คาราวานแห่งชีวิตและการงานของ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2543 กำลังเดินหน้าไปพร้อมๆกันอย่างเป็นองคาพยพ เพราะไม่ว่างานน้อยใหญ่ก็ล้วนแต่ต้องให้ความสำคัญและสานต่อไปให้ถึงเป้าหมาย
รวมถึงงานด้านศาสนาที่เขาและคณะได้มีโอกาสใช้ความสามารถทางศิลปะ มารับใช้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และดำเนินงานภายใต้ “มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต” มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
ผู้ใกล้ชิดและผู้ที่เป็นแฟนผลงานศิลปะ อาจจะพอได้รับรู้เรื่องราวในด้านนี้มาบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วเรื่องราวได้ขยายวงกว้างไปสู่การรับรู้ ก็เมื่อตอนที่มูลนิธิฯ ได้เปิดที่ทำการ ณ ซอยสุขุมวิท 63 จัดพิธีทำบุญฉลององค์พระ และแจ้งให้ผู้มีจิตศรัทธารับทราบถึงความจำเป็น ในการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัย “พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย” (มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ชนะสูงสุดเหนือสงครามมาร ด้วยพระพุทธานุภาพแห่งพระบารมีอันบริสุทธิ์ยิ่ง) ผลงานออกแบบและควบคุมการปั้น-หล่อของจักรพันธุ์
แต่ก่อนหน้านั้นจักรพันธุ์ ได้มีโครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร กทม. และวัดเขาสุกิม จันทบุรี ซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว ทว่ายังไม่มีกำหนดเวลาแล้วเสร็จ เนื่องจากคณะทำงาน ต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปทำงานด้านอื่นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดสร้างและแสดงหุ่นกระบอกที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 18 และล่าสุดคือหุ่นกระบอกเรื่อง “ตะเลงพ่าย” ซึ่งเตรียมการและสร้างมาตั้งแต่ปี 33 เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของบูรพกษัตริย์และบรรพชน ไทย แต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดแสดงจริง ทว่าเปิดให้ประชาชนเข้าชมการซ้อมฟรี ทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน
รวมไปถึงโครงการที่คิดจะสร้างพิพิธภัณฑ์ สำหรับรวบ รวมผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ของจักรพันธุ์ และต้นฉบับแบบร่างงานจิตรกรรมฝาผนัง ตลอดจนศิลปวัตถุประเภท งานหุ่น และเครื่องดนตรีกว่า 100 ชิ้น ที่มูลนิธิฯ ได้เก็บรักษาไว้ และต้องการให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาค้นคว้า และเห็นถึงแหล่งกำเนิดของสกุลช่างศิลปะในสมัย ร.9
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดตรีทศเทพวรวิหาร
แม้จะฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม มาตั้งแต่ปี16 และเคยซ่อมภาพรามเกียรติ์ที่ พระระเบียงวัดพระแก้ว ทว่างานแรกเพื่อศาสนาที่ได้ลงมือทำ คือ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดตรีฯ โครงการที่อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งมีความรู้จักมักคุ้นกับเพื่อนสนิทของคุณแม่ของจักรพันธุ์ ติดต่อให้ไปเขียน เมื่อปี 31 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังเตรียมการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก
แต่ด้วยความมั่นใจในฝีมือของ “วัลลภิศร์ สดประเสริฐ (ต๋อง)” ศิษย์เอก ผู้มีความเชี่ยวชาญในงานจิตรกรรมไทย ประเพณีโดยเฉพาะ ทำให้ตกปากรับคำที่จะทำงานนี้
“หุ่นกระบอกซ้อมล่วงหน้ามาประมาณ 2 ปี และเริ่มเล่นวันที่ 2 ม.ค. 32 เล่น 15 รอบ จำได้แม่นเพราะเป็นต้นปี แต่ได้กราบเรียนท่านเจ้าคุณไปว่าจะทำให้ แต่ยังรับปากไม่ได้ว่าวันไหน เพราะยังต้องเตรียมงานเพื่อแสดงหุ่นกระบอก”
กระทั่งปี 33 งานจิตรกรรมฝาผนังวัดตรีฯ จึงได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งถือเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับจักรพันธุ์และคณะ ก่อนที่จะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเขาสุกิมในเวลาต่อมา
นอกจากทหารเอกอย่างวัลลภิศร์ ที่ถูกคัดสรรร่วมเป็น คณะทำงานเล็กๆ ยังมี สุดสาคร บุษบก, ธวัชชัย วิเศษกุล และวิรัช แสงครุฑ ศิษย์เก่าจากรั้วเพาะช่าง
“เราขออนุญาตท่านเจ้าคุณว่าขออย่าเร่งนะ ขอให้เราได้ทำตามอำเภอใจ และขอให้วัดจ่ายค่าแรงให้กับคณะทำงาน ยกเว้นจักรพันธุ์ เพราะตั้งใจทำงานถวาย งานนี้เราไม่ได้เขียนโบสถ์แบบรับเหมาอย่างที่คนอื่นเขารับกัน ค่าใช้จ่ายในเรื่องอะไรต่อมิอะไร เราขอให้ทางวัดเป็นผู้ออก และช่างเขียนก็ได้ค่าแรงเป็นรายวัน”
เวลานี้จิตรกรรมฝาผนัง เหลือที่ยังไม่เสร็จ คือผนังปรินิพพาน นอกนั้นก็เป็นเพียงผนังเล็กๆ ระหว่างและเหนือหน้าต่าง แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย
“คนที่ทำหน้าที่ร่างภาพทั้งหมดมีสองคน คือเรากับต๋อง ความจริงเขาร่างมากกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะเขาชำนาญ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องคุมต้องคอยช่วยดูว่าถูกใจไหม ส่วนคนที่เอาไปลอก และเขียนลงสีคือน้องๆที่เป็นช่างเขียน ซึ่งต้องทำงานเขียนฉากเพื่อการแสดงหุ่นกระบอกไปด้วย”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจักรพันธุ์กล่าวว่า การทำงาน เป็นไปด้วยความราบรื่น จนแทบจะไม่มีอุปสรรคใดๆ ตรงกันข้ามกลับมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าจ่ายในการซื้อหาวัสดุอุปกรณ์ โดยที่ทางวัดแทบจะไม่ต้องออก ขณะที่บางรายได้มอบเงินเพื่อเป็นค่าอาหารและค่าขนมให้กับบรรดาช่างเขียน
และหากจะพบปัญหาก็เห็นจะเป็นเรื่องการเตรียมผนังและการแตกร้าวของภาพ เนื่องจากต่อมาวัดได้ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างพระเจดีย์ติดกับพระอุโบสถ แต่ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “จรูญ ชินาลัย” วิศวกรฝีมือดี รุ่นพี่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่ช่วยให้ปัญหาผ่านพ้นไปได้
“อุปสรรคแทบจะไม่มี แต่ที่มีจริงๆ คือช้าเหลือเกิน เพราะเราทำงานกันหลายอย่าง บอกไม่ได้เลยว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ค่อยๆทำไป ช่างเราก็ไม่ได้รับเพิ่ม เพราะว่ารู้ใจกัน และทำมาด้วยกันสิบกว่าปีแล้ว”
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดเขาสุกิม
จุดเริ่มของการทำงานจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเขาสุกิม เมื่อต้นปี 2540 มีความแตกต่างจากที่วัดตรีฯ ตรงที่มูลนิธิฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจักรพันธุ์ได้ปวารณาตัวที่จะทำมาก่อนหน้า เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระพุทธศาสนา และหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ครูบาอาจารย์ที่เขาเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งเพิ่งมรณภาพไปเมื่อ สองปีที่ผ่านมา
แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างวัด จึงทำให้ไม่มีความพร้อม
“ก่อนหน้านี้ท่านอาจารย์ป่วยมาก แต่เราไม่เคยล้มความตั้งใจว่าจะทำจิตรกรรมฝาผนังให้ท่านได้เห็น แม้บัดนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ท่านยังทันได้เห็นดาวเพดาน และลายเฟื่อง”
การทำงานยังคงร่วมกับทหารเอกคนเดิม และได้ส่งช่างเขียนซึ่งเคยช่วยงานที่วัดตรีฯมานับสิบปี อย่าง อุทัย สาสนาม และสิโรรส สร้อยสลับ ไปประจำการอยู่ที่วัด
“สองคนนี้มีนิสัยที่จะอยู่ต่างจังหวัดได้ดี เพราะชอบต้นไม้ต้นไร่ ชอบป่าเขาลำเนาไพรมาก เขาจึงรับอาสาไป เป็นช่างที่มีฝีมือพอสมควร ส่งไปอยู่ที่วัด ให้ลุยกันสอง คน นานๆ จะมารับแบบที่กรุงเทพฯ”
สองความงดงามที่แตกต่าง
งานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทั้งสองแห่งแทบไม่มีความแตกต่างกัน เพราะต่างเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา เพียงแต่ที่วัดตรีฯในส่วนของดาวเพดาน ไม่ใช่ผลงานของคณะทำงาน ขณะที่วัดเขาสุกิม ทุกรายละเอียดล้วนแต่เป็นผลงานของคณะทำงานทั้งสิ้น
“เนื้อหาของทั้งสองวัดไม่แตกต่างกัน แต่แตกต่างด้วยรายละเอียด ด้วยความที่วัดเขาสุกิมเป็นวัดป่า ในงานจึงมีการเขียนภาพต้นไม้ต้นไร่ ให้ดูกลมกลืนกับบรรยากาศของวัด ดาวเพดานของที่อื่นๆอาจจะเป็นแบบ ประเพณี แต่ที่วัดเขาสุกิม เราใส่ให้มีนกบิน ตอนที่ทำดาวเพดาน ท่านอาจารย์สมชายเริ่มป่วยแล้ว เวลาที่ท่านกลับมาจากโรงพยาบาล พอลงจากรถท่านจะแวะดูดาวเพดานเป็นอันดับแรกเลย ส่วนที่วัดตรีฯ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจะมีความวิจิตรแบบวัดหลวง”
ปีติในบุญ
เวลานี้ แม้ว่างานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทั้งสองแห่ง จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ความสุขทางใจก็พลันเกิดขึ้นกับจักรพันธุ์และคณะในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงทุกๆ ฝ่ายที่ได้มีส่วนช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้น
“เราไม่ได้ฝืนทำนี่ การเขียนรูป เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว และการทำบุญให้กับพระพุทธศาสนา เราถือว่าเป็น มหาโชคนะ ส่วนผู้ร่วมงานนับตั้งแต่ต๋อง เขาก็เป็นผู้ที่ใฝ่บุญอยู่แล้ว ร่างจิตรกรรมฝาผนัง 70-80% เป็นผลงานของเขา เพราะเขาชำนาญมาก และช่างเขียนคนอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะได้รับค่าจ้างจากทางวัด แต่เราบอกกับเด็กๆทุกคนเสมอว่า ขอให้คิดว่าสิ่งที่ทำเหมือนเป็นการทำบุญ อย่านึกว่าเป็นอาชีพที่รับเหมา ขอให้ทำให้ดีที่สุด ซึ่งทุกคนต่างเข้าใจ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงทำให้ทุกคนมีความปีติในทุกอย่าง และได้รับการอำนวยความสะดวกและความกรุณาจากวัดทั้งสองแห่งเป็นอย่างดี ญาติโยมที่มาร่วมบุญ เขาก็พลอยมีความสุขไปด้วย ดังนั้นบุญที่ทำจึงได้ผลในชาตินี้เลย”
จากท่านเจ้าคุณนรฯ - เกจิชื่อดัง
ในทางธรรม จักรพันธุ์มีครูบาอาจารย์ที่ลื่อมใสหลายรูป นับตั้งแต่ ‘ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต’ วัดเทพศิรินทราวาส ที่แม้จะไม่มีโอกาสได้กราบ แต่ในอดีตบิดาเคย บวชเป็นพระที่วัดนี้
“ตอนที่ยังเป็นหนุ่มน้อยๆ ได้อ่านประวัติของท่าน ทำให้ทราบว่า ท่านเคยเป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวชิราวุธ จึงทำให้รู้สึกผูกพันและเคารพรักท่านเจ้าคุณนรฯมาก พ่อของเราพอสึกออกมาแล้ว กลับไปกราบท่านที่วัดฯ ก็จะได้รับคำแนะนำจากท่านเสมอ เราจึงนับถือท่านเจ้าคุณนรฯ และมีท่านเป็นเหมือนทางนำในชีวิต ฆราวาส ได้อ่านหนังสือของท่านก็จะจดจำ พอเราโตมาหน่อยท่านก็มรณภาพไป”
หลังจากนั้นในวัย 30 ต้นๆ จักรพันธุ์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สมชาย เริ่มต้นจากลูกศิษย์คณะมัณฑนศิลป์ ได้พาไปเที่ยวที่วัดเขาสุกิม จึงทำให้รู้จัก และเลื่อมใสศรัทธาในเวลาต่อมา
แต่ยามนี้ที่คอของจักรพันธุ์ห้อยเหรียญหลวงปู่เกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง มาหลายสิบปีแล้ว นับแต่ที่เพื่อนจากคณะจิตรกรรมให้มา ด้วยความงามของ เหรียญและด้วยความศรัทธาในหลวงปู่ฯ หลังจากที่ได้อ่านประวัติ ก็ไม่เคยถอดวางเหรียญนี้ให้ห่างกายเลย และต่อมาได้มีผู้นำภาพถ่ายของหลวงปู่มาให้เขียนภาพเหมือน จึงเขียนถวายไปด้วยจิตศรัทธา
“ความจริงแล้วเรามีครูบาอาจารย์เยอะนะ แต่ที่ได้กราบ และมีความใกล้ชิด คือท่านอาจารย์สมชาย และก่อนหน้านี้เราก็ได้ตระเวนไปวัดแถวอีสานหลายวัด เพราะมีรุ่นพี่เมตตานำไป เคยไปไหว้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เคยไปวัดหลวงปู่ชา สุภัทโท เคยไปฟังธรรมจากหลวงปู่ขาว”
ซึ่งพระเกจิหลายรูปที่กล่าวมานั้น เขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือเขียนภาพเหมือนด้วย รวมถึง หลวงพ่อปาน, หลวงพ่อฤาษีลิงดำ, หลวงปู่ครูบาธรรมชัย, หลวงปู่แหวน, ท่านพุทธทาส, ท่านพระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) และพระอาจารย์แบน ธนากโร
ภาพเหมือนส่วนใหญ่เมื่อเขียนเสร็จก็มักจะถวายวัดไปทันที ส่วนบางภาพติดอยู่ที่ผนังบ้านของผู้ที่มาว่าจ้างให้เขียน โดยที่จักรพันธุ์ไม่มีโอกาสเก็บไว้แม้แต่ภาพเดียว จะมีโอกาสเห็นก็ในคราวที่มีบางวัดนำภาพมาให้ซ่อม หรือในยามที่ภาพถูกตีพิมพ์เป็นปกหนังสือธรรมะ
“ส่วนมากจะเขียนถวายโดยไม่ได้ค่าตอบแทน แต่จะมีบางภาพที่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านนำมาจ้างให้เขียน เป็นภาพเหมือนขนาดใหญ่ แต่ส่วนมากจะเขียนถวาย อย่างภาพเหมือนท่านอาจารย์ฝั้น เขียนไปไว้ที่โรงพยาบาล จนเดี๋ยวนี้ 20-30 ปี ยังไม่ได้เห็นอีกเลย ส่วนภาพหลวงพ่อปานเขียนเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว และภาพหลวงพ่อฤาษีลิงดำเขียนเมื่อท่านยังอยู่ ภาพทั้งสองติดอยู่ที่วัดของ ท่าน ให้คนกราบไหว้บูชา พอถูกควันธูปควันเทียนภาพมันก็เริ่มชำรุด เพราะเขียนมาเกินยี่สิบปีแล้ว ตอนนั้นเรายังหนุ่มอยู่เลย และบัดนี้ทางวัดได้ส่งภาพมาให้ซ่อม
นอกจากเป็นคนเขียนแล้วก็ต้องมานั่งซ่อมอีก แต่ไม่เป็นไร ด้วยความยินดี เพราะเข้าใจดีว่าวัดไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ ลักษณะการเก็บรักษาจึงอาจไม่เหมาะสม เราจึงต้องนำภาพมาเคลือบมาซ่อมนิดหน่อย ล้างคราบไคลออก ต่อไปในวันข้างหน้า ภาพชำรุดอีก ก็ไม่รู้ว่าใครจะซ่อม จึงอยากจะให้วัดเก็บรักษาให้ดี เพราะภาพเขียน มันไม่ควรจะถูกควันธูปควันเทียน หรือถูกแสงแดดมากเกินไป แม้แต่สปอตไลท์ ก็ต้องระวัง เพราะหมดสมัยของเราแล้ว คนรุ่นต่อไป ใครจะมาซ่อม แต่เราเป็นคนเขียน สามสิบปีมาซ่อมก็ไม่เป็นไร เพราะเราคุ้นเคย”
สติมา ปัญญาเกิด
จักรพันธุ์เป็นพุทธศาสนิกชนในแบบที่ไม่ได้เคร่งครัดกับตัวเองถึงขนาดที่ต้องแบ่งเวลาเพื่อทางโลกและทางธรรมอย่างชัดเจน แต่เขาก็ได้ยึดหลักของสติ ตามที่หลวงปู่สมชายสอนแก่ลูกศิษย์ทุกคนอยู่เสมอ
“ท่านบอกว่าให้มีสติและรู้ตัวอยู่ตลอดทั้งวัน เช้ามาตื่นนอน หรือตอนจะนอนก็ต้องมีสติ หรือจะพูดอะไรก็ต้องระวัง ไม่ให้คำพูดของเราไปกระทบใคร แต่บางทีก็ไม่มีหรอกสติ(หัวเราะ) เพราะเราก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนะ ที่บางครั้งเรื่องงานมันก็มีอะไรที่ทำให้เราขาดสติ แต่เราก็พยายามทำให้ตัวเรามีสติ อะไรที่ทำผิดพลาดไปแล้วก็พยายามแก้ตัวสิ ใช่ไหม ต้องแก้ตัว ต้องรู้จักขอโทษ
และเป็นธรรมดาที่ตื่นเช้ามาหรือก่อนนอน ต้องสวดมนต์ไหว้พระ ถ้าเป็นวันพระก็ต้องสวดมนต์ยาว ทำวัตรค่ำ หรือเปิดหนังสือสวด ส่วนวันธรรมดาก็สวดสั้นหน่อย เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เรียนที่วชิราวุธแล้ว ต้องทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ หลายๆคนพอออกจากวชิราวุธ ก็ต้องเลิกกิจวัตรนี้ไป แต่ตัวเรายังคงทำอยู่”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 103 มิ.ย. 52 โดยฮักก้า)