เนื่องในวโรกาสวันที่ 12 สิงหาคม 2552 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ดร.จรินทร์ สวนแก้ว ประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช พร้อมด้วย พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และอาจารย์วรธนัท อัศวกุลโกวิท พร้อมด้วยพสกนิกรชาวไทย ร่วมจัด “พิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า” พร้อมทั้ง “พิธีมหาชาตาบารมีสิทธิ” การเจริญพระพุทธมนต์แบบอาณาจักรสุวรรณภูมิ เพื่อถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา “12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ”
ดร.จรินทร์ ประธานมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช เปิดเผยว่า ในการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงมีพระชนมพรรษา 77 พรรษา การเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญยิ่ง เพราะปีนี้จะมี “พิธีมหาชาตาบารมีสิทธิ” ในวันที่ 11 สิงหาคม 2552 เวลา 05.30 - 08.00 น. โดยมีพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานในพิธีสงฆ์ พร้อมพระสงฆ์ร่วมในพิธีทั้งหมด 42 รูป และอาจารย์วรธนัท อัศวกุลโกวิท ปรมาจารย์ ศาสตร์ฮวงจุ้ยชื่อดัง เป็นประธานโครงการ “พิธีมหาชาตาบารมีสิทธิ” และเป็นผู้นำประกอบ พิธีฯ ซึ่งถือเป็นการสืบสานพิธีโบราณราชประเพณี เช่นครั้งสมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่ได้จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามคติความเชื่อ หากดวงพระราชชะตาของผู้ปกครองแผ่นดินแข็งแกร่ง จะนำมาซึ่งความผาสุกแก่ปวงประชาทั่วทั้งแผ่นดิน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดี ให้เกิด ความสงบร่มเย็นภายในบ้านเมือง และมีความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ภาพรวมการจัดงาน “12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ” เริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 9-10 สิงหาคม 2552 เป็นการแสดงกลางแจ้งบนเวทีของสถานศึกษา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ตามด้วยพิธีอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลจำนวน 78 รูป ส่วนวันที่ 11 สิงหาคม เป็นพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า และพิธีมหาชาตาบารมีสิทธิ สำหรับวันที่ 12 สิงหาคม จะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 278 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายเครื่องราชสักการะ จุดเทียนชัยถวายพระพร และวัน สุดท้าย 13 สิงหาคม จะเป็นพิธีอัญเชิญเครื่องราชสักการะเฉลิมพระเกียรติ ไปยังพระตำหนักจิตรดารโหฐาน” ดร.จรินทร์ กล่าว
พระพรหมวชิรญาณ กล่าวว่า “ในวันแม่ปีนี้ นับว่าเป็นโอกาสดียิ่ง ที่สาธุชนชาวไทย จะได้เข้าร่วมพิธีบุญอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงมีพระคุณูปการสูงสุดแก่ปวงชนชาวไทย พร้อมกันนี้ พสกนิกร ชาวไทยจะได้ร่วมสร้างบารมีให้แก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวม อีกด้วย”
อาจารย์วรธนัท กล่าวว่าวัตถุประสงค์หลักในการจัดพิธีครั้งนี้ขึ้น ถือเป็นการเจริญพระพุทธมนต์แบบอาณาจักรสุวรรณภูมิ ถวายพระพรชัยมงคล ยังความเป็นสิริมหามงคล ถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสวันคล้าย วันเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา
ตามตำนานในอดีตของอาณาจักรสุวรรณภูมินั้น พิธีมหาชาตาบารมีสิทธิ ได้จัดเป็นประจำทุกปี ส่วนหนึ่งจัดตามคติความเชื่อที่ว่าหากดวงพระราชชะตาของผู้ปกครองแผ่นดินแข็งแกร่ง จะนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดิน และนอกจากนี้ยังจัดให้เป็นพิธีสำคัญที่ประชาชนจะได้ร่วมมือร่วมใจกันถวายความจงรักภักดี และความศักดิ์สิทธิ์ระหว่างการดำเนินพิธีจะส่งผลให้ประชาชน ผู้เข้าร่วมพิธีเกิดความสงบภายในจิตใจ มณฑลพิธีในอดีตนั้น จึงเปรียบดั่งศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกคน
“เมื่อผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ก็รู้สึกศรัทธาในประเพณีดีๆ ที่เคยมีมาในอดีต จึงได้เริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นเสาะแสวงหาความรู้จากต้นกำเนิดหลายๆที่ ซึ่งหลายๆครั้งค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีผู้สืบสานตำนานน้อยมาก แต่ผมก็ไม่เคยละความพยายาม เพราะเชื่อว่าอาจจะมีสักครั้งที่ผมได้ใช้ความรู้จากการร่ำเรียนครั้งนี้ทำประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ซึ่งก่อนจะมีพิธีฯครั้งนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดพิธีมหาปะฐะมังสิทธิ ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพิธีหลวงในอดีตที่จัดขึ้นเพื่อหนุนดวงชะตาบ้านเมืองและดวงชะตาของราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศ ครั้งนั้นท่านประธานมูลนิธิฯ ก็ได้ให้เกียรติไปเข้าร่วมพิธี นับจากวันนั้นท่านพระพรหมวชิรญาณ ก็ได้กล่าวกับผม รวมถึงท่านประธานมูลนิธิฯว่า น่าจะจัดพิธีนี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในพิธีอย่างกว้างขวาง และสาเหตุจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนขาดกำลังใจ และประชาชนต้องการศรัทธาและความหวัง”
อาจารย์วรธนัท กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการจึงได้พยายามดำเนินพิธีให้เป็นไปด้วยความสมพระเกียรติและถูกต้องตามราชประเพณีปฏิบัติในอดีตทุกประการ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมหามงคลที่จะเกิดขึ้น
“หวังว่าพิธีฯครั้งนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วม แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ได้รวมพลังกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี ผมเชื่อว่าหากเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว จะไม่มีอุปสรรคใดในบ้านเมืองที่เราจะฝ่าฟันไปไมได้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552 โดยกองบรรณาธิการ)