ความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ใดหนีพ้นได้ และไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อใด ดังพุทธภาษิตที่ว่า
สายเมเก น ทิสฺสนฺติ
ปาโต ทิฏฐา พหู ชนา
ปาโต เอเก น ทิสฺสนฺติ
สายํ ทิฏฐา พหู ชนา
ตอนเช้ายังเห็นกันอยู่มากคน
พอตกเย็นบางคนก็ไม่เห็น
เมื่อเย็นยังเห็นกันอยู่มากคน
ตกถึงเช้าบางคนก็ไม่เห็น
ทำให้หวนระลึกถึงถ้อยคำของพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งพร่ำสอนผู้คนไว้จวบจนวาระสุดท้ายของท่านว่า “ทำดีเสียก่อนตาย ตายแล้วทำไม่ได้”
เหตุที่ยกเรื่องความตายมาปฏิสันถารเป็นเบื้องต้น ก็เพราะธรรมลีลา ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2551 นี้ ได้นำเรื่องการตายอย่างสงบมาเล่าสู่กันฟัง ในประเด็น การช่วย ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ให้ ‘ตายอย่างสงบ’ ใครเป็นคนช่วย และช่วยอย่างไร.. เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก
จากนั้นต้องอ่านเรื่อง กรรมนิมิต-คตินิมิต ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้บอกไว้ว่า คนเราเวลาจะตายมันต้องมีเครื่องดึงดูดชักจูง คือกรรม ที่เรียกว่า กรรมนิมิต คตินิมิต ทั้งกรรมนิมิตและคตินิมิต เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างยิ่ง
ในพุทธศาสนาสอนว่า ทำกรรมดีย่อมไปสู่สุคติ ทำกรรมชั่วย่อมไปสู่ทุคติ และหนึ่งในทุคติ หนทางไปสู่ภพภูมิที่ทุกข์ลำบากของผู้ทำกรรมชั่ว ก็คือ ไปเป็นเปรต ซึ่งกฎแห่งกรรมฉบับนี้ เสนอเรื่องเปรตกินอุจจาระ เปรตตนนี้เคยทำกรรมใดมาสมัยเมื่อยังเป็นมนุษย์? ต้องอ่านเพื่อเรียนรู้กันไว้เป็นอุทาหรณ์
และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ทั้งพายุไซโคลนในพม่า และแผ่นดินไหวในจีน ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตนับแสน วิกฤตการณ์ครานี้ เป็นวิบากกรรม หรือฝีมือมนุษย์... เรามีเรื่องนี้มาบอกเล่าไว้ เพื่อเตือนใจในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน รวมทั้งเรื่องของการรณรงค์ให้‘วัด-มัสยิด’เป็นผู้นำในการประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดวิกฤตภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง
ช่วยต่อลมหายใจให้กับโลกเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่เถิด เพราะ ‘ตายแล้ว ทำไม่ได้’ จริงๆ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51)