xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ สวดมนต์ สมาธิ วิปัสสนา รักษาโรคได้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์อีกคนหนึ่งที่นำวิชาเจริญสติไปใช้ได้ผลคือ น.พ. อี เลียตเดทเชอร์ นายแพทย์ผู้นี้พบว่า การให้ผู้ป่วยเจริญสติในอิริยาบถต่างๆในชีวิตประจำวัน จะช่วยป้องกันโรคทั้งประเภทเรื้อรังและเฉียบพลัน ช่วยรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้ และส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Elliot Dacher, Intentional Healing, 1996) นายแพทย์อีกท่านหนึ่งคือ นายแพทย์คาแบด ชิน เจ ได้ศึกษาคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามแนวแพทย์แผนปัจุบัน อาการปวดในผู้ป่วยเหล่านี้มีปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณใบหน้า เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและปวดท้อง โดยให้ฝึกการเจริญสติ 10 สัปดาห์ พบว่า 50-60 % ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงและมีความทุกข์ เนื่องจากการปวดลดลงด้วย ในขณะเดียวกันใช้ยาแก้ปวดลดลง (Kobat-Zinn J, et al, The Clinical Use of Mindfulness Meditation for the Self-regulations of Chronic Pain, J Behav, Med, 1985)

น.พ. เคนเน็ต เอส แคฟเพ็น ศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจำนวน 77 ราย โดยให้ผู้ป่วยเจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า 50% มีอาการดีขึ้นปานกลาง และดีขึ้นมาก (Kenneth H. Kaplan, et al., The Impact of a Meditation-Base Stress Reduction Program on Fibromyalgia General Hospital Psychiatry,1993) นายแพทย์ชุแนล ชาพปิโร และคณะพบว่า การให้นักศึกษาแพทย์เจริญสติสามารถลดความเครียดและความ ซึมเศร้าลงได้ และในขณะเดียวกันทำให้นักศึกษามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นด้วย (Shunal Shapiro, et al., Effects of Mindfulness-Based Stress Reduction on Medical and Pre-Medical, Students J. of Beha, 1998)

ซี.เอ็น. อเล็กซานเดอร์และคณะ ได้ศึกษาผู้ป่วยสูง อายุ 73 ราย อายุเฉลี่ย 80 ปี โดยให้กลุ่มหนึ่งฝึกสมาธิ กลุ่มที่สองฝึกการเจริญสติ กลุ่มที่สามไม่ให้ทำอะไร พบว่ากลุ่มที่ฝึกสมาธิและที่ฝึกการเจริญสติจะมีความสดชื่นร่าเริง สุขภาพจิตและร่างกายแข็งแรงดี มีความผ่อน คลาย ความดันโลหิตดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก และเมื่อติดตามไป 3 ปี พบว่า กลุ่มที่ฝึกสมาธิมีชีวิตอยู่ 100 % กลุ่มที่ฝึกการเจริญสติมีชีวิตอยู่ 87.5 % ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ฝึกอะไรเลยนั้นมีชีวิตอยู่ 64 % (C.N. Alexander, et al., Transcendental Meditation, Mindfulness,and Longevity : An Experimental Study with Elderly, J of Personality and Social Psyclology, 1989)

การปฏิบัติธรรมและการรักษาโรค
เราอาจสรุปได้ว่า งานวิจัยในเรื่องการสวดมนต์ การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน มีอยู่จำนวนมากเพียงพอ ที่แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติธรรมด้วยการสวดมนต์ การแผ่เมตตาและการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน สามารถรักษาโรคได้หลายโรค เพราะจิตใจและร่างกาย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ บทสวดมนต์ต่างๆ ที่หลวงพ่อแนะนำ เช่น สวดอิติปิโส เท่าอายุ หรือสวดคาถาพาหุงฯ มหาการุณิโกฯ ล้วนเป็นประโยชน์แก่สุขภาพทั้งนั้น ทำให้จิตใจแจ่ม ใสและมีพลัง ส่วนการแผ่เมตตา หรือเมตตาภาวนานั้น สามารถช่วยให้เกิดการผ่อนคลายได้มาก เพราะการแผ่ เมตตาเป็นการสร้างอารมณ์อ่อนโยนตรงข้ามกับโทสะหรือความโกรธ ถ้าทำบ่อยๆ จะทำให้ใจเย็นจิตเป็นสมาธิได้ง่ายและมีพลัง การแผ่เมตตาที่เกิดจากสมาธิมีพลังมากจนไม่น่าเชื่อ เช่น กระแสเมตตาของพระพุทธเจ้าที่สามารถหยุดช้างนาฬาคีรีที่ดุร้ายได้ทันที

ส่วนการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน มีคุณค่าต่อสุขภาพมากเช่นกัน ที่สำคัญคือทำให้หายเครียดได้ ความเครียดมีผลเสียต่อร่างกายมากทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อม และโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนั้น การที่หลวงพ่อสอนเราให้ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งและให้นึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ไม่ให้หลงงมงายในไสยศาสตร์นั้นก็เป็นวิธีสำคัญอีกวิธีหนึ่งในการบำบัดโรค เป็นการใช้จินตนาการ รักษาโรค แพทย์สมัยใหม่จำนวนมากเริ่มนำวิธีนี้มาใช้ในการบำบัดโรคให้ผู้ป่วย งานวิจัยทางการแพทย์พบว่า การฝึกคิดจินตนาการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย การใช้ออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่างๆ การไหลเวียนโลหิต ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาของม่านตา การหลั่งน้ำลาย การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือด คลื่นสมองและสารเคมี และฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย (Jordan C.S. devinyton K.T., Psychological Correlates of Eidetic Imagery and Induced Antiety Journal of Mental Ima- gery, 1579)

ดังนั้น แพทย์จึงนำวิธีการสร้างภาพในจิตมาใช้ในการบำบัดโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบ โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนำมาใช้ช่วยให้ภูมิคุ้มกัน ของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ดมยาสลบ ทำฟัน ลดความเจ็บปวด และฟื้นตัวเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังใช้สำหรับสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ความภาคภูมิใจในตัวเองให้เกิดขึ้นและแก้พฤติกรรมไม่ดีต่างๆ เช่น การกินยา สูบบุหรี่ และใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ

ในพุทธศาสนาการใช้ความคิดจินตนาการมีแทรกอยู่ในวิธีปฏิบัติธรรมที่ช่วยให้จิตเป็นสมาธิ เช่นสอนว่า ในขณะที่กำลังสวดมนต์หรือฟังธรรม เราควรสร้าง จินตนาการว่าเรากำลังอยู่ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเสียงที่เราได้ยินได้ฟังนั้นเป็นเสียงของพระพุทธเจ้า พระธรรมที่ฟังอยู่ก็เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้ากำลังสอนเราโดยตรง แล้วคิดต่อไปว่าธรรมที่สอนเรานั้นไม่เกินวิสัยสำหรับเรา ถ้าเกินวิสัยแล้วพระพุทธเจ้าจะไม่สอน เรา การมีจินตภาพเช่นนี้ทำให้จิตใจชื่นบานที่เรียกว่าธรรมปีติเกิดขึ้นในใจ

เราจึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้ความนึกคิดจินตนาการ ที่แพทย์สมัยใหม่แนะนำก็คือการมีอนุสติ 10 ประการนั่นเอง คือ พุทธานุสติ (การระลึกถึงบุญคุณของพระพุทธเจ้า) ธัมมานุสติ (การระลึกถึงคุณของพระธรรม) สังฆานุสติ (การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์) จาคานุสติ(การระลึกถึงการบริจาคของตนที่ได้ทำไปแล้ว) เทวตานุสติ (การระลึกถึงธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา) มรณานุสติ (การระลึกถึงความตาย) กายคตาสติ (การระลึกถึงร่างกายให้เห็นว่าเป็นของไม่งาม) อานาปานสติ (การกำหนดลมหายใจเข้าออก) และอุปสมานุสติ (การระลึกถึงพระนิพพานอันเป็นที่สงบระงับแห่งทุกข์ทั้งปวง) การมีอนุสติทั้ง 10 ประการนี้ หรือแม้แต่มีแค่อนุสติ 3 อย่าง คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ สามารถ ทำให้จิตใจผ่อนคลายเป็นสมาธิในระดับต่างๆ ได้เช่น เดียวกับการเพ่งกสิณ

เนรูห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย สมัยที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ๆ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง ในระหว่างที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย ได้ถูกอังกฤษ จับขังในคุก ในขณะที่จิตใจหดหู่ เครียดและหม่นหมอง นั้น ได้มองเห็นพระพุทธรูปองค์เล็กที่ติดตัวอยู่ ทำให้รู้สึกแจ่มใสและหายทุกข์ เพราะพระพุทธรูปเตือนให้ระลึกนึกถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อศัตรูทั้งหลาย เช่นที่กล่าวไว้ในบทสวดพาหุงมหากา ทำให้จิตใจแช่มชื่น และมีพลังที่จะต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศชาติต่อไป

จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลวงพ่อได้เมตตาสั่งสอนนั้น เป็นประโยชน์แก่สุขภาพ มากมาย ทำให้มีสุขภาพดี มีภูมิต้านทานโรคสูง และช่วย ให้หายจากโรคเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้มีจิตใจดีงาม มีความเห็นแก่ตัว ความโลภ โกรธ หลง และความยึดถือ มั่นน้อยลง เกิดปัญญามองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็น จริง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ด้วยจิตสงบ ด้วยเหตุนี้ โปรแกรมสุขภาพของแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก จึง มีเรื่องการสวดมนต์ การแผ่เมตตา และการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนากรรมฐานอยู่ด้วย

การกล่าวว่า การสวดมนต์ การแผ่เมตตา และการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน สามารถรักษาโรคได้นั้นมิได้หมาย ความว่าโรคทุกโรครักษาได้ด้วยวิธีดังกล่าว หรือผู้ปฏิบัติจะไม่ต้องเจ็บป่วยเลย ความเจ็บป่วยเป็นลักษณะหนึ่งของชีวิตในสังสารวัฏที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักปฏิบัติเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาแพทย์ โรคบางโรคต้องรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดจึงจะหายขาดได้ สมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ให้ผลดีในการรักษาโรคเรื้อรัง(เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบ หืด) และโรคทางกายที่มีพื้นฐานมาจากสภาพจิตใจ แต่มีโรคจิตบางประเภทที่สมาธิวิปัสสนากรรมฐานรักษาไม่ได้ เช่น โรคหลงผิด โรคประสาทหลอนและโรคพหุบุคลิกที่มีบุคลิกลักษณะหลายอย่างในคนคนเดียวกัน(จำลอง ดิษยวณิช, ความเครียด ความวิตกกังวล และสุขภาพ, 2545)

สำหรับโรคเครียดนั้น ถ้าหากเป็นมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ สมาธิวิปัสสนากรรมฐานก็รักษาไม่ได้เช่นกัน หลวงพ่อได้เตือนเสมอว่า ผู้ที่มีความเครียดมาก ไม่ควร ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากรรมฐานเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ แต่ควรไปผ่อนคลายด้วยวิธีการต่างๆ ก่อน เช่น การหายใจเข้ายาวและลึกแบบ ธรรมชาติ การออกกำลังกายหรือใช้ยาในกรณีที่มีความ จำเป็น เมื่อจิตใจผ่อนคลายจนถึงระดับที่ควบคุมตัวเอง ได้แล้ว จึงควรปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ในงานวิจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ความเครียดที่พูดถึง หมายถึง ความเครียดธรรมดา ที่ไม่รุนแรงมากจนพูดไม่รู้เรื่อง

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้ประโยชน์แก่ตัวเรา ทั้งทางศาสนาและในด้านสุขภาพ ประโยชน์ประการหลัง เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายและใช้เวลาไม่นานมาก แต่ประโยชน์ทางศาสนาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากกว่า เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของคนแต่ ละคนเอง คือเปลี่ยนจากจิตใจที่เป็นปุถุชนหนาทึบด้วย กิเลสตัณหามาเป็นจิตใจที่สงบและใสสว่างด้วยแสงของ ปัญญา หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าเป็นจิตของอารยบุคคลระดับต่างๆ คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือการบรรลุพระนิพพาน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทาง การพัฒนาจิตใจให้เป็นจิตใจของอารยบุคคลดังกล่าวหรือปฏิบัติเพื่อสุขภาพ เราต้องรู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจึงจะได้ผล เราต้องอาศัยครูอาจารย์หรือ ผู้รู้ช่วยแนะนำและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติแต่ละขั้นตอน จึงจะก้าวหน้าไปได้ ครูอาจารย์เป็น กัลยาณมิตรที่ผู้ปฏิบัติจะขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางศาสนาหรือเพื่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ จึงนับได้ว่า พระอาจารย์สอนกรรมฐานทั้งหลาย เช่น พระธรรมสิงหบุราจารย์ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี และพระ ธรรมวิสุทธิกวี วัดโสมนัสวิหาร มีบุญคุณใหญ่หลวง แก่เรา เป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริงแก่ทุกคน นอกจากจะช่วยเหลือเรื่องการสอนให้เราเข้าใจธรรมและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว พระอาจารย์เหล่านี้ยังช่วยเหลือให้กำลังใจ พลังจิตแบ่งปันบุญกุศลที่มีอยู่ให้เราด้วย

เมื่อสมาธิวิปัสสนากรรมฐานเป็นประโยชน์เช่นนี้ เราจึงควรสนใจและปฏิบัติอย่างจริงจัง การปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็นพุทธจิตอาจเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเรา แต่การปฏิบัติเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าและเห็น ผลได้ไม่นาน และในขณะเดียวกันเป็นบันไดไปสู่เป้าหมายทางศาสนาด้วย การมีสุขภาพไม่ดี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติทางศาสนาที่เห็นได้ง่ายคือ ทำให้เราเสียเวลาและเงินทองในการรักษาตัว ไม่สามารถปฏิบัติธรรม หรือทำบุญสร้างกุศลให้แก่ตัวเองได้เต็มที่ การมีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางใจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตศาสนาได้ง่ายขึ้น สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองด้วยการกระทำของตนเอง เราต้องไม่ลืมคำกล่าวของพระพุทธองค์ที่ว่า “อโรคยปรมา ลาภา” (ความไม่มีโรคเป็น ลาภอันประเสริฐ) สุขภาพดีเป็นสิ่งดีที่สุดของชีวิต เราจะมีสุขภาพดีได้ ก็ต้องมีความอุตสาหะต้องใช้ความพากเพียรพยายามสม่ำเสมอ ทำให้ตัวเองมีสุขภาพดีและรักษาสุขภาพดีให้อยู่กับเราจนตลอดอายุขัย

เราโชคดีมากที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพราะศาสนาพุทธมีทั้งคำสอนและวิธีปฏิบัติที่จะทำให้เรามีสุขภาพดี และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ศาสนาพุทธเป็นเสมือนเพชรเม็ดงามที่ติดตัวเราอยู่ เราไม่ต้องไปแสวงหาเพชรที่ไหนอีกแล้ว สิ่งที่ควรทำเวลานี้คือใช้เพชรเม็ดนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ก่อนที่จะสายเกินไป

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85 ธ.ค. 50 โดยดร.พินิจ รัตนกุล ผอ. วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล)
กำลังโหลดความคิดเห็น