คำว่า "แม่" เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ เป็นคำที่มีค่าและมีความหมายมากมายนัก และเมื่อพูดถึงบทบาทความเป็นแม่ของผู้หญิงหนึ่งเดียวที่ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 ก็คงไม่ใช่เรื่องธรรมดานัก
เพราะเธอคนนี้ ‘มาลีรัตน์ แก้วก่า’ นอกจากจะเป็นอดีต ส.ว.สกลนคร และได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส.และ ส.ว. หญิง ให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยแล้ว เธอยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง อีกทั้งร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ครั้ง 6 ตุลาฯ 19, พฤษภาทมิฬ 35 จนถึง 7 ตุลาฯ 51 เธอเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลาที่ร่วมในขบวนการนักศึกษาจนต้องหนีเข้าป่า
กล่าวได้ว่ามาลีรัตน์เป็นนักเคลื่อนไหวที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และเลือดแห่งความรักชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมถ่ายทอดไปสู่สายเลือดคนเดียวของเธอ ‘อาร์ต’ แสงธรรม ชุนชฎาธาร แกนนำเยาวชนที่รวมตัวกันเพื่อร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
• การเมืองคือส่วนหนึ่งของชีวิต
มาลีรัตน์เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอทำหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย อ่านหนังสือเกี่ยวกับ ‘เช กูวารา’ วีรบุรุษการเมืองชาวอาร์-เจนตินา ที่ต่อสู้และเสียสละกระทั่งชีวิตเพื่อเสรีภาพของประชาชนในคิวบาและโบลิเวีย ทำให้เธอซึมซับแนวคิดมุมมองต่างๆจากการอ่านหนังสือเหล่านี้ ช่วงที่เรียนจบมหา วิทยาลัยนั้นเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเมือง 6 ต.ค.19 ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอลุกขึ้นมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ
“พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ดิฉันก็ไปเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ และโรงเรียนอุดรพิทยา จ.อุดร แต่ก็ยังมีความสนใจเรื่องการเมืองและยังติดต่อกับเครือข่ายอยู่ คือเรารู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับทุกคน ก็จะเชื่อมกับน้องๆนักศึกษา เป็นที่ปรึกษาให้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ดิฉันก็ตัดสินใจเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ จะว่าเป็นกระแสก็ใช่ แต่ว่ามันไม่มีทางออก คือเราเห็นรูปนักศึกษาหญิงถูกจับถอดเสื้อ เหลือแต่เสื้อชั้นใน เรารู้สึกว่าทนไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเป็นอาจารย์อยู่นะ คุมสอบอยู่ ก็เก็บเสื้อผ้าเข้าป่าเลย
ตอนนั้นดิฉันใช้ชื่อว่า ‘สหายอรุณ’ ส่วนแฟนดิฉัน(ธัญญา ชุนชฎาธาร) ใช้ชื่อว่า ‘สหายแสงธรรม’ เรารู้จักกันใน ป่า จนสุดท้ายเหตุการณ์สงบ ก็ออกมาจากป่า มาเป็นอาสาสมัครช่วยงานพรรคการเมือง เพราะดิฉันมองว่ามันต้องสู้ในระบบ ยอมรับระบบรัฐสภา แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะลงสมัครรับเลือกตั้งนะ แค่อยากใช้ความรู้ความ สามารถในการช่วยผลักดันงานการเมือง ซึ่งเรามองว่ามันน่า จะเป็นกลไกที่จะเข้าไปแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้” มาลีรัตน์ บอกเล่าถึงที่มาที่ทำให้เธอหันเหชีวิตเข้าสู่แวดวงการเมือง
• ลูกชายโตมากับการเมือง
หลังจากตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับชายหนุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้ไม่นาน เธอก็มีทายาทตัวน้อย ทั้งคู่พร้อมใจกันตั้งชื่อว่า ‘ด.ช.แสงธรรม’ ซึ่งเป็นชื่อของสามีเธอเมื่อครั้งอยู่ในป่า มาลีรัตน์บอกว่าลูกชายอาจจะต่างจากเด็กคนอื่นตรงที่มีความสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางแวดวงการเมือง เนื่องเพราะเธอได้เข้าไปคลุกคลี และทำงานในสายนี้มาตลอด นอกเหนือจากธุรกิจโรงพิมพ์ที่เธอและสามีร่วมกันก่อร่างขึ้นเพื่อเป็นฐานรายได้หลักของครอบครัว
“ด้วยความที่เราไปไหนก็เอาลูกไปด้วย ทำให้อาร์ตเขาโตมากับแวดวงการเมือง ตอนดิฉันไปเป็นอาสาสมัครของพรรคประชาธิปัตย์ เขายังอายุไม่กี่ขวบ ช่วงนั้นก็มีการเลือก ตั้งซ่อม ซึ่ง พล.อ. หาญ ลีนานนท์ กับคุณคณิณ บุญสุวรรณ ลงสมัครคู่กัน อาร์ตก็ไปรณรงค์ด้วย เขาเห็นผู้ใหญ่ถือป้ายหาเสียง ก็ขอว่าอยากถือมั่ง แต่เขายังเด็กถือไม่ไหว ผู้ใหญ่ก็เลยทำป้ายให้แขวนคอ ‘เลือกปู่หาญด้วย’ (หัวเราะ) ตอนนั้นมีนักข่าวมาถ่ายรูปกันใหญ่
คือปกติ 3 คน พ่อ แม่ ลูก ไปไหนก็ไปด้วยกันเป็นปาท่องโก๋ตลอด ช่วงที่เขาอยู่ ป.1 ดิฉันก็ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาชน แต่ตอนนั้นไม่ได้รับเลือกนะ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งบางทีอาร์ตก็อยู่กับพ่อ บางทีพ่อก็ไปช่วยหาเสียงด้วย เราจะมีสมุดเล่มหนึ่ง ก็จะเขียนว่า..พ่อจำเป็นต้องไปช่วยแม่หาเสียงนะ ลูกต้องดูแลตัวเองแบบนั้นแบบ นี้ อาร์ตก็จะเขียนตอบว่า..คิดถึงพ่อกับแม่มาก แต่ถ้าเรากลับไปดึกและต้องออกแต่เช้าก็จะเขียนตอบเขาว่า..พ่อกับแม่ก็คิดถึงลูกมาก ลูกต้องอย่างงั้นอย่างงี้ แต่เขาก็อยากไปหาเสียงด้วยนะ ตอนนั้นประมาณ 5-6 ขวบ เป็นช่วงปิดเทอม ดิฉันต้องเอาเขาไปหาเสียงด้วย เพราะไม่มีใครเลี้ยง เขาได้ปราศรัยด้วยนะ ขึ้นไปนั่งบนรถแล้วก็ขอไมค์ เราก็เอาไมค์ให้ เขาก็พูดเป็นภาษาอีสานว่า “ซ่อยแม่ผมหน่อยเด้อครับ”(หัวเราะขำ)
• เคล็ดลับการเลี้ยงลูก
มาลีรัตน์บอกว่าการจะประคับประคองให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและก้าวเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง โดยไม่แหกโค้งออกนอกลู่นอกทางในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นการเลี้ยงดูเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเธอนั้นใช้วิธีคุยด้วยเหตุด้วยผล เข้าไปรู้จักเพื่อนๆของลูก และสร้างความไว้วางใจให้ลูก เพื่อที่เขาจะได้กล้าพูดคุยกับเธอทุกเรื่อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทราบว่าลูกกำลังคิด กำลังทำอะไร และสามารถเข้าไปชี้แนะแก้ไขได้ทันท่วงที ถ้าเห็นว่ากำลังจะมีปัญหา
“เมื่อก่อนมีอะไร พ่อ แม่ ลูกก็จะนั่งคุยกัน หลังๆต่าง คนต่างมีภาระหน้าที่ก็เลยเขียนโน้ตคุยกัน เดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้นไปอีก พิมพ์ใส่คอมพิวเตอร์ (หัวเราะร่วน) มีเรื่องอะไรก็คุยกันตลอด นอกจากนั้นดิฉันจะรู้จักเพื่อนๆทุกคนของลูก ช่วงที่เขาโตอาจจะน้อยลง แต่ช่วงที่เขาอยู่ ป.1-ม.6 ดิฉันรู้ว่าเพื่อนลูกมีใครบ้าง คนไหนเป็นยังไง สนิทกันมากน้อยแค่ไหน รู้จักพ่อแม่ของเพื่อนๆ เราก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกกัน ไปช่วยงานสมาคมผู้ปกครอง ซึ่งทำให้เรารู้จักสังคมของลูก มีอะไรเรารู้หมด จะได้รู้ว่าตอนนี้ลูกเราเป็นอย่างไร มีอะไรจะได้แก้ไขทัน
ครั้งหนึ่งมีการตรวจฉี่เด็ก อาร์มาเล่าให้ฟังว่าตรวจไปแล้วก็รู้กันทั้งโรงเรียนแหละว่าใครฉี่ม่วงบ้าง ไม่เห็นเก็บเป็นความลับเลยแม่ คือถ้าผู้ใหญ่ไม่ปิดเป็นความลับ ผลสะท้อนกลับมาคือเด็กๆก็จะไม่มีความไว้วางใจ ตอนนั้นอาร์ตก็มาถามว่า แม่รังเกียจไหมถ้าเพื่อนติดยา ดิฉันก็บอกว่าไม่รังเกียจหรอก และไม่ห้ามลูกคบเพื่อนคนนี้ด้วย แต่ลูกต้องรู้จักเลือกส่วนดีของเขามาศึกษา และส่วนไม่ดีของเขา ก็อย่าไปเข้าใกล้จนเกินไป อย่าให้เขาดึงเราไปในทางไม่ ดี ลูกก็จะบอกหมดเลยว่าเพื่อนคนไหนเป็นยังไง
แล้วการฝึกระเบียบวินัยก็เป็นเรื่องสำคัญ พอลูกมาถึงบ้านดิฉันก็จะให้เขาทำการบ้านก่อนเลย คือเราต้องฝึกเขาตั้งแต่เด็กว่า การบ้านต้องเรียบร้อยก่อนที่จะไปเล่นหรือทำอย่างอื่น ทำการบ้านเรียบร้อยแล้วถึงดูทีวีได้ ข้าวเย็นก็กินตรงเวลาทุกวัน ถ้าเล่นคอมพิวเตอร์ 1 ชม. ต้องอ่านหนังสือ 2 ชม. ถ้าเล่นคอมพิวเตอร์ 2 ชม. ต้องอ่านหนังสือ 4 ชม. คือเราต้องฝึกตั้งแต่เด็ก โตแล้วจะฝึกยาก” มาลีรัตน์เล่ายิ้มๆ
• เบ้าหลอมทางปัญญา
ในมุมมองของมาลีรัตน์นั้นเห็นว่าการสร้างปัญญาให้แก่ลูกเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะสิ่งนี้จะติดตัวคนเราไปตลอด ไม่มีใครช่วงชิงไปได้ และยิ่งใช้ก็นับวันแต่จะเพิ่มพูน ดังนั้น เธอจึงเลือกสรรหนังสือดีๆให้ลูกอ่าน สอนให้ลูกรู้จักคิดและใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา มากกว่าจะให้คุณค่าหรือความสำคัญกับเงินทองหรือทรัพย์สินต่างๆ
“ดิฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน และมีโอกาสได้อ่านหนังสือ ดีๆ บางเล่มดิฉันช่วยเลือก เห็นได้เลยว่าการที่เขาชอบอ่านหนังสือแนวปรัชญา เช่น พวกเซน ทำให้เขามีความคิดเป็นผู้ใหญ่และเข้าใจโลก
แล้วอาร์ตเขาโชคดีนะ มีครูที่ดี อย่างตอนเรียนมหา- วิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์พาไปนอนที่บ่อนอกหินกรูด (สถานที่ที่ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อ สร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เขาไปเจอคุณเจริญ วัดอักษร คุณจินตนา แก้วขาว ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทุ่มเททำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เขาก็เลยได้มุมมองแนวคิดที่ดีๆกลับมา ซึ่งปกติเขาก็เที่ยวผับเที่ยวบาร์นะ แต่มาสดุดตอนที่คุณเจริญเสียชีวิต คือเขารู้สึกว่าคนที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองถูกลอบทำร้าย แต่ตัวเองยังเที่ยวผับบาร์อยู่ เขาก็เลยห่างๆไป ยิ่งช่วงชุมนุมพันธมิตรฯ เขาก็จะหยุดไปเลย
บ้านดิฉันจะไม่สอนว่าเงินเป็นใหญ่นะ สอนอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ ลูกเคยร้องอยากได้รถบังคับแต่ราคามันแพง ดิฉันก็เปิดกระเป๋าสตางค์ให้ดู แม่มีเงินอยู่เท่านี้นะ ถ้าซื้อรถบังคับ แม่จะเหลือเงินไม่พอซื้อข้าวซื้อนมให้ลูกกิน เขาก็จะบอกว่าไม่เอาก็ได้ ไม่มีการงอแง ไม่ต้องพูดกันมาก คือคุณพ่อคุณแม่คนอื่นอาจจะไม่บอกความจริงกับลูก เด็กเขาก็จะไม่รู้หรอกว่าพ่อแม่มีเงินหรือเปล่า แต่เราไม่ปิดบัง บาง ทีเขาเห็นเสื้อเด็กที่มียี่ห้อ ก็อยากได้เพราะมันสวย ราคาเป็นพันเลยนะ เราก็บอกว่าเดี๋ยวแม่จะพาไปซื้อ สวยคล้ายอย่างนี้เลย แต่แค่ 200 บาท ก็พาเขาไปโบ๊เบ๊ (หัวเราะขำ)”
• ปลูกฝังความรักชาติ
มาลีรัตน์มองว่าสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ ก็คือการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกรักและหวงแหนแผ่นดินเกิด เธอจึงสนับสนุนให้ลูกได้ร่วมในกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ร่วมกันขับไล่รัฐบาลคอร์รัปชั่น
“เขาเห็นว่าทั้งพ่อทั้งแม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองต่างๆมาตลอด อย่างตอนพฤษภาทมิฬ 2535 ตอนนั้นอาร์ตประมาณ 10 ขวบ เราไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ก็พาลูกไปด้วย แต่ไปช่วงหัวค่ำนะ พอ 4 ทุ่มก็เอาลูกมาส่งบ้าน แล้วสองคนพ่อแม่ก็ออกมาอีกทีตอนตีสอง ช่วงนั้นเขาหลับอยู่ เราสองคนจะเถียงกัน แฟนดิฉันก็บอกว่าคุณอยู่บ้านเถอะลูกยังเล็ก เดี๋ยวผมเป็นอะไรไปจะได้มีคนดูแลลูก เราก็โมโหว่าเมื่อก่อนนี้จะไปชุมนุมที่ไหนไม่เห็นมีใครมาห้ามเลย ลูกก็ลุกขึ้นมาตัดสินเลย..พ่อกับแม่ไปเถอะ ถ้าพ่อแม่เป็นอะไรไป ผมจะไปอยู่กับยาย อยู่กับน้าตุ๊ก (หัวเราะขำ) คือพ่อแม่จะได้เลิกเถียงกัน แล้วเขาก็จะคอยโทร.บอกว่าตอนนี้ตำรวจเขารายงานว่า แม่พูดอะไรบนเวทีปราศรัย
อาร์ตเขาจะเกรงใจพ่อแม่นะ คือเขารู้ตั้งแต่เด็กๆแล้วว่าที่พ่อแม่ทำทั้งหมดนั้น ทำเพื่อชาติ เขาก็ถือว่าเรื่องของเขาเป็นเรื่องเล็ก เรื่องของชาติเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้ามีเรื่องอะไร เขาจะเอาไว้ทีหลัง อย่างตอนที่เขาอกหักช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 เขาไม่กลับบ้าน ดิฉันก็โทร.ไปตาม ถามว่ามีอะไรไม่สบายใจไหม เขาก็บอกว่าเรื่องเด็กๆ ไร้สาระ ไม่อยากให้แม่เป็นภาระ คือเขากลัวว่าความทุกข์ของเขาจะทำให้แม่ไม่สบายใจ จนเราต้องบอกกับลูกว่า มีอะไรลูกบอกกับแม่ได้ เพราะสำหรับแม่แล้ว ทุกข์ของลูกใหญ่ที่สุด ก็บอกให้เขากลับบ้านมาปันทุกข์กับแม่ เพราะพ่อแม่เองก็อยากปันทุกข์กับลูก เขาถึงยอมกลับบ้าน
อาจารย์ก็มีส่วนในการหล่อหลอมให้เด็กมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมืองนะ อย่างที่สาธิตเกษตรฯ อาจารย์เข้าใจเด็กดีมาก ตอนไปประชุมผู้ปกครองดิฉันก็ได้คุยกับคุณครูที่สอนวิชาสังคม คุณครูก็บอกว่าก่อนสอน เขาจะบอกเด็กว่า..ขอโทษนะที่ผู้ใหญ่รุ่นครูเลือกนักการเมืองไม่ ดี ทำให้ลำบากมาถึงรุ่นพวกคุณ ซึ่งตรงนี้มันทำให้อาร์ตรู้สึกว่า เขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้านคนพวกนี้”
• ลูกไม้ใต้ต้น
และจากการเลี้ยงดูบ่มเพาะด้วยความรักของผู้เป็นแม่ ณ วันนี้ “แสงธรรม” ลูกชายคนเดียวของมาลีรัตน์ก็ไม่ได้ทำให้เธอผิดหวัง นอกจากเรียนดีแล้วยังเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเขามีผลงานเรื่องสั้นออกมาไม่น้อย ทั้งที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และจุดประกายวรรณกรรม แสงธรรมร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มแรงคิด จัดค่ายประชาธิปไตย เป็นประธานนักเรียนโรงเรียนสาธิตมัฆวานแห่งมหาวิทยาลัยราชดำเนิน ซึ่งเป็นที่รวมของเยาวชนที่ออกร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมพันธมิตรฯ ในปี 2551 และเป็นบรรณาธิการนิตยสารรายเดือน DemoCrazy ซึ่งแจกฟรีให้แก่เยาวชน
คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง และปัจจุบันเขากำลังเรียนปริญญาเอก หลักสูตรผู้นำทางด้านสังคมธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต ไปพร้อมๆกับการทำงานในฐานะพิธีกรร่วม ในรายการรู้ทันประเทศไทย ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
“ในฐานะคนเป็นแม่ ดิฉันไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่ให้ลูกเราไม่ไปทำร้ายคนอื่น และให้เขาเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้นี่แหละ รู้ผิด รู้ชอบ รู้ชั่ว รู้ดี และมีความสุขในชีวิต ตอนนี้ดิฉันก็ภูมิใจในตัวเขานะ บางครั้งเขาก็ให้แง่คิดกับพ่อแม่ อย่างปีที่แล้วเขาเรียนปริญญาเอกอยู่ ถ้าเขาเลิกมาชุมนุมกับพันธมิตรฯแล้วเรียนอย่างเดียว เขาก็อาจจะแค่ทำทฤษฎีนิพนธ์ในปีนี้ แต่ปีนี้เขาต้องมาลงเรียนใหม่ เพราะเขาห่วงชุมนุมเลยไม่ได้เข้าสอบ ก็เหมือนเขาสูญเสียโอกาสที่จะเรียนในปีนี้ พ่อกับแม่ก็เป็นห่วง บอกกับเขาว่าไม่ต้องคิดมากนะ แต่เขาบอกว่า...พ่อกับแม่ลองนึกดูนะ ชุมนุมพันธมิตรฯ ครั้งนี้ บางครอบครัวเสียลูกไปในวันที่ 7 ตุลาฯ บางคนเสียชีวิต บางคนสูญเสียอวัยวะ อาร์ตน่ะโชคดีนะที่เสียแค่โอกาสเรียนหนังสือเท่านั้น ทั้งๆที่อาร์ตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพราะเป็นแกนนำ อยู่แถวหน้าตลอด อาร์ตเสียแค่โอกาสทางการศึกษา แค่นี้อาร์ตว่าเรื่องเล็ก เราได้ยินแค่นี้ ก็ชื่นใจแล้ว” มาลีรัตน์ เล่าด้วยใบหน้ายิ้มละไม
นี่คงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า “มาลีรัตน์ แก้วก่า” ไม่ได้เป็นแค่หญิงแกร่งแห่งวงการการเมืองเท่านั้น หากแต่เธอยังเป็น ‘แม่’ ที่ใช้ทั้งสมองและหัวใจในการบ่มเพาะลูกชายให้เติบใหญ่ เป็นคนไทยที่มีคุณภาพ คุณธรรม และเปี่ยมไปด้วยเลือดรักชาติไม่ต่างจากเธอ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552 โดยจินตปาฏิ)