xs
xsm
sm
md
lg

พรหมวิหารสี่ข้อ เมตตาและกรุณาเจโตวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมตตาเจโตวิมุตติ

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้เจริญเมตตา แผ่จิตออกไปด้วยเมตตา คือความ มีไมตรีจิตรักสนิทด้วยไมตรีจิต มุ่งดีปรารถนาสุข ทั้งไม่เจือด้วยสิเน่หา ความเยื่อใยผูกพัน การแผ่จิตด้วยเมตตานี้ก็ด้วยอาศัยการคิดแผ่ไปก่อน ว่าถึงเป็นอัปปมัญญา คือไม่มีประมาณ ก็คิดแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ให้มีความสุขทุกถ้วนหน้าใน ทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องต้น ในทิศ เบื้องล่าง ในทิศขวางโดยรอบ ให้จิตผ่องพ้นจากพยาบาท ความมุ่งร้าย ตลอดจนพ้น จากราคะสิเน่หา ในบุคคล ในสัตว์ทั้งหลายที่แผ่จิตไปนั้น เมื่อจิตปรากฏเป็นเมตตา จิตขึ้นมา หากจะมีพยาบาทหรือราคะสิเน่หาใดๆ มาก่อน กิเลสเหล่านี้ก็จะหลุดไปจากจิต จึงเป็นเจโตวิมุตติ ความพ้นแห่งใจข้อหนึ่งเรียกว่าเมตตาเจโตวิมุตติ เมื่อเป็นชื่อของธรรมข้อนี้ ก็แปลว่า ธรรมที่ทำให้ได้ความพ้นแห่งใจคือเมตตา

เมตตานี้ตรัสแสดงว่า มีความงามเป็นอย่างยิ่ง คือจะรู้สึกว่างามด้วยความสุขอันบริสุทธิ์ไปทั่วทุกทิศ ทั่วทุกบุคคลสัตว์ทั้งหลาย ไม่ปรากฏความรู้สึกว่าน่าเกลียด น่าชังใดๆทั้งสิ้น ไม่มีความรู้สึกที่เป็นพยาบาทหรือที่เป็นราคะสิเน่หาอันน่าเกลียดน่าชัง ไม่มีรูปพรรณสัณฐานของบุคคลและสัตว์ใดๆที่น่าเกลียดน่าชัง แม้ผู้ที่เคยเกลียด จิ้งจก ตุ๊กแก แต่ว่าเมื่อได้เมตตาเจโตวิมุตติข้อนี้ ก็ย่อมจะรู้สึกว่า จิ้งจกตุ๊กแกก็งามไปหมด ไม่น่าเกลียด ไม่น่าชังอะไร จึงได้ตรัสว่า มีความงามเป็นอย่างยิ่ง คือน่ารักใคร่ไปหมด แต่ว่าเป็นความรักใคร่ที่บริสุทธิ์ไม่เจือด้วยราคะสิเน่หา

กรุณาเจโตวิมุตติ

อนึ่ง ตรัสสอนให้เจริญ กรุณา คือแผ่จิตออกไปด้วยกรุณา เป็นความสงสาร ความเอื้ออารี คิดช่วยให้พ้นทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ว่าถึงอัปปมัญญา ก็แผ่ไปในสัตว์บุคคลทุกถ้วนหน้า และในทิศทั้งหลายทั่วทิศเหมือนอย่างเมตตานั้น เมื่อกรุณาบังเกิดขึ้นในจิต จิตก็จะพ้นไปจากวิเหสา คือความคิดเบียดเบียนต่างๆหรือโทมนัส เช่นความรู้สึกเสียใจ เมื่อได้เห็นทุกข์ของคนที่เป็นที่รัก เป็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยกรุณาจึงเป็นเจโตวิมุตติ ความพ้นแห่งใจอีกข้อหนึ่ง เรียกว่ากรุณาเจโตวิมุตติ เมื่อเป็นชื่อของธรรมก็แปลว่า ธรรมที่ทำให้ได้รับความพ้นแห่งใจคือกรุณา

และกรุณาดังกล่าวมานี้เมื่อแผ่ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ตรัสแสดงไว้ว่า มีอากาศเป็นอย่างยิ่ง คือมีช่องว่างหรือความว่างเป็นอย่างยิ่งก็เพราะว่าเมื่อยังไม่ว่าง ยังมีสัตว์บุคคล ทั้งหลายอยู่ แม้ว่าผู้อบรมเจริญกรุณาจะไม่มีจิตเบียดเบียนใครและมุ่งช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทั้งสิ้น แต่แม้เช่นนั้น สัตว์บุคคลนั้นๆ ก็ยังเบียดเบียนกันอยู่ ทำให้มีความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง เพราะผู้ไม่มีกรุณานั้นก็มีอยู่เป็นอันมาก ในโลกนี้ ผู้ที่มีกรุณาจริงๆนั้นมีน้อย สัตว์บุคคลทั้งหลายจึงต่างเบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นอันมาก เกือบจะทั้งโลก และทั้งถ้าไม่มีใครเบียดเบียน สัตว์บุคคลนั้นๆเองก็ต้องมีชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณะทุกข์เบียดเบียน เป็นภัยอันตรายที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกว่า อมาตาปุตติกภัย ภัยที่แม่กับลูกก็ช่วยกันไม่ได้ อันภัยอื่นๆนั้นก็อาจจะช่วยกันได้บ้าง ช่วยกันไม่ได้บ้าง เช่นว่าอัคคีภัย อุทกภัย แต่ว่าชราภัย พยาธิภัย มรณะภัยนั้นช่วยกันไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อยังมีสัตว์บุคคลอยู่ จึงต้องเป็นทุกข์เพราะเบียดเบียนซึ่งกันและกันบ้าง เพราะชราภัย พยาธิภัย มรณะภัยบ้าง เป็นอันว่าต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง

หัดปฏิบัติสุญญตา

พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้หัดปฏิบัติสุญญตา คือความว่าง ทีแรกก็ให้หัดปฏิบัติทำความรู้ที่เป็นสัญญา คือ ความกำหนดหมายว่า ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล เป็นป่าเขาลำเนาไม้ไปทั้งหมด และต่อจากนั้นก็ทำให้สัญญาคือความกำหนดหมายว่า แม้ป่าเขาลำเนาไม้ต่างๆ ก็ไม่มี มีแต่แผ่นดินราบเป็นหน้ากลองไปทั้งหมด จากนั้นก็ให้หัดทำสัญญาว่า แม้แผ่นดินที่ราบเป็นหน้ากลองนั้นก็ไม่มี มีเป็นอากาศคือช่องว่างไป ทั้งหมด คือเป็นความว่างไปโดยรอบในทิศทั้งปวง ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลบ้านเมือง ไม่มีป่าเขาลำเนาไม้ ไม่มีแผ่นดินเป็นอากาศคือความว่างไปทั้งหมด และเมื่อกำหนดอากาศสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นอากาศคือความว่างไปทั้งหมด ดั่งนี้ ก็ไม่พบอะไรที่จะถูกเบียดเบียนอันจะต้องให้ช่วย เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสไว้ว่า กรุณาเจโตวิมุตตินั้นมีอากาศคือความว่างเป็นที่สุด เป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ก็เป็น อันว่า สิ้นเขตของกรุณาเจโตวิมุตติ เพราะว่าจะไม่พบอะไรที่ต้องแผ่กรุณาออกไปอีก เมื่อยังมีอะไรที่จะต้องมีทุกข์ ก็จะต้องแผ่กรุณาออกไปอีกนั่นเอง ไม่สิ้นสุดลงไปได้ ในเมื่อปฏิบัติลงไปจนเป็นอากาศ ว่างไปหมดแล้ว ไม่พบอะไรที่จะต้องแผ่เป็นกรุณา ก็เป็นอันว่าสิ้นเขตของกรุณา

การปฏิบัติแผ่เมตตา แผ่กรุณาแม้ดังกล่าวมานี้ ก็เป็นการปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ทั้งเจ็ด เพราะว่าจะต้องมีสติ คือความระลึกได้ จะต้องมีธรรมวิจัยคือความเลือกเฟ้นธรรม จะต้องมีวิริยะคือความเพียร และย่อมจะมีปีติคือความอิ่มเอิบใจ มีปัสสัทธิ คือ ความสงบกายสงบใจ มีสมาธิคือความตั้งใจมั่น มีอุเบกขาคือความเพ่งเข้ามาดูสมาธิ จิตนั้นภายใน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น