xs
xsm
sm
md
lg

มองปัญหาด้วยปัญญา:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                     ข้อควรคิด ทบทวนเรื่องศีลและวัตร
              จักมีประโยชน์อะไร หากเรากำไรตัวเลข 
          แต่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการขาดทุนอารมณ์
              "ทำดี พูดดี คิดดี ดีกว่าพรใดๆ ในโลก"


ปุจฉา
งานวัด


กราบนมัสการหลวงปู่ด้วย ความเคารพครับ ผมใคร่ขอ ปุจฉาหลวงปู่ว่า 'งานวัด' ครั้งเเรกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน เเละ งานวัดครั้งนั้นเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ริเริ่ม เเละหลวงปู่คิดอย่างไรกับงานวัดสมัยนี้ ที่มีลิเก บ้าง เชิญนักร้องมาร้องเพลงบ้าง มันเหมาะสมกับงานที่เรียกว่า 'งานวัด' รึเปล่าครับหลวงปู่ ขอบพระคุณครับ

วิสัชนา

คุณขี้สงสัย แล้วฉันจะไป รู้ได้อย่างไรว่างานวัดมันมีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร ก็คงจะมีเมื่อตอน ครั้งแรกที่สร้างวัดเวฬุวันวัดแรก ถวายแด่ศาสดาโดยพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็มีการเฉลิมฉลอง เพื่อประกาศให้คนทั้งหลายได้รู้ว่าวัดได้สร้างเสร็จแล้วพร้อมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์มาอยู่อาศัยในวัดนั้น ระเบียบวิธีในการจัดงานวัดเพื่อเฉลิมฉลองก็มิได้มีจารึกธรรมเนียมใดๆ สุดแต่ประเพณีนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ และจุดมุ่งหมายของการจัดงานนั้นว่า จะจัดเพื่อความรื่นเริงบันเทิง หรือจะจัดเพื่อส่งเสริมสนับสนุนต่อการปฏิบัติธรรม

ฉันเข้าใจว่ายุคแรกนั้น งานวัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปฏิบัติธรรมกันมากกว่า ซึ่งสมัยนั้นบางวัดก็มีการทำเช่นนี้อยู่ และต่อมาภายหลังรูปแบบของการจัดงานก็เอนเอียงออกไปทางด้านสนับสนุนหล่อเลี้ยงกิเลสให้โต จึงต้องมีงานบันเทิงเริงรมย์ การละเล่นอย่างที่ปรากฏ คุณไม่ชอบก็อย่าเข้าไป ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะก็อย่าเข้าใกล้ ไปวัดที่ทำให้ กิเลสคุณเบาบางก็ไม่มีใครว่าคุณทำผิด

ปุจฉา
ว่าด้วยเรื่อง อโคจร


รู้สึกสับสน และสงสัย จึงขอกราบนมัสการถามความ-หมายที่แท้จริงของคำว่า อโคจร เพราะเห็นพระท่านจรกันจนงง หากฎเกณฑ์ และระเบียบวินัยไม่เจอ ขอท่านเมตตาคลายปมปัญหาให้ฆราวาสผู้ใฝ่ในธรรมและต้องการความถูกต้องชัดเจนด้วยขอรับ

วิสัชนา

อโคจร
คือบุคคลและสถานที่ที่ภิกษุไม่ควรเข้าใกล้และไปหา มี 6 คือ หญิงแพศยา (พวกหญิงขายตัว) หญิงหม้าย สาวทึนทึก ภิกษุณี กะเทย และร้านสุรา การคลุกคลีกับพระราชา แม้พวกมหาอำมาตย์ข้าราชการ พวกนักบวชนอกศาสนา พวกคฤหัสถ์ที่ไม่มีศรัทธา มีกิริยาหยาบช้า ก้าวร้าว เช่นนี้ก็ชื่อว่า อโคจร

แม้ภิกษุ จำเป็นต้องเข้าไปในละแวกบ้าน เดินไปด้วยความ ไม่สำรวม เดินด้วยกิริยาเลิ่กลั่ก เหลียวซ้ายแลขวา มีกิริยา หลุกหลิก ดูผู้หญิง ดูผู้ชาย ดูเด็กหญิงชาย เดินชมดูร้านตลาด ข้างล่าง ข้างบน ซอกแซก เช่นนี้ก็ชื่อว่า อโคจร

อีกอย่างหนึ่งภิกษุไม่มีสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้อารมณ์ ขาดการระวัง ปล่อยให้อภิชฌา ความโลภ โทมนัส ความเสียใจเป็นทุกข์เข้าครอบงำ เป็นเหตุให้ อกุศลธรรมอันลามกเกิดขึ้น เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าอโคจร

แม้ที่สุดภิกษุผู้ฉันอาหารที่ชาวบ้านเขาถวายด้วยศรัทธา แล้วขวนขวายแต่ในเรื่องของอกุศลธรรม เช่น ดูการฟ้อนรำ ขับร้อง ดูมหรสพ ดูการตีไก่ กัดปลา แข่งม้า ชนควาย ชนวัว ชกมวย และดูขบวนทัพ ดูการรบราฆ่าฟัน แม้ชื่นชอบหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จัดว่าเป็นอโคจร

คงจะเป็นพระบัญญัติข้อห้ามปฏิบัติเหล่านี้ ที่ผมยกมา จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 29 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ สาริปุตตสุตตนิทเทส และ มติสังฆมนตรีที่ 8/2493 ว่าด้วย เรื่องที่อโคจรไว้ 6 ข้อ คือ

1. กำหนดสถานที่อโคจร

2. กำหนดโทษให้สึกแก่ภิกษุสามเณรผู้ไปในสถานที่ อโคจร โดยที่รู้ว่าเป็นที่อโคจร

3. แจ้งให้เจ้าอาวาสกวดขัน ภิกษุสามเณรในวัดไม่ให้ไปในที่อโคจร

4. แจ้งให้เจ้าคณะฝ่ายปกครองกำชับเจ้าอาวาส

5. เมื่อภิกษุสามเณรต่างเมืองเข้ามาพักในจังหวัดใด ให้เจ้าอาวาสแจ้งสถานที่อโคจรของ จังหวัดนั้นให้ทราบ และกำชับไม่ให้เข้าไปในที่อโคจรนั้น

6. ให้เจ้าหน้าที่สารวัตร กองสังฆการี ทำการจับกุมพระภิกษุสามเณรผู้ฝ่าฝืนส่งเจ้าคณะที่ใกล้ที่สุด เมื่อสอบสวนได้ความจริงแล้วจัดการสึกภายใน 7 วัน

ต่อมามีคำสั่งของสมเด็จพระวันรัต สังฆนายก วัดเบญจมบพิตร สั่งไว้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2501 ความว่า

เรื่องให้เจ้าคณะเจ้าอาวาสเตือนพระภิกษุสามเณรไม่ให้ ไปเที่ยวตลาดนัดท้องสนามหลวง และยืนดูการเสด็จพระราชดำเนิน

ด้วยปรากฏว่า ได้มีพระภิกษุสามเณรโดยมากในจังหวัดพระนครและธนบุรีไปเที่ยวเตร่ซื้อสิ่งของตามร้านค้าและดูการเล่นต่างๆ เบียดเสียดประชาชน ในวันเสาร์วันอาทิตย์ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นวันเปิดตลาดนัด เป็นการไม่สมควรแก่สมณวิสัย โดยเฉพาะท้องสนามหลวงในวันงานตลาดนัดนับเป็นสถานที่อโคจรอันพระภิกษุสามเณรไม่ควรไปตามพระวินัย และคณะสงฆ์ได้ประกาศห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรไปเที่ยวในสถานที่อโคจรไว้แล้ว

อีกประการหนึ่ง ปรากฏว่า ในขณะที่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า เสด็จพระราชดำเนินผ่านไปตามสถานที่ต่างๆ มักมีพระภิกษุสามเณรไปยืนคอยดูการเสด็จพระราชดำเนินเบียดเสียดปะปนกับประชาชนตามสถานที่นั้นๆ นับเป็นการไม่สมควรแก่สมณวิสัยเช่นเดียวกัน และเป็นที่ตำหนิติเตียนของสาธุชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อยู่เสมอ

ฉะนั้น จึงขอให้เจ้าคณะทุกชั้น เจ้าอาวาสทุกวัด จง ตักเตือนพระภิกษุสามเณรและอาคันตุกะ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาและความรับผิดชอบของตนๆ ไม่ให้ไปเที่ยวเตร่ตลาดนัดท้องสนามหลวงและยืนคอยดูการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ อีกต่อไป ถ้ายังมีพระภิกษุสามเณรประพฤติฝ่าฝืนอยู่ ก็ให้จัดการลงโทษตามอำนาจหน้าที่โดยควรแก่โทษานุโทษ ต่อไป

ได้หยิบยกนำเอาข้อห้าม ขององค์กรปกครองสงฆ์และคำสั่งของพระมหาเถระครั้งกระโน้น มานำเสนอก็เพื่อจะยืนยัน นั่งยันนอนยันว่า พระผู้ใหญ่สมัยก่อนนั้นท่านมีความละอาย ท่านเคารพพระพุทธเจ้าอย่างจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งยังช่วยกันปกป้องคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นจากมลทิน ซึ่งดูจะแตกต่างจาก สมัยนี้

ปุจฉา
โคจร

ติดใจการตอบข้อปุจฉาของหลวงปู่ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีก
ด้วยมุมมองของผู้มีปัญญา จึงขอโอกาสเข้ามาร่วม ถามต่อจากคราวก่อน ที่พูดถึงเรื่องอโคจรไปแล้ว ในส่วน ของโคจรละครับ มันเป็นไฉน ขอหลวงปู่เมตตาตอบ

วิสัชนา

ขอยกเอาเรื่อง'โคจร' สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ไปได้มาเสนอ อย่างที่ถามว่า โคจรเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ควรเข้าใกล้หญิง แพศยา(หญิงขายตัว) หญิงหม้าย สาวทึนทึก ภิกษุณี กะเทย และร้านสุรา ไม่ควรคลุกคลีด้วยพวก พระราชา พวกข้าราชบริพาร พวกนอกศาสนา แม้พวกคฤหัสถ์ที่เขาไม่ศรัทธา แม้ศรัทธาภิกษุนั้นก็มิควรสนิทสนม มากจนเกินงาม

อีกอย่างหนึ่ง เวลาภิกษุเดินไปตามถนนสู่ละแวกบ้าน ต้องเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ตา ใจ ไม่หลุกหลิกล่อกแล่ก รุ่มร่าม

อีกอย่าง แม้ภิกษุได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ได้สัมผัส และได้ดมกลิ่นก็ดี ที่ไม่ผิดในธรรมวินัย ต้องไม่ยึดถือสิ่งนั้นๆ เป็นใหญ่ เช่นนี้ก็ชื่อว่าโคจร

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า ผู้มีโคจร

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนที่เป็นของบิดาเธอ อันเป็นโคจร มารย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ก็แลที่ที่เป็นแดนของบิดาเธอนั้น ได้แก่ มหาสติปัฏฐาน 4 อันมี

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือมีสติพิจารณาภายในกาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติพิจารณาเวทนาคือความรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติพิจารณาอยู่เฉพาะในจิต ให้รู้ว่ามีอารมณ์อะไรมาเกาะกุมปรุงแต่ง

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติพิจารณาในหัวข้อธรรมต่างๆ เป็นอารมณ์

เหล่านี้ชื่อว่าโคจร เป็นแดน แห่งบิดาเรา มารจักมิอาจกรายกล้ำเข้ามาทำร้าย

จบเรื่องโคจร คือที่ที่ควรไป กิริยาที่ควรทำ ธรรมที่ควรน้อมนำมาใส่ตัว แม้บุคคลที่ควร เข้าใกล้แต่พองาม ทั้งหมดนี้เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ชาวบ้านเขามองว่า ภิกษุงาม นักบวชดี สมณสงบ พระประเสริฐ ครับท่าน

ไหนๆ ก็ตอบเรื่องโคจรแล้ว ยังมีหน้ากระดาษเหลือ ขอแถมด้วย ศีล และ วัตร

พระมหาเถระรูปหนึ่ง ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ศีลและวัตรเป็นอย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้น้อยนิด ศึกษาในพระวินัยทั้งหลายแล้วสำรวมในปาฏิโมกข์ สำรวมในศีล ถึงพร้อมด้วยอาจาระ มรรยาทดีงาม และโคจรที่อันควร เช่นนี้ชื่อว่า ศีล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เห็นภัยในวัฏฏะ สมาทานความเพียร ปฏิบัติบำเพ็ญในสมถะและวิปัสสนา เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า วัตร

แม้สมาทานปฏิบัติในหลักของธุดงค์

อารัญญิกังคธุดงค์ คือ อยู่ป่า

ปิณฑปาติกังคธุดงค์
เที่ยวบิณฑบาต

ปังสุกูลิกังคธุดงค์
นุ่งห่มผ้าบังสุกุล

เตจีวริกังคธุดงค์
ใช้ผ้า 3 ผืน

สปทานจาริกังคธุดงค์
เดินบิณฑบาตเป็นแถว

ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ไม่รับลาภหรืออาหารที่นอกเหนือจากของบิณฑบาต

เนสัชชิกังคธุดงค์
ถืออิริยาบถ 3 คือ นั่ง ยืน เดิน ไม่นอน

ยถาสันถติกังคธุดงค์
มีที่อยู่ตามมีตามได้หรือสุดแต่เขาจัดให้ ไม่ขวนขวายให้มากขึ้นกว่านั้น

แม้ข้อธุดงค์ทั้งแปดนี้ก็จัดว่าเป็นวัตร...

จบศีลและวัตร

ขอให้ท่านทั้งหลายได้ลองทบทวนเรื่องราวและสิ่งที่ผ่านเข้ามา แล้วออกไปจากชีวิตท่าน ว่าแต่ละนาที ชั่วโมง วัน เดือน และก็ปี กำไรหรือขาดทุน แต่มิได้หมายถึงกำไรตัวเลข ขาดทุนตัวเลขนะ หมายถึงอารมณ์ท่านต่างหากเล่า ว่าได้กำไรมากน้อยแค่ไหน อาตมาเคยไปบรรยายให้นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ปี 4มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ฟังว่า จักมีประโยชน์อะไร หากเรากำไรตัวเลข แล้วต้องมาทนทุกข์ทรมานนั่งขาดทุนอารมณ์อยู่ทุกวันเวลา ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง

และอยากจะบอกว่า 'ทำดี พูดดี คิดดี ดีกว่าพรใดๆ ในโลก'
กำลังโหลดความคิดเห็น