เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า ‘บัว’ เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งได้แบ่งบุคคลออกเป็น 4 จำพวก เปรียบกับบัว 4 เหล่า คือ 1.อุคฆฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในฉับพลัน เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที 2.วิปจิตัญญูพวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับ การอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม ก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานในวันถัดไป 3.เนยยะ พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรในการเรียนรู้อย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งสามารถรับรู้และเข้าใจได้ในวันข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเบ่งบานใน วันหนึ่ง 4. ปทปรมะ พวกที่ด้อยสติปัญญา และเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่เข้าใจความหมายหรือ รู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธา ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม มีแต่จะตกเป็น อาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่พ้นน้ำได้
แต่สำหรับบัวที่นำมาให้ชมกันนี้ เกิดบนบก มิได้เกิดในน้ำ และด้วยที่มีรูปลักษณ์เหมือนบัวที่เกิดในน้ำ จึงเรียกกันว่า “บัวสวรรค์” (คนละพันธุ์กับดอกกระเจียว ซึ่งเรียกว่าบัวสวรรค์เหมือนกัน)
บัวสวรรค์พันธุ์นี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gustavia gracillima Miers อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae มีถิ่นกำเนิดในตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก และโคลัมเบีย เป็นไม้พุ่มยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงราว 2-5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบหอก ขอบใบหยักออกเรียงสลับ ดอกเป็นดอกเดี่ยว สีชมพู คล้ายดอกบัวหลวงแต่ใหญ่กว่า กลีบดอกค่อนข้างหนา ซ้อนกัน เมื่อบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 5-7 ซม. ภายในมีเกสรสีเหลืองและชมพูจำนวนมากงองุ้มเข้าหากัน ดอกมักออกรวมกันตามซอกใบที่ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆในตอนกลางวัน ออกดอกตลอดปี และจะออกมากในช่วงฤดูฝน แต่จะบานและร่วง ภายใน 1-2 วัน เมื่อดอกโรยจะเห็นผลซึ่งมีลักษณะคล้ายฝักบัว มีเมล็ดอยู่ภายใน
การขยายพันธุ์ทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำ บัวสวรรค์เป็นไม้ที่ดูแลง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม จึงนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85 ธ.ค. 50 โดยเรณุกา)