xs
xsm
sm
md
lg

กล้วยไม้ ดอกไม้วันครู ผลงานชิ้นเยี่ยมของธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดีปีใหม่ 2551 ค่ะ เดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นของปีใหม่นี้ ขอนำเรื่องราวและภาพงามๆของ กล้วยไม้นานาพันธุ์มาฝากกันค่ะ ที่สำคัญยังเป็นดอกไม้ประจำวันครู วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีด้วย

กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว อยู่ในวงศ์Orchidaceae คือวงศ์กล้วยไม้ ซึ่งทั่วโลก มีราว 850 สกุล แต่ละสกุลแบ่งออกเป็นชนิด ต่างๆราว 20,000 - 30,000 ชนิด!! เรียกได้ว่าเป็นวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนไม้ดอกส่วนประเทศไทยที่เป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ นั้นมีเกือบ 200 สกุล ราว 1,200 ชนิด

กล้วยไม้จึงมีขนาด รูปร่าง และลักษณะหลากหลาย มีส่วนต่างๆสมบูรณ์ คือ ราก ต้น ใบ ดอก และผล แต่ไม่มีรากแก้ว และลำต้น ไม่มีแก่นไม้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด มีทั้งที่ชอบความชุ่มชื้นและที่ทน แล้ง ให้ดอกที่มีสีสันสวยงามแปลกตา และยังเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการและการปรับตัวให้ เหมาะกับการดำรงชีวิต ในสภาพแวดล้อม และถิ่นอาศัยที่กล้วยไม้นั้นขึ้นอยู่ มีทั้งประเภทกล้วยไม้อากาศ และประเภทกล้วยไม้ดิน ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน

ในบรรดากล้วยไม้ไทยนี้ มีพันธุ์ที่หา ยากและได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระราชวงศ์ชั้นสูงของไทย ถึง 4 ชนิด คือ “คัทลียาสิริกิติ์” “รองเท้านารีสังวาลย์”(พระนามเดิมของสมเด็จย่า) “ฟาแลนนอปซิสพรินเซส จุฬาภรณ์” และ“สิรินธร” ซึ่งเป็น กล้วยไม้พันธุ์ใหม่กลีบดอกเล็ก ขนาดเพียง 2 ซม. พบที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และเป็นเพียงสกุลเดียวของโลกที่มีชื่อเป็นไทย

นอกจากนี้ กล้วยไม้ยังเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยด้วย โดยไทยครองอันดับส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยปี 2549 ส่งออกมูลค่า 2,600 ล้านบาท กล้วยไม้ที่ส่งออกทั้งหมดร้อยละ 95 เป็นสกุลหวาย สำหรับบุคคลสำคัญผู้บุกเบิก วงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”คือ ศ.ดร.ระพี สาคริก ผู้เป็นปูชนียบุคคลในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ไทย

และวันที่ 23-27 ม.ค. 51 นี้ จะมีการ ประชุมกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “กล้วยไม้ ผลงานชิ้นเยี่ยม ของธรรมชาติ”

ส่วนที่มาของดอกไม้ประจำวันครูมา จากคณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. 2539 มีมติกำหนดให้ “ดอกกล้วยไม้” เป็นดอกไม้ประจำวันครู โดยเห็นว่าดอกกล้วยไม้มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับงานจัดการศึกษาและสภาพชีวิตครู ซึ่งอยู่ทั่วแดนไทยที่ต้องอดทนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ

ม.ล.ปิ่น มาลากุล
ผู้เป็นปูชนียบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทย ซึ่งองค์การยูเนสโก ได้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานดีเด่นในฐานะนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ ของโลก ในปี 2546 ได้ประพันธ์โคลงบท “กล้วยไม้” ในฐานะครู เพื่อมอบให้แก่ครูทั่วประเทศ ดังนี้

กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวใดงามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดยเรณุกา)



















กำลังโหลดความคิดเห็น