xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ตัว 'มาร' ที่แท้จริง อยู่ที่ไหน? (ตอนที่ ๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้จะอธิบายธรรมะถึงเรื่องกิเลสตัวหนึ่ง ซึ่งเราทั้งหลายรู้จักกันดี เคยได้ยินชื่อของมันอยู่ ที่เรียก ว่า “มาร” เป็นเรื่องที่ควรคิดควรพิจารณา พระพุทธเจ้าตรัสว่า
จิตฺเตน วญฺจิตา สตฺตามารสฺส วิสเย รตา
อเนกชาติสํสารํสนฺธาวนฺติ อวิทฺเทสู

แปลความได้ว่า จิตหลอกลวงสัตว์ทั้งหลาย จึงค่อยยินดีไปตามวิสัยของมาร จึงเกิดๆ ตายๆ ในวัฏสงสารนับชาติไม่ถ้วน
คำว่า “มาร” ใครๆ ก็รู้จักกันทุกคน แต่ว่ารู้จักเพียงชื่อของมันเท่านั้น ยากที่จะรู้จักตัวมารอันแท้จริง โดยมากถ้าหากว่าเกิดยุ่งยากขึ้นมาแล้วก็มักจะพูดกันติดปากเสมอว่านี่มารมากวน เช่น จะเข้าวัดฟังธรรมจำศีลก็ไม่ได้ หรือจะทำการทำงานอะไรก็ไม่ได้ เพราะลูกๆ หลานๆ มายุ่ง ก็เรียกว่ามาร จะทำบุญสุนทานอะไรต่างๆ พอมีเรื่องขัดข้องก็ว่ามาร อะไรๆ ก็มารทั้งนั้น
ทำไมจึงว่ามาร คือคนเราเคยฟังเพียงผิวเผินว่าเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องทรงผจญกับมาร จนทรงชนะมาร แล้วจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็เลยจับเอาคำว่ามารอันนั้นมาพูดกัน ถ้าสิ่งใดที่เป็นเครื่องขัดข้องหรือกีดขวางไม่ให้เราลุล่วงความสำเร็จ หรือขัดขวางไม่ให้ทำคุณงามความดีตามที่ตั้งใจไว้ ก็เรียกว่ามารทั้งหมด พากันเข้าใจง่ายๆ เพียงแค่นี้
คำว่ามารในพระคาถานี้ไม่ได้หมายความเช่นนั้น มีความหมายลึกซึ้งเข้าไปกว่านั้นอีก มารในที่นี้มิได้หมายถึงเรื่องผู้อื่น จิตฺเตน วญฺจิตา สตฺตา จิตหลอกลวงสัตว์ คือ จิตหลอกลวงตัวเรานั้นเอง คำว่า สัตว์ ก็เหมือนกัน สัตว์ในที่นี้มิได้หมายเฉพาะสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น หากหมายถึงบรรดาผู้ที่ยังข้องอยู่ในกิเลสทั้งหมด ผู้ที่ยังไม่ได้พ้นจากทุกข์ ยังไม่ได้ถึงความเกษมสุขคือพระนิพพาน ท่านเรียกว่าสัตว์โลกด้วยกันทั้งนั้น มนุษย์เราพากันดูถูกพวกสัตว์ต่างๆ มีสุนัข หรือวัว ควาย เป็นต้น ถ้าหากเราไม่ พอใจผู้ใดละก็จะด่าเขา พูดสำทับเขาว่าไอ้สัตว์เดรัจฉาน ไอ้เปรตอะไรทำนองนั้น
ความจริงตัวเราที่ไปโกรธไปว่าเขานั่นก็เป็นสัตว์โลกตัวหนึ่งดีๆ นี่เอง คือ ยังข้องอยู่กับความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชัง ความพอใจ ไม่พอใจ ยินดียินร้าย ตัวของเรายังมีอยู่ เราก็เป็นสัตว์เหมือนกัน ดังนั้น พึงเข้าใจถ้อยคำในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ถูกต้อง ถ้าหากเราเข้าใจอย่างนี้แล้วจะได้ระมัดระวังตัวเอง แก้ไขตัวเองเมื่อโกรธหรือเกลียดคนอื่น แล้วก็จะได้ไม่ด่าเขา การด่าเขาก็คือด่าเรานั่นเอง เหตุนั้นคำว่า สัตว์ ในพระคาถาที่ว่า จิตฺเตน วญฺจิตา สตฺตา จิตหลอกลวงสัตว์ ก็คือจิตหลอกลวงตัวเรานี่เอง
คำว่า “หลอกลวง” แยกออกเป็น “หลอก” คำหนึ่ง “ลวง” อีกคำหนึ่ง “หลอก” เป็นการทำให้เขาตกอกตกใจด้วยการเข้าใจผิด เช่น ทำเสียงโฮกฮากๆ ให้เหมือนกับเสือเพื่อให้เขากลัว หรือทำเสียงต่างๆ ให้เขากลัวโดยเข้า ใจว่าผีหลอก ความจริงเราเป็นผีหลอกต่างหาก ส่วน “ลวง” คล้ายๆ กันกับหลอก ลวงนั้นคือทำให้เขาเข้าใจผิดและหลงผิด เช่น จิตมันลวงเราให้เราเข้าใจผิด คิดผิด หลงผิด ผิดอย่างไร ตัวอย่างเช่นเราเกิดขึ้นมาแท้จริงเป็นทุกข์ ก็ลวงให้เข้าใจว่าเป็นสุข กายของเรานี้เป็นของไม่ เที่ยง มันก็ลวงให้เข้าใจว่าเป็นของเที่ยง ตัวของเราเป็นปฏิกูลโสโครกทั้งนั้น แต่เข้าใจว่าเป็นของสวยสดงดงาม นี่มันลวงให้เข้าใจผิดอย่างนี้ จึงทำให้เราหลงมัวเมา ประมาทไม่รู้จักจบสิ้น
มาร หมายถึง การเบียดเบียน ครั้นเบียดเบียนแล้วก็กีดกันความสุข ความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตน ท่านแยกมารไว้หลายประเภท ได้แก่
๑. ขันธมาร ได้แก่ ขันธ์คือตัวของเรานี่แหละ ทุกคนต้องการความสุข ความสบาย แต่เราอาศัยขันธ์หรือรูปกายนี้อยู่ มันไม่ให้ความสุขแก่เราเลย เราทะนุถนอมบำรุงบำเรอมันด้วยประการต่างๆ สารพัดอย่าง มันก็เพียง แค่นั้นแหละ ความแก่ ความเฒ่าชรา ความเจ็บป่วย ความอยู่ไม่สบายของขันธ์ มันเข้ามาเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา เราอยากได้ความสุข แต่มันเบียดเบียนไม่ให้เรารับความสุข เราอยากจะรักษาศีล ภาวนา ประเดี๋ยวมันก็เจ็บป่วยเสียแล้ว เดี๋ยวมันก็อยู่ไม่สบายเสียแล้ว เป็นเหตุให้เราขัดข้อง กีดกันไม่ให้ประกอบคุณความดี จึงเป็นมาร เรียกว่า ขันธมาร
๒. กิเลสมาร มารคือกิเลส ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง เหล่านี้อยู่ในกิเลสมาร จิตหลอกลวงเราให้หลงใหลอยู่ในกองกิเลส หลงทุกข์ว่าสุข หลงของไม่สวยไม่งามว่าเป็นของสวยสดงดงาม ความโกรธเป็นของไม่ดีกลับเห็นเป็นของดี ของไม่มีสาระแก่นสารเห็นเป็นของดี มีค่า เช่นนี้เรียกว่ากิเลสมาร
๓. เทวบุตรมาร อันนี้เกี่ยวข้องถึงเรื่องของผู้ที่เจริญ ฌาน สมาธิ สมาบัติ โดยมากท่านเหล่านี้มีความมุ่งที่จะพ้นทุกข์ แต่ว่าจิตมันปรารถนาสุข ติดสุข อยากเป็นเทว บุตร เทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันเลยเป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางไม่ให้พ้นจากทุกข์ได้ เป็นมารของมรรค ผลนิพพาน ท่านเรียกเทวบุตรมาร
๔. อภิสังขารมาร มารคือ การปรุงแต่งให้ดียิ่งๆขึ้นไป ดีเท่านี้แล้วก็อยากให้ดียิ่งๆขึ้นไป วิเศษแล้วก็ยังอยากให้ วิเศษยิ่งไปกว่านั้น ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมอันสูงสุดแล้ว การปรุงแต่งไม่มี วางความดีความชั่ว คือ ไม่มีบาปไม่มีบุญ สมกับที่ท่านว่า “ปุญฺญปาปปหีนสฺส ผู้ที่พ้นจากโลกได้นั้น ท่านละทั้งบุญและบาป” เพราะฉะนั้น อภิสังขารมาร จึงเป็นเครื่องกีดขวางมรรคผลนิพพาน ความพ้นจากทุกข์
๕. มัจจุมาร ความตายก็จัดเป็นมารอันหนึ่ง บางคนอยากมีอายุยืนนาน แต่ความตายมาตัดรอนเสีย พูดกันง่ายๆว่ามาขัดขวางไม่ให้ทำความเจริญงอกงามขึ้นไปได้ ไม่ให้บรรลุผลตามความปรารถนาที่มุ่งไว้ จึงเรียกว่า มัจจุมาร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสิอธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น