xs
xsm
sm
md
lg

ไตรลักษณ์ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พหุลานุสาสนี
ว่าถึงไตรลักษณ์ที่แสดงแล้วในข้อที่ว่าด้วยธรรมฐิติ ธรรมนิยามนั้น ในบทที่สวดกันเวลาเช้า ที่เป็นสังเวควัตถุปริกิตนปาฐะ คือ ปาฐะที่กำหนดแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งความสังเวช ได้แสดงไว้ว่า พหุลานุสาสนี คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนอยู่เป็นอันมาก ทรงแสดงอยู่บ่อยๆนั้น ก็คือทรงสั่งสอนว่า

รูปอนิจจํ รูปไม่เที่ยง
เวทนาอนิจจาเวทนาไม่เที่ยง
สัญญาอนิจจาสัญญาไม่เที่ยง
สังขาราอนิจจาสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
วิญญาณํอนิจจํวิญญาณไม่เที่ยง
รูปํอนัตตารูปเป็นอนัตตา
เวทนาอนัตตาเวทนาเป็นอนัตตา
สัญญาอนัตตาสัญญาเป็นอนัตตา
สังขาราอนัตตาสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา
วิญญาณํอนัตตาวิญญาณเป็นอนัตตา
สพฺเพ สังขาราอนิจจาสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สพฺเพ ธมมาอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้

จึงมีสองลักษณะโดยที่ทรงสอนให้พิจารณาแยกอัตภาพอันนี้ออกไปเป็นขันธ์ห้า เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ และให้พิจารณาแต่ละประการว่าเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดั่งนี้ ฉะนั้นในบางที่บางแห่งก็มีแสดงไว้เป็น ทวิลักษณะหรือทไวลักษณ์ คือลักษณะสองดั่งนี้ ไม่เป็นไตรลักษณ์ ทั้งนี้มีอธิบายว่า เพราะว่าทุกขลักษณะประการที่สองนี้ย่อมรวมอยู่ในอนิจจะลักขณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง

อนิจจจลักขณะนั้นดังที่กล่าวแล้วว่า กำหนดได้ที่ความ เกิดความดับ สิ่งที่มีความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นได้ชื่อว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง และเพราะมีความเกิดความดับ ดั่งนี้จึงเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องถูกความเกิดความดับนั้นบีบคั้นให้แปรปรวนเปลี่ยน แปลงไปอยู่เสมอ ทุกขลักษณะจึงรวมอยู่ในอนิจจลักษณะแล้ว ฉะนั้น เมื่อแสดงโดยย่อจึงแสดงแต่ลักษณะสอง คืออนิจจะ และอนัตตา พหุลานุสาสนี คำสั่งสอนที่พระพุทธ-เจ้าทรงแสดงไว้เป็นอันมากให้เราทั้งหลายพึงพิจารณากันไว้เนืองๆว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่มีความเกิดดับเป็นธรรมดา เป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน เพราะป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้จึงเป็นอนัตตา ไม่ควรที่จะยึดถือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของเรา เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา

การหมั่นพิจารณาดั่งนี้จะทำให้ทุกขสัจจะ สภาพที่จริง คือทุกข์ปรากฏชัดขึ้นในนิเทศแห่งทุกขสัจจะโดยตรง พระพุทธเจ้าทรงแสดงชี้มาโดยลำดับให้พิจารณาว่า ชาติเป็น ทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ ความโศก ความรัญจวนใจ ระทมใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าประการ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณเป็นทุกข์ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นแสดงโดยสรุปเข้ามาแล้วก็ให้ยกเอาขันธ์ห้านี้แหละขึ้นมาพิจารณาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ เพราะว่าทุกข์ทั้งหมดนั้นก็ประมวลเข้าในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เอง ชาติ ชรา มรณะ ก็รูป เวทนา สัญญา สังขารนี้แหละ เกิด แก่ ตาย ความประจวบ ความพลัดพราก ความปรารถนาไม่ได้สมหวัง ก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้แหละที่ประจวบเข้ามา ที่พลัดพรากออกไป และที่ปรารถนาไม่ได้สมหวัง ทุกข์ทั้งปวงจึงรวมเข้ามาอยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ทั้งนั้น ซึ่งย่อเข้ามาแล้วรูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นนาม หรือว่ากายและใจอันนี้เอง ทุกข์ทั้งปวงก็รวมอยู่ที่นามรูปหรือว่ากายและใจอันนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ที่ไหน และที่เป็นทุกข์นั้น พิจารณาแยกออกไปโดยเป็นชาติ เป็นชรา เป็นมรณะ เป็นความโศก เป็นความระทมใจเป็นต้น เป็นความประจวบ เป็นความพลัดพราก เป็นความปรารถนาไม่สมหวังก็ได้ หรือพิจารณาสรุปเข้าเป็นไตรลักษณ์ คืออนิจจลักขณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักขณะ ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เองแสดงให้ปรากฏอยู่ว่าไม่เที่ยง เพราะต้องเกิดดับ ต้องเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตาเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ดั่งนี้ก็ได้ หรือพิจารณาย่อเข้ามาเป็นลักษณะสอง คืออนิจจลักษณะ เป็นอนัตตลักษณะ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นก็ได้

พิจารณาความเกิดความดับ
สรุปเข้ามาแล้วก็พิจารณาให้เห็นความเกิดดับ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดดับอยู่เสมอ เกิดดับอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เกิดดับอยู่ทุกขณะจิต แต่อาศัยที่ยังมีสันตติคือความสืบต่อ ยังมีความรวมกันอยู่เป็นก้อนเป็นแท่ง และยังมีความบรรเทาทุกข์ต่างๆ เช่นผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้ ความเกิดดับนั้นจึงยังติดต่อกันอยู่ คือเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ ถ้าหากว่าเมื่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ นี้ แตกสลาย ธาตุทั้ง ๔ ที่คุมเข้าเป็นกายแตกสลาย จิตที่อาศัยอยู่ในกายก็ต้องจุติ คือเคลื่อนออกไป อยู่ไม่ได้ กายนี้ก็กลายเป็นศพ ไม่มีวิญญาณ ต้องทอดทิ้งอยู่เหมือนอย่างท่อนฟืน ท่อนไม้ ไร้วิญญาณ ไร้ประโยชน์ ดั่งนี้ ความแตกสลายหรือความดับก็ปรากฏเต็มที่ คือความแตกสลายนั้นเอง และความแตกสลายดังกล่าวมานี้หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งความเกิดดับนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเกิดเป็นชาติขึ้นทีแรก และดับเมื่อมรณะมาถึงในที่สุดนั้นเท่านั้น แต่ความเกิดดับย่อมมีอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต ดังจะพึงเห็นได้ว่า คนเราต้องหายใจอยู่ ขาดไม่ได้ ถ้าหายใจไม่ออกเสียเพียงครู่เดียว ชีวิตก็ดับ อันแสดงว่าต้องการลมหายใจ ซึ่งลมหายใจก็ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่อย่างละเอียดเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายที่สึกหรอไป สิ้นไปเสื่อมไปดับไป ความสึกหรอไปสิ้นไปเสื่อมไปก็มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จึงต้องหายใจเข้าไปทดแทนอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นอันว่าต้องเกิดกันอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกให้ทันกับความดับ

ทางนามธรรมเองก็มีความเกิดดับอยู่ทุกขณะจิตที่แล่นไปกับอารมณ์ คือเรื่องที่เข้ามาทางทวารทั้งหกนั้นๆเกิดดับอยู่ทุกขณะจิตเหมือนกัน พิจารณาให้เห็นความเกิดความดับปรากฏขึ้นชัดดั่งนี้ สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งหมดก็รวมตัวขึ้นมาให้เห็นปรากฏชัดขึ้น ดังที่ท่านแสดงว่า “ธรรมจักษุได้บังเกิดขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา คือเห็นความเกิดความดับคู่กันไป” และยิ่งพิจารณาจะเห็นความดับนั้นชัดขึ้นมาอยู่เหนือความเกิด เห็นทุกอย่างดับหมด ดั่งนี้ เป็นอันว่า สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นปรากฏแก่ผู้พิจารณายิ่งขึ้นไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85 ธ.ค. 50 โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น