xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางปลงกัมมัฏฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธรูปปางปลงกัมมัฏฐาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปางชักผ้าบังสุกุล เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร(ไม้เท้า) ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลง เบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล บางแห่งสร้างแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงทาบที่พระเพลา(ตัก)
พระพุทธรูปปางนี้ไม่ค่อยมีผู้นิยมสร้าง จึงมักไม่ค่อยได้พบเห็นกันทั่วไป มีประวัติความเป็นมาว่า
สมัยหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะนำผ้าขาวห่อศพมาซักย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ จึงเสด็จไปพิจารณาปฏิกูลสัญญา แล้วทรงชักผ้าบังสุกุลและนำมาซักตากให้หมดกลิ่นซากศพแล้วเย็บเป็นจีวร
มีเรื่องเล่าไว้ในพุทธประวัติว่า ครั้งที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปพักในโรงบูชาไฟของอุรุเวลกัสสป ณ ตำบลอุรุเวลา ครานั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้ผ้ามาแล้ว ก็ทรงดำริว่าจะซักผ้าบังสุกุลที่ไหน ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ทรงทราบพระดำริ จึงขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์เพื่อให้ทรงซักผ้าในสระนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริต่อไปว่าจะขยำผ้านี้ที่ไหน พระอินทร์จึงได้ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ เพื่อให้ทรงขยำผ้าบนศิลานี้ หลังจากซักแล้วพระพุทธองค์ทรงดำริว่าจะพาดผ้าไว้ในที่ใด เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบก จึงน้อมกิ่งกุ่มลงมา เพื่อให้พระองค์พาดผ้า
หลังจากนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อแลเห็นสระน้ำแผ่นศิลาใหญ่ และกิ่งต้น กุ่มบกที่โน้มลงมา ก็เกิดความสงสัย เพราะไม่เคยเห็นว่าที่นี่มีสิ่งเหล่านี้มาก่อน พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ชฎิลอุรุเวลกัสสปจึงคิดว่า พระพุทธองค์ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพได้ลงมาทำการช่วยเหลือด้วยตนเอง
พระพุทธองค์ไม่เคยประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกรูปใดเลย แต่ภายหลังได้ประทานบังสุกุลจีวรผืนนี้ที่ทรงครองมาโดยตลอดแก่พระมหากัสสปะ เพราะท่านได้บำเพ็ญธุดงค์ในการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรมาแต่เดิม พระมหากัสสปะรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาคุณและพระเมตตาคุณ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อจนตลอดชีวิต ต่อมาพระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 101 เม.ย. 52 โดยกานต์ธีรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น