xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากต่างแดน : 'มหามัยมุนี' พระพุทธรูปมีชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งก่อน “บัวน้อย” พาไปชมปฐมเจดีย์ ที่ศรีลังกามาแล้ว ครั้งนี้จะพาไปพม่า ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ไปที่เมืองมัณฑะเลย์ (อดีตราชธานีของพม่า) ไปที่วัดมหามุนี เพื่อไปกราบ “พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพม่า (เช่นเดียวกับ “พระแก้ว มรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย) และเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่า ซึ่งชาวหม่องทั้งหลายให้ความเคารพบูชาเลื่อมใส ถึงขนาดตั้งจิตอธิษฐานขอให้ชาติ นี้มีบุญได้มากราบสักการะพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสักครั้งหนึ่งในชีวิต
พระมหามัยมุนี ซึ่งคนพม่าเรียกกันว่า “มหาเมี้ยะมุนี” มีความหมายว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” หรือ “มหาปราชญ์” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์องค์ใหญ่ ทำด้วยทองสำริด หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว น้ำหนัก 6.5 ตัน หุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว ตามตำนานเล่าขานกันว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 689 หรือเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว!! โดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ ทรงสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นตาม พระสุบินหรือความฝันของพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าประทานพรให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวแทนของพระองค์ ในการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ เจริญรุ่งเรืองสืบไป
แต่เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถหล่อครั้งเดียวได้ จึงต้องหล่อเป็น ชิ้นๆ แล้วค่อยนำมาประสานกันภายหลัง ซึ่งปรากฏว่าสามารถต่อได้อย่างสนิทแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์
ความศักดิ์สิทธิ์และความงดงามของ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองยะไข่ ได้เลื่องลือไปไกล จนเป็นที่ปรารถนาของกษัตริย์พม่าทุกยุคทุกสมัยหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม พระเจ้าบุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และพระเจ้า อลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ต่างเคยยกทัพไปตีเมืองยะไข่ ได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มา ประดิษฐานที่เมืองของตนได้ เพราะความ ทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูง ทำให้ยากต่อการเคลื่อนย้าย
แต่ในที่สุดพระมหามัยมุนี ก็จำต้องเสด็จออกจากยะไข่ เมื่อพระเจ้าโบดอพญา หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม พระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์อลองพญา ได้ยกทัพมาตียะไข่ และสามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนี ล่องแม่น้ำอิระวดี ไปประดิษฐาน ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2327 พร้อมกับสร้างวัดมหามุนี เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน เป็นการถาวรมาจนปัจจุบัน
แต่ว่าในปี พ.ศ. 2422 สมัยพระเจ้าสีป่อ หรือธีบอ กษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ได้เกิด เพลิงไหม้วัดมหามุนี ทำให้ทองคำเปลวที่หุ้มห่อองค์พระถูกความร้อนหลอมละลาย ออกมา รวมเป็นเนื้อทองน้ำหนักถึง 700 บาท อีก 6 ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2426 ชาวพม่าได้เรี่ยไรเงินกันบูรณะวัดขึ้นใหม่ให้ มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จากนั้นก็มีการบูรณะ เรื่อยมา
และด้วยความที่ชาวพม่าให้ความเคารพเลื่อมใสพระมหามัยมุนีอย่างสูงสุด จึงได้พากันไปกราบไหว้ปิดทองกันอย่าง ล้นหลาม จนทองคำเปลวจำนวนมหาศาล ที่ปิดซ้อนๆ บนองค์พระมานานกว่าร้อยปี ทำให้องค์พระมีลักษณะนิ่ม และไม่เรียบเนียนเหมือนเดิม (ยกเว้นพระพักตร์ที่ห้าม ปิดทอง และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปใกล้หรือปิดทองที่องค์พระ โดยกำหนดเขตให้สตรีกราบพระได้ระยะใกล้สุดราว 10 เมตร แต่สามารถซื้อแผ่นทองฝากผู้ชายขึ้นไปปิดแทนได้) ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม”
ความเชื่อความศรัทธาที่สืบทอดกันมาจากตำนาน ซึ่งเชื่อกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต และมีลมหายใจ ที่พระพุทธองค์ได้ประทานให้ เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ ก็ได้ก่อให้เกิดประเพณีล้างพระพักตร์ขึ้น
โดยทุกรุ่งสาง ราว ตี 4 เจ้าอาวาสวัดและสาธุชนทั่วไป จะร่วมทำพิธีล้างพระพักตร์ ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคา อย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์ เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ใช้ผ้าเช็ดจนแห้งสนิท และขัดสีให้เนื้อทองสำริดที่พระพักตร์นั้นสุกปลั่งเงางาม พร้อมใช้พัดทองโบกถวาย เสมือนหนึ่งได้กระทำอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งยังทรงพระชนมชีพอยู่จริงๆ (เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธรูปจึงมีพระพักตร์เป็นประกายแววาวสุกปลั่งมาตลอดระยะเวลา อันยาวนาน)
นับถึงปัจจุบันก็ 225 ปีแล้วค่ะ ที่พระมหามัยมุนีประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนชาวพม่าตลอดมา
อย่าลืมนะคะ...ไปเที่ยวพม่า ไปมัณฑะเลย์ ต้องไปกราบพระคู่บ้านคู่เมืององค์นี้ มิฉะนั้นจะเรียกว่าไปไม่ถึงพม่าค่ะ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยบัวน้อย)
กำลังโหลดความคิดเห็น