เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆในเอเชีย แต่ก็สามารถต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจของโลกตะวันตกได้ไม่น้อยหน้า ซึ่งปัจจัยที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว อาจจะเป็นทั้งการแข่งขันของประชากรในประเทศที่มีอยู่มากมายถึงร้อยกว่าล้าน หรือเป็นเพราะความมีระเบียบวินัยของคนในประเทศ
แต่มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาเหมือนจะบอกเป็นนัยๆว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างชาติของพวกเขาให้เป็นมหาอำนาจในทุกวันนี้
ใครที่เคยประทับใจกับหนังไทยชั้นดีที่กลายเป็นตำนานไปแล้วอย่างแฟนฉัน ก็น่าจะชื่นชอบ Always: Sunset on Third Street ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม ที่กลายเป็นตำนานของหนังญี่ปุ่นไปแล้วเช่นกัน
ในเรื่อง Always ผู้ชมจะได้ย้อนเวลากลับไปยังกรุงโตเกียวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างชนชาติญี่ปุ่นที่เพิ่งจะหายจากบาดแผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทศวรรษก่อน และช่วงที่ชาติกำลังจะก้าวมาเป็นผู้นำเศษรฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปี
สิ่งวิเศษอย่างแรกที่ผู้ชมจะได้รับชมจากผลงานชิ้นนี้ ก็คือการเนรมิตรบรรยากาศของกรุงโตเกียวเมื่อเกือบศตวรรษที่แล้วให้ออกมาอย่างสมจริง ทั้งการใช้ชีวิตของผู้คนที่เริ่มเข้าสู่ญี่ปุ่นยุคใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังแฝงชีวิตแบบเรียบง่ายเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกับการสร้างสภาพแวดล้อมให้เชื่ออย่างสนิทใจว่านี่คือเหตุการณ์ในยุคปี 1958 ปีที่หอคอยโตเกียว สัญลักษณ์สมัยใหม่ของเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นถูกสร้างเป็นครั้งแรก
“ทากาชิ ยามาซากิ”ผู้กำกับเรื่องนี้ได้พาเราไปรู้จักชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกันในชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งใน โตเกียว กับบ้านสองหลังที่อยู่ตรงข้ามกันทั้งที่ตั้งและอุดมการณ์ของคนที่อยู่ในบ้าน หลังหนึ่งคือ “ซุซุกิออโต” บ้านของโนะริฟุมิ ซุซุกิ ที่เปิดอู่ซ่อมรถเล็กๆ แต่มีความฝันใหญ่ๆ อย่างการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ส่งออกจากซากเศษเหล็กของเขา ที่นอกจากจะมีภรรยาและลูกชายตัวน้อยคอยช่วยกันโอบอุ้มความฝันนี้แล้ว ยังมีสมาชิกใหม่อย่าง “โระกุจัง” สาวบ้านนอกที่เดินทางมาหาความฝันในโตเกียว ก่อนความเข้าใจผิดจะทำให้เธอต้องมานอนซ่อมรถอยู่ในซุซุกิออโตอย่างไม่คาดฝัน จนต้องทิ้งปัญหาที่ยังไม่สะสางกับครอบครัวของเธอ เอาไว้ที่บ้านนอกอย่างไม่เต็มใจ
ตรงข้ามนั้นเองเป็นร้านของชำเล็กๆ ของ “ริวโนะสุเกะ” ลูกเศรษฐีตกอับที่ฝันอยากเป็นนักเขียนนิยาย แต่หารายได้จากการหลอกเด็กไปวันๆ จากเกมชิงโชคจอมปลอมในร้านของเขา และงานเขียนวรรณกรรมเด็กที่เขามองเป็นเพียงงานเพื่อเลี้ยงปากท้องไปวันๆ เท่านั้น จนกระทั่งเขาได้พบกับ “ฮิโระมิ” สาวสวยร้านเหล้าที่เต็มไปด้วยอดีต ที่อ้อนวอนให้เขารับเด็กชายที่เป็นญาติห่างๆของเธอไปเลี้ยงเอาไว้ที่บ้านของเขา นักเขียนไส้แห้งจึงต้องเพิ่มภาระให้กับตัวเองอีกหนึ่งปากเพราะสาวที่เขาไปหลงเสน่ห์เข้าให้แท้ๆ
ภายใต้อารมณ์สนุกสนานผ่านเรื่องราวการเผชิญหน้าของตัวละครที่อยู่กันคนละขั้วในเรื่องนี้ มันอบอวลไปด้วยเรื่องราวของความรักความผูกพัน ในระดับที่คนที่เฝ้ามองหาความรู้สึกเหล่านี้ในการดูหนังจะได้รับไปอย่างเต็มเปี่ยม
ความประทับใจอย่างหนึ่งที่ผู้ชมจะได้รับจากเรื่องนี้คืออารมณ์การโหยหาอดีต(Nostalgia)ที่ถ่ายทอดผ่านชีวิตประจำวันของตัวละครในเรื่อง ซึ่งชัดเจนและเป็นสากลพอที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนญี่ปุ่นหรือเกิดทันในยุคนั้นก็สามารถความเข้าใจความรู้สึกอย่างที่หนังนำเสนอเป็นอย่างดี ทั้งการกลัวกินน้ำอัดลมสีเหมือนซีอิ๊วครั้งแรกของซุซุกิ การเปลี่ยนจากตู้ใส่น้ำแข็งมาเป็นตู้เย็นครั้งแรกของคุณนายซุซุกิ และที่สำคัญที่สุดก็คือฉากการซื้อโทรทัศน์เครื่องแรกที่คนทั้งหมู่บ้านแห่กันมาดูที่บ้านของซุซุกิ ที่แม้จะเป็นเพียงโทรทัศน์ขาวดำไม่ใหญ่ไปกว่า 14 นิ้ว แต่สำหรับชาวบ้านของถนนสายที่ 3 แล้ว การได้ดูมวยปล้ำที่พวกเขาโปรดปรานทางทีวีครั้งแรก ไม่ต่างจากการดูจอหนังกลางแปลงขนาดยักษ์ใหญ่เลยจริงๆ
เทคนิคการถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้ยังสั่นสะท้านหัวใจของคนดูอีกครั้งในฉากที่ตัวเอกของเรื่องอย่างริวโนะสุเกะพยายามขอสาวสวยฮิโระมิแต่งงานกับเขา ด้วยการซื้อตลับแหวนแต่งงานมาง้อ ซึ่งเธอก็ใจเด็ดพอที่จะยอมให้เขาสวมให้ด้วยตัวเองและชื่นชมมันอย่างตื้นตันใจเป็นเหมือนฉากรักที่สมบูรณ์แบบที่สุด หากแต่เพียงฉากนั้นไม่มีแหวนอยู่สักวงเดียว มีเพียงแต่คำสัญญาของนักเขียนไส้แห้งคนหนึ่งต่อคนรักของเขาว่า จะทำให้กล่องใส่แหวนที่ว่างเปล่านี้เต็มสักวันหนึ่ง
บทบาทของริวโนะสุเกะในเรื่องนี้ทำหน้าที่กระชากอารมณ์ของคนดูอย่างแท้จริง จนในฉากท้ายเรื่องที่เขาต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลที่เขาพร้อมจะสร้างครอบครัวเล็กๆ ของเขาไปถึง 2 คนพร้อมๆกัน ความกด ดันอย่างถึงขีดสุดได้ส่งให้เขาออกไล่ล่าสิ่งที่เขาสูญเสียอย่างไร้ความหวัง ด้วยว่ากว่าจะมาเห็นความสำคัญในสิ่ง ที่เคยอยู่แค่เอื้อมตรงหน้าก็เกือบจะสายเกินไปเสียแล้ว
การแสดงที่ยอดเยี่ยมของ “ฮิเดะตะกะ โยะชิโอะกะ” ได้ส่งให้เขาคว้ารางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมของเวทีแจแปนนิสอคาเดมีในปี 2006 และเป็น 1 ใน 14 รางวัลที่ หนังเรื่องนี้กวาดมาได้ในครั้งนั้น รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ และผู้กำกับยอดเยี่ยม
เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่มักจะเห็นว่ามาจากการแข่งขันของคนในประเทศ หรือระเบียบวินัยของคนในชาติ หากแต่ความเจริญทั้งหลายของคนในชาติไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าหากคนเราไม่มี “ความหวัง” และ “ความเกื้อกูล” ให้แก่กัน อันเป็นสองเชื้อเพลิงที่จะขับดันให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขและรุ่งเรือง
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยอดิศร สุขสมอรรถ)