xs
xsm
sm
md
lg

ขัตติยนารี พระพี่นาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ปรากฏพบเห็นน้อยชิ้นนัก

สองภาพที่ผ่านสายตาผู้คนในรอบปี พ.ศ.2550 และต้นปีนี้ นอกเหนือจากภาพ บนดวงตราไปรษณียากรในฉลองพระองค์สีน้ำเงิน ก็คือภาพที่ถูกอัญเชิญมาตีพิมพ์ บนปกนิตยสารพลอยแกมเพชร และปกหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ 2551 เล่มขนาดเล็กชื่อ ‘ชื่นเกล้า’

ภาพแรกเป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ.2543 ‘อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ เขียนขึ้นเมื่อราว 2-3 ปีที่แล้ว โดยอาจารย์จักรพันธุ์บอกเล่าว่าเป็นภาพที่มีผู้มาว่าจ้างให้เขียน ภาพเขียนชิ้นจริงมีขนาด 5x70 เซนติเมตร เขียนด้วยสีพาสเทล และเวลานี้อยู่ในการครอบครองของผู้ว่าจ้าง

อาจารย์จักรพันธุ์เขียนภาพนี้ขึ้น โดยดูแบบมาจากพระฉายาลักษณ์ ขาว-ดำ ซึ่งเก็บสะสมไว้มานานแล้ว

“ผมจะมีภาพพระฉายาลักษณ์ของพระราชวงศ์และเจ้านายทุกพระองค์เก็บสะสมเอาไว้มาก รวมทั้งหนังสือต่างๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นภาพที่มีความงดงาม นานทีปีหนจึงจะมีผู้มาว่าจ้างให้เขียน เพราะส่วนใหญ่ผมจะเขียนภาพจากวรรณคดีมากกว่า”

กลางปี พ.ศ.2550 อาจารย์จักรพันธุ์ได้อนุญาตให้นิตยสารพลอยแกมเพชร ซึ่งตีพิมพ์ภาพเขียนและบทความ ของอาจารย์จักรพันธุ์ ภายใต้นามปากกา ‘ศศิวิมล’ มาตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี อัญเชิญภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ภาพเดียวที่ได้มีโอกาสเขียนขึ้น มาตีพิมพ์บนปกนิตยสาร เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา จึงทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชมภาพเขียนชิ้นนี้ในวงกว้าง

แม้ตลอดชีวิตจะได้มีโอกาสเขียนภาพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เพียงครั้งเดียว ทว่ายังมีอีกสองครั้งในชีวิต ที่อาจารย์จักรพันธุ์ ได้ร่วมเฉลิมเกียรติ และใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

ครั้งหนึ่งคือการเป็นผู้ควบคุมและออกแบบปักตาลปัตร พัดรองที่ระลึก จำนวน 12 เล่ม ถวายพระราชาคณะตามวัดต่างๆ โดยเจ้านายในราชวงศ์ได้ร่วมกันสร้างถวาย เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

ตาลปัตรทุกเล่มปักพระนามาภิไธยย่อ “กว.” ด้วยดิ้นเลื่อมและไหมลงบนผ้ากำมะหยี่สีฟ้า เป็นของถวายอันทรงคุณค่าที่พระราชาคณะของวัดแต่ละวัดที่ได้รับถวายต่างเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

และอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2532 อาจารย์จักรพันธุ์และคณะ เปิดการแสดงหุ่นกระบอก เรื่อง ‘สามก๊ก’ ตอนโจโฉแตกทัพเรือ จำนวน 15 รอบ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ในรอบสุดท้าย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอด พระเนตรการแสดงดังกล่าว ในช่วงพักครึ่งการแสดง พระองค์ท่านได้เสด็จไปยังหลังโรงละคร ทรงทอดพระเนตรหุ่นทุกตัวอย่างใกล้ชิด พร้อมรับสั่งว่า “หุ่นตัวเล็ก แต่เวลาแสดงดูตัวใหญ่มาก” ทำให้อาจารย์จักรพันธุ์และนักแสดงทุกคนปลื้มปีติ ตื้นตันใจและตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ต่างก้มกราบด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ

“และเมื่อจบการแสดง นักแสดงทั้งหมดก็ได้มาก้มกราบพระองค์ท่านที่หน้าเวที โดยพร้อมเพรียงกัน” ศิลปินแห่งชาติ วัย 64 ปีบอกเล่า

ส่วนภาพบนปกหนังสือ ‘ชื่นเกล้า’ เป็นภาพเขียนผลงานของ ‘อุทัย ไชยกลาง’ นักวิชาการศึกษาจากสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน

อุทัยเขียนภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยดูแบบมาจากภาพพระฉายาลักษณ์ ขาว-ดำ ที่ทรงฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสาะแสวงหามาจากร้านจำหน่ายโปสเตอร์ย่านบางขุนพรหม

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 เขาเขียนภาพขึ้นด้วยสีอะคริลิกและเขียนในโทนสีฟ้า อันเป็นสีโปรดของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ขณะที่แบคกราวน์ของภาพ อาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย

ดอกไม้สีขาวในภาพที่เห็น แปลงมาจากภาพถ่ายของดอกแก้วและดอกแก้วเจ้า-จอม ซึ่งเป็นดอกไม้ 2 ชนิด ที่รวมกันเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ชื่อ ‘ดอกแก้วกัลยา’ ดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนาม พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ

เดิมทีผู้ที่ได้รับหน้าที่เป็นคนเขียนภาพเพื่อตีพิมพ์เป็นปกหนังสือวันเด็กแห่งชาติ คือ ‘อาจารย์ทวีพร ทองคำใบ’ นักออกแบบดวงตราไปรษณียากรชื่อดัง ผู้เสียชีวิต ไปด้วยอุบัติเหตุเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ‘อุทัย’ ศิษย์เก่าจากรั้วเพาะช่าง ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทวีพรจึงเป็นผู้ทำหน้าที่ต่อจากท่าน

นอกจากภาพเขียนจะถูกตีพิมพ์เป็นปกหนังสือชื่นเกล้า ยังถูกตีพิมพ์เป็นภาพโปสเตอร์แจกจ่ายไปตามเขตการศึกษาทั่วประเทศ โดยอุทัยตั้งใจว่าจะเก็บภาพเขียน ชิ้นจริงไว้กับตัวเอง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน ตลอดจนพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด

“ตลอดมาผมรู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านเป็นถึงเจ้านายชั้นสูง แต่ทรงปฏิบัติต่อประชาชนผู้ยากไร้อย่างไม่ถือพระองค์เลยสักนิด”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย ฮักก้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น