xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจ:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                 ตราบใดยังมีจิตที่ต้องระวังรักษาอยู่ ก็ยังต้องทุกข์อยู่ 
              ถ้าปล่อยวางจิตได้ ก็ไม่มีอะไรจะต้องระวังรักษาอีกต่อไป
                     มันพ้นโลก พ้นสังสารวัฏ มีความสุขที่สุดเลย

ครั้งที่ 045 เชื้อสายของกิเลส

หลวงพ่อ : ไง คุณเป็นไง ใจลอยไปแล้ว ว่าไง

โยม : ส่วนใหญ่ผมจะรู้แต่ว่า เผลอไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ว่าบางทีเหมือนกับว่าไม่มีโทสะหรือว่ามีราคะ

หลวงพ่อ : มันไม่ทันจะมี ราคะเป็นลูกของโมหะ โทสะเป็นหลานของโมหะ นี่เชื้อสายของกิเลสนะ คือทีแรกต้องหลงก่อน พอหลงไปแล้วก็ผูกพัน เช่นผูกพันว่านี่เป็นตัวเรา นี่มีราคะนะเป็นตัวเรารักใคร่หวงแหน อยากให้มีความสุข มีโลภะอยากเข้าไปอีก พออยากแล้วไม่สมอยาก นี่โทสะเกิดละ แต่ถ้าอยากแล้วสมอยากบางทีราคะก็รุนแรงขึ้นหรือหมดราคะในสิ่งนั้นไป กิเลสมันมีระดับนะ โทสะนี่กิเลสชั้นกระจอกงอกง่อยปลายแถวแต่มีโทษมาก ราคะก็ละเอียดขึ้นมาหน่อยดูยากขึ้น แต่มีโทษไม่มากนัก ส่วนโมหะละเอียดมากดูยากกว่าราคะโทสะ แถมมีโทษมากที่สุด ฉะนั้นอย่างโยมที่บอกว่าเห็นใจมันไหล แวบ แวบ ไม่มีกิเลสตัวอื่นก็ถูกแล้ว เราเห็นตั้งแต่โมหะ มันไม่ทันงอกเป็นราคะ โทสะ

หลวงพ่อ : วันนี้เป็นไง จิตเป็นไง

โยม : วันนี้รู้สึกจะฟุ้งซ่านเล็กน้อย วันก่อนออกจากวัดแล้วก็ไปเจอข้างนอก เจอกิเลสเจ้าค่ะ เขามา

หลวงพ่อ : ทำไมอยู่วัดไม่มีกิเลสรึ

โยม : มันมีแต่มันไม่เจอเยอะเจ้าค่ะ ไม่เจอแรงๆ

หลวงพ่อ : อ๋อ มันกลัวหลวงพ่อ

โยม : พอเจอปุ๊บ เราก็รู้สึกว่า เอ้อ เดี๋ยวมันก็ดับแล้ว เขาก็ไปจริงๆ นะคะ มาแล้วก็ไป

หลวงพ่อ : เออ ต้องอย่างนั้น

โยม : แต่พอไอ้ด้านความสุขบางทียังเผลอเพลินกับมัน แต่ทุกข์มาเรามั่นใจเดี๋ยวก็ไป

หลวงพ่อ : เออดีแล้ว ดีที่เห็นสภาวะถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ที่ภาวนาตอนนี้ดีกว่าคราวก่อนนะ ไม่ใช่ฟุ้งซ่านแล้วแย่กว่าคราวก่อนนะ รู้สึกมั้ยใจเราโปร่งๆ แล้วความรู้สึกตัวของเรานี่ชัดเจน โปร่งๆ ชัดเจน แต่จิตมันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเรื่องของจิตเรื่องของขันธ์ ที่สำคัญมากก็คือ ใจเราเป็นกลางกับมันได้มั้ย ฉะนั้นที่หลวงพ่อวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัตินี่ ไม่ได้วัดที่ว่ามีกิเลสหรือไม่มีกิเลส ตรงนั้นไม่มีนัยอะไรเท่าไหร่ ถ้ามีกิเลสหรือมีความทุกข์ขึ้นมาจิตหวั่นไหว มีความสุขหรือมีกุศลแล้วหวั่นไหวน่ะก็แย่เหมือนกันนะ ตัวสำคัญก็คือ ไม่ว่าสภาวะอะไรเกิดขึ้น จิตไม่หวั่นไหว จิตเป็นกลาง รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่อย่างนั้น นั่นแหละถึงจะใช้ได้

ท่านพุทธทาสท่านใช้คำว่า เหมือนลิ้นงู อยู่ในปากงู รู้สึกมั้ย ลิ้นงูอยู่ในปากงูน่ะ มีความสุขอยู่อย่างนั้นแหละ ท่ามกลางความวุ่นวาย

หรือเหมือนดอกบัว จิตเหมือนดอกบัว ขันธ์หรือโลกเหมือนน้ำ ดอกบัวอยู่ในน้ำแต่ไม่ติดกับน้ำ รู้สึกมั้ย เห็นสภาวะนี้แล้วใช่มั้ย นั่นแหละภาวนาดี แต่ว่าถ้ายังมีดอกบัวอยู่ วันหนึ่งดอกบัวนี้ก็ยังเหี่ยวได้อีกนะ ดอกบัวไม่ว่าจะวิเศษแค่ไหนก็มีวันเหี่ยว เหี่ยวแล้วก็จมน้ำ เน่าไปในน้ำ เหมือนจิตนั่นแหละ จะอยู่ในภพภูมิที่ดีวิเศษแค่ไหน จะครองขันธ์ที่วิเศษแค่ไหน วันหนึ่งก็ต้องเสื่อมสลายลงมาทุกข์กับโลก กับขันธ์ กับทุกข์หยาบๆ ได้อีก

ตราบใดยังมีจิตที่ต้องระวังรักษาอยู่ ตราบนั้นก็ยังต้องทุกข์อยู่ ถ้าวันหนึ่งนะ ปล่อยวางจิตได้ ก็เหมือนถอนดอกบัวทิ้งไป ถอนทิ้งหมดทั้งกอบัวเลย ก็ไม่มีอะไรจะต้องระวังรักษาอีกต่อไป หมดภาระกันแต่เพียงเท่านั้น ก็มีแต่ความสุขล้วนๆ เพราะใจที่ไม่เกาะไม่เกี่ยวอะไร มันพ้นโลกพ้นสังสารวัฏ มีความสุขที่สุดเลย ส่วนน้ำในสระจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ไม่เกี่ยวข้องกับดอกบัวที่พ้นไปแล้วนั้นอีก

ใจของคุณตอนนี้ มันเหมือนดอกบัวอยู่ในน้ำ บางทีน้ำกระฉอกดอกบัวก็ไหวได้นะ ดอกบัวก็แกว่งๆ ได้ แต่ว่ามีความสุขอย่างนั้นน่ะ สงบอยู่ ภาวนาอย่างนี้ก็ดีแล้ว ต่อไป คิดดูนะ ถ้าไม่มีดอกบัวจะมีความสุขขนาดไหน เมื่อภาวนาจนถึงจุดสุดท้ายไม่มีดอกบัว ตอนนี้มีดอกบัวอยู่กับน้ำ แต่ดอกบัวอยู่กับน้ำไม่เปื้อนน้ำ อยู่กับโคลนไม่เปื้อนโคลน จิตใจของเราอยู่กับโลก อยู่กับขันธ์นี่แหละ ขันธ์นะไม่ปนเปื้อนเข้ามา เพราะจิตของเรามีสติ สัมมาสมาธิ ปัญญา รักษาคุ้มครองไว้ ใช้ได้ ภาวนาดี

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/สอนธรรมะด้วยใจ)
กำลังโหลดความคิดเห็น