xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : กินอาหารตามธาตุ (3) ธาตุลม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ที่มีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน
จะมีรูปร่างผอมบางสมส่วนสันทัด แต่ข้อกระดูก ท่อนกระดูกแต่ละท่อนจะใหญ่และเป็นโพรง เปราะบางกว่าธาตุอื่นๆ สีผิวของกระดูกทุกท่อนแม้แต่เล็บสีจะซีดขาว ผิวกายค่อนข้างแห้งบาง ดวงตาจะพร่ามัว เพราะมีลมออกจากกระบอกตา

• พฤติกรรม
ทำอะไรหุนหัน เรียกว่า โกรธง่าย แต่หายเร็ว ทะเยอทะยาน มีความหยิ่งทระนง เรื่องที่ชอบคือ ชอบยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน และที่มีมากๆ คือ ตั้งวงนินทาจนน้ำลายฟูมปาก ในขณะเดียวกันก็ชอบประจบ ทำให้ดูมีสังคมกว้างเข้ากับคนอื่นได้ง่าย แต่ก็โดนคนอื่นทิ้งได้ง่าย เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยเรียบร้อย

• อารมณ์และนิสัย
เป็นคนเจ้าอารมณ์ ชอบเพ้อฝัน มีนิสัยค่อนข้างอิจฉาริษยา บางขณะก็มีน้ำใจอย่างท่วมท้น ทำให้คนอยู่ใกล้อึดอัด บางขณะก็ดีหฤโหด โกรธรุนแรง มีความหลงต่ออารมณ์ต่างๆได้ง่าย จนถูกหลอกเป็นประจำ ถึงกระนั้นก็ยังจะพอมีปฏิภาณเอาตัวรอดได้ เป็นผู้มีความคิดที่ใครๆ ก็ยากจะคาดเดา

• ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน
- ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และอุปนิสัย
- คนที่เกิดปีเถาะ (กระต่าย) ปีมะเมีย (ม้า) ปีมะแม (แพะ) และปีวอก (ลิง) ล้วนมีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน ถ้าจักดูจากวันที่เกิดคือวันศุกร์ และวันพุธ
- ดูลักษณะรูปร่างดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
- ดูอารมณ์และอุปนิสัยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

• ธาตุลมเป็นมิตรกับธาตุใด
ผู้ที่มีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน จะคบหาสมาคมกับใคร ดูจะฉาบ ฉวย ผิวเผิน อาจเป็นเพราะเป็นราชาธาตุ ก็เลยมิชอบเอาใจใคร

• สีที่เหมาะสมกับธาตุลม
สีขาว สีฟ้า สีเหลืองอ่อน สีครีม สีสว่าง เหมาะกับธาตุลม

• โรคที่เกิดจากธาตุลมพิการ ธาตุลมบกพร่อง ธาตุลมกำเริบ
โรคกระดูกเปราะ โรคน้ำตาแห้ง โรคตาต่างๆ โรคลมจุกเสียด โรคลมดันหัวใจ โรคนอนกรน โรคผอมแห้งแรงน้อย กินอาหารไม่รู้รส โรคปวดหัว วิงเวียนศีรษะ โรคท้องอืดท้องเฟ้อ โรคอ่อนเพลีย โรคปวดข้อกระดูก

• อาหารที่เป็นคุณแก่ธาตุลม และรักษาโรคที่เกิดจากลมพิการ ลมกำเริบ
- รสสุขุม มีฤทธิ์บำรุงธาตุ
- รสเผ็ดร้อน มีฤทธิ์แก้ลมพิการ

• คุณค่าของอาหารรสสุขุม
บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ คลายกล้ามเนื้อ
ตัวอย่างของอาหารรสสุขุม
- ใบบัวบก

• คุณค่าของอาหารรสเผ็ดร้อน
แก้ลม จุกเสียด แน่น ปวดท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ช่วยย่อยอาหาร ขับเลือด ขับประจำเดือน บำรุงธาตุไฟ
ตัวอย่างอาหารรสเผ็ดร้อน
ต้นใบดอกขิง, ใบชะพลู, ดอกชะพลู, ใบกะเพรา, หอมหัวใหญ่, รากมะรุม

หอมหัวใหญ่
นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประกอบของอาหาร เช่น ซอยใส่ข้าวผัด ผัดพริกเครื่องในไก่ใส่ขิงเห็ดหูหนู ใส่ผัดเปรี้ยวหวาน ใส่ต้มซุป ใส่ยำปลาหมึก ยำตีนไก่ ตีนเป็ด ใส่เป็นผักสลัด ใส่น้ำพริกอ่อง ใส่แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น
หอมใหญ่กินแล้วช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดัน นำหอมหัวใหญ่มาบดคั้นน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา จะได้ผลดีที่สุด แม้ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือปวดบวมตามข้อ ยังใช้น้ำหอมหัวใหญ่ ทาช่วยลดอาการปวดบวมอักเสบได้ดี

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยเฒ่าไม้แห้ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น