมาพระองค์ท่านก็ได้พระราชทาน ยศเรืออากาศตรีให้
ชีวิตของผมที่อยู่ใต้ในหลวง ผมมีความสุขทุกอย่าง เกิดมาถ้าเรามีในหลวงคุ้มครองเราอยู่ เราก็มีความสุขแล้ว ศาสนาพุทธของเราก็ดี ชีวิตของผมแค่นี้พอแล้ว มีภรรยาดี มีลูกดี”
สำหรับสุเทพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นมากกว่ากษัตริย์ แต่ยังเป็น “สรณะของชีวิต” หมายถึง บุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สามารถเป็นหลักสำหรับเหนี่ยวรั้งไว้มิให้เคว้งคว้าง เป็นที่พึ่งพิงอาศัย เป็นที่ให้ความอุ่นใจ แม้เพียงแค่ระลึกถึงก็ทำให้สบายใจ เกิดความอบอุ่นได้
“พระองค์ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีที่เกิดมาในโลก ปฏิบัติในสิ่งที่ดี ทำเพื่อประชาชน ไม่เคยนึกถึงตัวพระองค์เองเลย ทำให้ส่วนรวมมาตลอด เราทุกคนซึ่งเป็นคนไทย ก็ได้อาศัยพระบารมีของพระองค์ท่าน และมีชีวิตอย่างมีความสุขเช่นทุกวันนี้
เมื่อก่อนผมร้องเพลงถวายพระองค์ท่านไปประมาณ 10 กว่าเพลงครับ ตั้งใจร้องอย่างเต็มที่ เพราะเราถือว่าเป็นบุญของเราที่ได้ร้องเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ ร้องลงแผ่นเสียงด้วย และร้องถวายที่ในวังด้วย ชีวิตก็เลยมีความภาคภูมิใจและเป็น สุขที่ตรงนี้แหละที่ได้เข้าเฝ้าฯ ยามที่พระองค์ท่านประชวรต้องประทับเพื่อรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาล ผมก็ได้ไป ลงนามถวายพระพร อย่างครั้งล่าสุดผมกับภรรยาสองคน ก็ไปกันมาแล้ว”
ต่อแต่นี้ไปสิ่งดีที่สุเทพตั้งใจอยากทำถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เขาเคารพบูชาเหนือสิ่งอื่นใดและคิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็น่าจะคิดไม่ต่างกันก็คือ
“ทำตัวให้ดีที่สุด อย่าไปทำตัวขวางโลกและทำอะไรที่มันไม่ดี”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยพรพิมล)



กำลังโหลดความคิดเห็น