xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ตัว‘มาร’ ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรุปรวมความว่า มาร ๕ มีครบถ้วนอยู่ในกายในใจของเรานี้ทั้งหมด พอเกิดมาได้รูปได้นามแล้วก็ได้มาร ๕ มาพร้อมเลย เราจะรู้จะเห็นตัวของมันหรือไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม ขันธมารและมัจจุมารมันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น ส่วนกิเลสมาร เทวบุตรมาร และอภิสังขารมารนั้น เมื่อรู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงของมันแล้ว จะไม่สามารถหลอกลวงให้ไปติดบ่วงมันได้เลย
ท่านจึงสอนอุบายทั้งหลายให้พวกเรา คือ อย่าไปหลงการหลอกลวงของจิต แล้วอย่าไปยินดีในวิสัยของมาร อย่างที่อธิบายในเบื้องต้น อย่าไปเชื่อจิตอย่างเดียว จิตของเราไปเชื่อไม่ได้หรอก เราต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว ไม่รู้ว่าจิตหลอกลวง ของจริงก็ไม่รู้จัก ของเท็จของเทียมก็ไม่รู้จักทั้งนั้น เราต้องอาศัยปัญญาจึงจะรู้
ปัญญาเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความสงบ อาศัยการ ฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ แล้วก็ทำความสงบจิตให้เข้าถึงสมาธิ จิตถึงสมาธิแล้วจะเห็นเรื่องการลวงของจิตด้วยตนเองชัดเจนทีเดียว จิตที่เป็นสมาธิแล้วไม่หลอกลวง เป็นจิตตรงไปตรงมาเข้าถึงสัจธรรมเห็นทุกข์เป็นทุกข์จริงๆ เห็นความสงบเป็นสุขจริงๆ เห็นความทะเยอทะยานดิ้นรนเป็นความเดือดร้อนแท้ทีเดียว ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแล้ว มันหลอกลวงเราอยู่ตลอดเวลา ให้เราลุ่มหลงมัวเมาไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักพอ ที่เรียกว่า ตัณหา ๓ นั่นเอง
เรื่องของตัณหานี้เราจะรู้ได้เมื่อจิตสงบเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้เรื่องของตัณหาแล้ว กิเลสอื่นๆ ก็จะรู้ได้ยาก ความทะเยอทะยานที่เกิดขึ้นมาในตัวของเรานั่นแหละเป็นตัวกิเลส พยายามให้เห็นตัวของมัน เห็นโทษของมัน เราจึงจะละวางมันได้ เมื่อไม่มีการเบื่อหน่ายก็ไม่มีการพ้นจากมัน เพราะกลับไปยินดีในตัณหาเสียอีก มันก็อยู่ในวิสัยของมาร ดังนั้นพระพุทธองค์จึงสอนให้เรารู้จักตัวมาร ไม่ให้ยินดีตามวิสัยของมาร ก็จะเป็นการชนะมารและพ้นจากกองทุกข์ เรามาทำทาน มารักษาศีล มาเจริญเมตตาภาวนา ทำกัมมัฏฐานก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย เพราะต้องการละกิเลสมารตัวนี้แหละ
การทำทาน หมายถึง เราเป็นคนยอมสละออกไป ถ้ามีอยู่ปรากฏอยู่แล้วมันเป็นกังวลและห่วงในเรื่องเหล่านั้น ห่วงในการรักษาในการถือว่าของกูๆ พอสละปุ๊ปปั๊บลงไปแล้วหมดห่วง ยังเหลือแต่ผลของการสละคือความดีใจ ความอิ่มเอิบใจ ปีติว่าเราได้สละให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นแล้ว ผลของมันเป็นอย่างนี้
ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรามีเนื้อมีปลาอยู่สักกิโลสองกิโล ทีนี้เริ่มห่วงกังวลแล้ว จะเอาไว้ที่ใดก็กลัวหนูกลัวแมวจะเอาไปกิน ทิ้งไว้ก็กลัวจะบูดจะเน่า นั่นลองคิดดูซิ ถ้าหากเราสละเนื้อนั้นทำบุญทำทาน ที่เหลือเราก็กินเสีย เท่านี้แหละความห่วงความกังวลก็หมดไป ไม่มีเหลือ กลับมีความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำบุญ วัตถุสิ่งของอื่นๆ ก็อย่างเดียวกัน ความห่วงย่อมเป็นไปตามฐานะของวัตถุนั้นๆ มีมากหรือวัตถุมีค่าก็ห่วงมาก ของน้อยหรือวัตถุมีค่าน้อยก็ห่วงน้อย
เหตุนั้น การทำทานจึงเป็นการสละความตระหนี่หวงแหน ความห่วงกังวล ไม่ให้มันหลงไปตามวิสัยของมาร ไม่ให้จิตมันหลอกลวง จึงจะพ้นจากบ่วงของมาร
การรักษาศีล ก็เช่นเดียวกัน ความชั่วต่างๆ ที่เราพากันทำอยู่ทุกวันนี้ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดมิจฉาจาร ด่าทอเขา มุสาเขา ดื่มสุรายาเมา เหล่านี้ทำแล้วมันร้อนขึ้นมาภายในจิตใจของเรา ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าหากว่าเรามาเห็นเรื่องทั้งหลายนี้ว่ามันเป็นโทษ ไม่ดีไม่งาม เราก็ละทิ้งมันได้ เมื่อละทิ้งได้แล้วก็หมดความร้อนใจ มีความสบายใจเย็นใจ นี่เรียกว่าเรารู้จักหน้าตาของมัน เห็นโทษของมันแล้วเบื่อหน่ายจึงละทิ้งได้
ถ้าหากเรายังเสียดายหวงแหนอาลัยความชั่วอยู่ความร้อนความไม่สบายใจมันก็ยังมีอยู่นั่นเอง เพราะเรายังหวงเก็บเอาไว้ แต่นี่เราต้องการความสบายใจ ต้องการความเย็นใจ แล้วเราจะเอาความร้อนไว้ทำไม หากมีความคิดนึกอย่างนี้ก็จะละทิ้งความชั่วเสียได้ ดังนั้น การรักษาศีลจึงเป็นการระวังไม่ให้หลงตามวิสัยของมาร อัน นี้ก็เป็นการรักษาจิตไปในตัว
การภาวนา คือการอบรมจิตใจให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่างๆ ยิ่งเป็นการละ เอียดไปกว่าการรักษาศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบ ใดแล้ว มันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัด ภาวนา เห็นโทษเห็นภัยของความยุ่งความไม่สงบด้วยตนเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว อารมณ์ใดที่วางได้แล้ว เราก็จะต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้วก็แล้วไปเลยไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างนั้นไม่ ถูกต้อง เพราะมันอาจสามารถที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า
พระพุทธจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า “เสขบุคคล ผู้ไม่คำนึงถึงจิตที่ละได้แล้ว และยังไม่ละ ขี้เกียจขี้คร้านทำความเพียรให้ติดต่อ คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ประกอบความยินดีกับการงาน มันก็จะเสื่อมได้เหมือนกัน”
เหตุนั้น เมื่อเราละได้มากน้อยเท่าใดก็อย่าทอดทิ้งเคยพิจารณาอย่างนี้ ดำเนินได้อย่างนี้ก็อย่าลืม ดำเนินอยู่อย่างนั้น พิจารณาอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ละได้แล้วก็จะต้องนำมาปรารภ นำมาพิจารณาอีกอยู่ตลอดเวลา ให้เห็นโทษเห็นภัยของมัน เห็นเป็นของน่าเบื่อหน่ายอยู่เช่นนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทแลไม่มีการเสื่อม
นี่แหละเรื่องจิตหลอกลวงสัตว์คือตัวของเราเอง มีนัยตามที่ได้อธิบายมาโดยลำดับดังนี้ มันหลอกลวงเรา เราเลยไปยินดีกับมัน ติดในความลวงของมัน ชอบใจในความหลอกของมัน เลยเป็นเหตุให้เกิดแล้วตาย เกิดแล้วตาย วนเวียนอยู่นับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีสติ การที่จะละกิเลสได้หรือรู้จักตัวของกิเลสได้ก็ต้องมีความสงบของจิตเสีย ก่อน เมื่อใจสงบแล้วก็จะเห็นตัวมารและเห็นวิธีการหลอกลวงของมัน เห็นแล้วเราก็จะไม่หลงตามวิสัยของมันอีก จะเห็นทางเป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์

(แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พ.ศ.๒๕๑๔)

(จากธรรมลีลา ฉบับ104 กรกฎาคม 52 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น